การเก็บข้อมูลความเสียหายทางการเกษตรและมุมมองในการจัดตั้งกองทุน บ้านดอนไชย

การเก็บข้อมูลความเสียหายทางการเกษตรและมุมมองในการจัดตั้งกองทุน ภายใต้โครงการ “เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติโดยชุมชน”  บ้านดอนไชย หมู่7 ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน  ระหว่างวันที่ 25 – 27 กุมภาพันธ์ 2562 

ได้เข้าพื้นที่บ้านดอนไชย ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา เพื่อทำการเก็บข้อมูลความเสียหายทางการเกษตรและมุมมองในการจัดตั้งกองทุนเพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติโดยชุมชนในเบื้องต้น

การสัมภาษณ์กลุ่มเกษตรกรของบ้านดอนไชยที่พื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยจำนวน 50 คน ในการทำงานสามารถทำการสัมภาษณ์ได้จำนวน 25 คน  มีประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้ 

  1. ตารางแสดงพื้นที่การเกษตร ต้นทุนการผลิต และมูลค่าความเสียหาย

การทำการเกษตรของชาวบ้านดอนไชยนั้น ในพื้นที่หนึ่งแปลงชาวบ้านใช้เพาะปลูกพืชหลายชนิดตลอดฤดูกาล ได้แก่

พืชกลุ่มที่ 1 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ , ข้าวนาปี จะอยู่ในระยะปลูกและเก็บผลผลิตได้ในช่วงฤดูฝนจนถึงช่วงเกิดน้ำท่วมซึ่งโดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม

พืชกลุ่มที่ 2 ปลูกในช่วงฤดูแล้ง ได้แก่ ยาสูบ , ถั่วลิสง , ข้าวนาปรัง  ช่วงเดือนพฤศจิกายน – มีนาคม

พืชกลุ่มที่ 3 เป็นพืชที่ปลูกตลอดฤดูกาล ได้แก่ ผักสวนครัว และไม้ยืนต้น คือ ต้นสักและลำไย ซึ่งลำไยจะมีผลผลิตช่วงน้ำท่วมเช่นเดียวกันกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ถึงแม้ภัยพิบัติด้านอุทกภัยจะมีผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านเพียงช่วงเวลาหนึ่งของการเพาะปลูก แต่ผลกระทบนี้ทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหายทั้งหมดของพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านสูญเสียรายได้ในช่วงเวลานั้น ๆ แทนที่จะกลายเป็นรายได้หมุนเวียนของเกษตรกรระดับครัวเรือน          

 ลำดับที่ รายชื่อเกษตรกร พื้นที่เสียหาย(ไร่) ชนิดพืชช่วงประสบอุทกภัย(พ.ค .- ส.ค.) มูลค่าความเสียหาย (ราคาขาย)
1นายศรีวัย  การินทร์1.2ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์4,800
2นายเอง  ยอดรัก8ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์25,600
3นายวล  หนักแก้ว11ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์35,200
4นายยง  สิทธิวัง4ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์12,800
5นายยับ  เมืองพรม7ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์22,400
6นางบุญปลูก  จันทรี6.3ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์21,600
7นางกียารัตน์  ยานะฝั้น3ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์9,650
8นายบุญเรือน  เที่ยงน้อย3.1นาปี(กิน)42,900
9นายศรีวัย อินวาทย์5ลำไย40,000
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์(ปลูกแซมกับลำไย)12,800
10นางวัชราภรณ์  ฮำอ้ายอาจ0.2ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่วนตัว (วัว)1,480
11นางจันดี  พัดแก้ว5.2ลำไย44,000
12นายคนอง คะมานาม5ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์16,000
13นางพับพึง4ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์12,800
14นายจรัส  อุปนันท์5ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์16,000
15นายวิชิต เที่ยงน้อย6ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์19,200
16นางรัดดา จันฟอง6ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์19,200
17นางจงรักษ์ ปริกเพชร5ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์16,000
18นายสนิท ยอดรัก3ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 9,600
19นายประภาส การินทร์4.1ลำไย34,000
20นายจำเนียร1.2ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์3,840
ลำไย12,000
21นายสงบ นนท์ลุ่น6ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์19,200
22นายชุมพล พิเคราะห์3ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์9,600
23นายวัด (ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน)11ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์35,200
24นายชื่น สอนศิริ1ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์3,200
25นายประเสริฐ กันคำ12ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์38,400
รวม 126.1 535,990

หมายเหตุ มูลค่าความเสียหาย 

1) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลิตได้ 500 กิโลกรัม/ไร่ (โดยประมาณ)  ราคา 6.4 บาท/กิโลกรัม

2) ลำไย ผลิตได้ 1,000 กิโลกรัม/ไร่ (โดยประมาณ)  ราคา 8 บาท/กิโลกรัม

3) ข้าวนาปี ผลิตได้ 40 กระสอบปุ๋ย/ไร่ (โดยประมาณ) 30 กิโลกรัม/กระสอบ  ราคา 11 บาท/กิโลกรัม

4) ข้าวโพดปลูกสำหรับเลี้ยงวัว (ส่วนตัว) ยังไม่ทราบหน่วยวัดมูลค่า และยังไม่คำนวณรวมกับมูลค่าของพืชอื่น

จากการสัมภาษณ์ข้อมูลเบื้องต้นด้านต้นทุนการผลิตทางการเกษตรและความเสียหาย พบว่า ผลผลิตทางการเกษตรที่เสียหายในช่วงเกิดอุทกภัยมากที่สุด คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยมีมูลค่าความเสียหายเฉลี่ย  3,200 บาท/ไร่

ซึ่งอยู่ในช่วงฝักอ่อนยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้  อีกทั้งพื้นที่เพาะปลูกเป็นพื้นที่ต่ำติดแม่น้ำน่าน และน้ำที่หลากและท่วมสูง เมื่อน้ำลดจึงทำให้ข้าวโพดเน่าตาย  รองลงมาคือ ลำไยเกิดความเสียหายของผลลำไย โดยมีมูลค่าความเสียหายเฉลี่ย 8,000 บาท/ไร่  แม้ต้นลำไยจะทนต่อน้ำหากแต่หลังน้ำลดก็ไม่ใช่ฤดูกาลออกผลของลำไยแล้ว เกษตรกรจะต้องรอเก็บผลผลิตในฤดูกาลถัดไป

และข้าวนาปีชาวบ้านดอนไชยมักปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน  ได้รับความเสียหายเช่นเดียวกับพืชอื่น ๆ ถ้าหากต้องซื้อข้าวบริโภคจะมีมูลค่าความเสียหายเฉลี่ย 13,200 บาท/ไร่  ซึ่งมีผลกระทบต่อวิถีชีวิต จะต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเพิ่มขึ้น ตลอดจนกระทบต่อทุนหมุนเวียนในการเพาะปลูกฤดูกาลถัดไป 

  • แหล่งทุนของเกษตรกรบ้านดอนไชย

ต้นทุน ถือเป็นสิ่งสำคัญในการทำการเกษตรทุกระดับ สำหรับเกษตรกรบ้านดอนไชยก็มีแหล่งทุนเพื่อใช้ในการหมุนเวียนในระบบการเกษตร แหล่งทุนที่สำคัญ ได้แก่ 1) เงินออมส่วนตัว 2) กองทุนเงินล้าน  3)กองทุนสัจจะ 4)สินเชื่อกู้ยืมเพื่อการเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตร (ธกส.)  5)การกู้ยืมภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.)

จากการสัมภาษณ์ พบว่า โดยส่วนใหญ่มีการพึ่งพาจากกองทุนโครงการต่าง ๆ และเงินออมส่วนตัวควบคู่กัน และใช้ทุนจากเงินออมส่วนตัวเพียงอย่างเดียวเป็นส่วนน้อย

  • อาชีพเสริม

นอกจากการทำการเกษตรแล้วชาวบ้านดอนไชยมีการทำอาชีพเสริมอื่น ๆ เช่น 1) รับจ้างทั่วไป 2) ทอผ้า 3) ธุรกิจส่วนตัว  4) เลี้ยงวัว 5) ช่างไม้รับเหมา  เป็นต้น 

  • การปรับตัวและฟื้นฟูด้านการการเกษตร

โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านยังไม่มีการปรับตัวต่อการทำเกษตรกรรมในช่วงเกิดอุทกภัยมากนัก เพราะเห็นว่าเป็นช่วงฤดูกาลที่เหมาะแก่การเพาะปลูกและเป็นสิ่งที่คนรุ่นเก่าเคยทำ จะมีบางรายที่เคยปรับเปลี่ยนทดลองปลูกพริกและฝักทองของโครงการเจียไต๋ ซึ่งเป็นระบบเกษตรพันธะ

แต่ก็ต้องล้มเลิกเพราะการใช้ยาฆ่าแมลงและรายได้ไม่ต่างจากพืชเดิมที่เคยปลูก ส่วนด้านการปรับตัวของการเกษตรที่เกี่ยวโยงกับอุทกภัย เช่น กรณีพายเรือไปเก็บลำไยในช่วงน้ำหลาก  หรือ การเพาะต้นกล้าในถุงและใช้ถังผูกติดกับแคร่ให้ลอยน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมขนย้ายต้นกล้าป้องกันความเสียหาย เป็นต้น เหล่านี้เป็นสิ่งที่ชาวบ้านปฏิบัติและคุ้นเคยจนเกิดความเชี่ยวชาญ

ด้านการฟื้นฟูทางการเกษตร จากการบอกเล่าของชาวบ้าน พบว่า การฟื้นฟูพืชที่เสียหายช่วงเกิดอุทกภัยทำได้ยาก ยกตัวอย่าง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อน้ำลดปริมาณลงข้าวโพดจะเกิดการเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็น อีกทั้งพื้นที่เป็นดินโคลน ชาวบ้านดอนไชยใช้วิธีการจัดการคือการไถกลบเพื่อรอปลูกพืชฤดูกาลถัดไป  

  • การสนับสนุนของหน่วยงานอื่น ๆ

นอกเหนือจากการแจกถุงยังชีพแล้วหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐได้มีการสนับสนุนหรือชดเชยเยียวยาค่าความเสียหายให้เกษตรกรที่ผลผลิตเสียหายจากอุทกภัย  นอกจากนี้ ทางเกษตรอำเภอได้มีการสนับสนุน

ต้นกล้าเพื่อเป็นต้นทุนในการเพาะปลูก  โดยระยะเวลาการจัดสรรค่าชดเชยและต้นกล้าจะขึ้นกับระเบียบของรัฐ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ชาวบ้านต้องการปลูกพืช หรือการปรับปรุงดูแลพื้นที่สาธารณะในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 

  • มุมมองที่มีต่อการจัดตั้งกองทุนเพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติโดยชุมชนบ้านดอนไชย

จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านในเรื่องกองทุนฟื้นฟูในการช่วยเหลือหลังน้ำท่วม ชาวบ้านส่วนที่

“เห็นด้วย”ในการจัดตั้งกองทุน สามารถสรุปได้ดังนี้

  • เป็นแหล่งทุนกู้ยืมอีกแหล่งหนึ่งที่เกิดขึ้นภายในชุมชน รู้สึกมีความยืดหยุ่นกว่าระบบกู้ของโครงการที่เคยกู้ในหมู่บ้านเป็นเงินหมุนเวียนให้กับเกษตรกรและคนในชุมชนได้  โดยเฉพาะเกษตรกรที่ประสบภาวะขาดแคลนมาก
    • ช่วยหนุนเสริมการชดเชยของรัฐที่ต้องจัดสรรให้หลายพื้นที่ และเกิดข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาสามารถที่จะช่วยเกษตรกรในการให้ยืมเงินซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ต่างๆ ในระหว่างที่รอเงินจากภาครัฐ
    • ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลและคิดแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยร่วมกัน เช่น 1.เงินในกองทุนนั้นสามารถที่จะนำไปช่วยกับผู้พิการ ติดเตียงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ (เป็นการช่วยในการซื้อสิ่งของลงไปเยี่ยมในตอนน้ำท่วม/หลังน้ำท่วม)  2.การฟื้นฟูที่สาธารณะในหมู่บ้าน (เดิมทางหมู่บ้านจะมีการขอความช่วยเหลือในเรื่องรถกับทางเทศบาลจะทางหมู่บ้านจะต้องมีการออกค่าน้ำมันรถร่วมกัน)เป็นต้น และสามารถเป็นทุนฉุกเฉินให้สมาชิกในชุมชนให้สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ เช่น บ้านพัง หรือขาดแคลนช่วงเกิดภัยพิบัติ 
    • ตนเองสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนกองทุนให้หมุนเวียนไปได้ กล่าวคือ การสมทบทุนหลังคาเรือนละ 100 บาท สามารถช่วยรักษาระบบของกองทุนเพื่อที่กองทุนจะได้นำไปช่วยผู้อื่นต่อไปซึ่งเงินจำนวนนี้เหมาะสม ไม่มากและไม่น้อยเกินไป
    • ยังไม่ทราบว่าเกี่ยวกับการช่วยแก้ปัญหาอุทกภัย แต่สนใจเรื่องกองทุนที่ให้กู้ยืมได้ทั้งเมื่อยามประสบภัยพิบัติและทุนด้านการเกษตร ถ้าหากเกิดขึ้นจริง 
    • สนใจ และรอฟังการประชาคมเรื่องระเบียบของการจัดตั้งกองทุน โดยปัจจุบันยังไม่มีระเบียบออกมา
    • ขึ้นอยู่กับคนในชุมชน ถ้าส่วนใหญ่เห็นสมควรก็พร้อมที่จะเข้าร่วมและปฏิบัติตาม

ในส่วนที่“ไม่เห็นด้วย”เพราะว่าในหมู่บ้านเองนั้นก็มีเงินกองทุนต่างๆ อยู่แล้วที่ชาวบ้านสามารถที่จะกู้ยืมมาทำการเกษตรได้ เช่น กองทุนเงินล้าน , กองทุนสัจจะ,โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.)  ซึ่งเงินเหล่านี้มีดอกเบี้ยที่ไม่แพงมากนัก (ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วย คือ ไม่เข้าร่วมการประชุม และไม่ทราบว่าจะมีกองทุนนี้เกิดขึ้น)

รูปที่ 1 ผังแสดงพื้นที่การเกษตรเบื้องต้นของบ้านดอนไชย หมู่ 7

ลิงก์แสดงแผนผังในโปรแกรม google my maps

https://drive.google.com/open?id=1-qhJTPd1NnORN6CDUVLdC_beyL2MQCFv&usp=sharing

แนวทางการสัมภาษณ์ ข้อมูลความเสียหายทางการเกษตรและมุมมองในการจัดตั้งกองทุน ภายใต้โครงการ
 
เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติโดยชุมชน”  บ้านดอนไชย

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………

  1. จำนวนไร่  มีพื้นที่การเกษตรในเขตพื้นที่บ้านดอนไชย หมู่7 ทั้งหมดกี่ไร่
  2. ประเภท / ชนิด พืช และช่วงเวลาที่ปลูก
  3. ต้นทุนการผลิตและมูลค่าความเสียหาย
  4. แหล่งทุนที่มีอยู่
  5. อาชีพอื่น ๆ 
  6. การปรับตัว
  7. การฟื้นฟู
  8. การสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ 
  9. มุมมองที่มีต่อการจัดตั้งกองทุนเพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติโดยชุมชน  มีความคิดเห็นอย่างไร ?

กลุ่มเป้าหมายในการเก็บข้อมูล 

ชาวบ้านที่ทำการเกษตรภายในเขตพื้นที่บ้านดอนไชย หมู่ 7 โดยมีเป้าที่ตั้งไว้ จำนวน 50 คน ในการทำงานสามารถทำการสัมภาษณ์ได้จำนวน 25 คน