[ข้อมูลพื้นที่ประสบอุทกภัย] บ้านพ่อ หมู่ที่ 3 ต.แสนทอง อ.ท่าวังผา จ.น่าน

1. บริบทชุมชน

บ้านพ่อ หมู่ที่ 3 ตำบลแสนทอง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน มีลักษณะทางภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม มีลำน้ำริมไหลผ่าน

เมื่อถึงฤดูน้ำหลากพื้นที่ใกล้ริมน้ำจึงเป็นพื้นที่รองรับน้ำมีแหล่งทรัพยากรน้ำสำคัญ คือ ลำน้ำริม  ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก พืชที่นิยม เช่น ยาสูบ ข้าวโพด นาข้าว เป็นต้น มีพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมด 1,763 ไร่ ผู้คนในชุมชนนับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลัก มีประเพณีประจำท้องถิ่นคือประเพณีแข่งเรือยาวประจำปี 

2. อาณาเขต

ทิศเหนือ            ติดต่อกับ  บ้านนาหนุน1 ตำบลแสนทอง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน

ทิศใต้                ติดต่อกับ  บ้านนาทราย ตำบลแสนทอง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน 

ทิศตะวันออก      ติดต่อกับ  บ้านนาทราย ตำบลแสนทอง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน 

ทิศตะวันตก        ติดต่อกับ  บ้านฮวก ตำบลแสนทอง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน

3. จำนวนประชากรและครัวเรือน

จำนวนครัวเรือน 127 หลังคาเรือน  จำนวนประชากร 363 คน

4.สถานที่สำคัญ

1) วัดปิตุราษฎร์

2) ป่าสุสาน

3) ถนนชนบท เส้นทาง บ้านพ่อ-นาทราย

5.ผังวาดชุมชนแสดงพื้นที่น้ำท่วม/ดินโคลนถล่ม

6.เส้นทางน้ำ

เส้นทางการไหลของน้ำริมในหมู่บ้านพ่อมาจากบ้านน้ำไคร้และบ้านฮวกที่อยู่ทางเหนือ และไหลลงไปทางบ้านนาทรายเพื่อลงสู่ลำน้ำน่าน 

7.พื้นที่เสี่ยง

สาเหตุสำคัญของการเกิดอุทกภัยของบ้านพ่อเกิดจากตลิ่งเรียบริมฝั่งน้ำริมต่ำ ตั้งแต่ช่วงสะพานไปจนถึงเขตชุมชน เมื่อถึงฤดูฝนปริมาณน้ำฝนและน้ำท่าของน้ำริมมีปริมาณมาก อีกทั้งลักษณะการไหลของน้ำที่หลาก ไหลเร็วและแรง ทำให้ตลิ่งริมฝั่งน้ำริมเกิดทรุดเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยของชุมชน

8.ผลกระทบ

เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน น้ำท่วมพื้นที่การเกษตรบริเวณริมฝั่งน้ำริมเนื่องจากเป็นพื้นที่ต่ำเรียบตลิ่ง นาข้าวเสียหายจำนวน 214 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 1,763 ไร่ ระดับการท่วม 1.20 เมตร ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง อีกทั้งต้นข้าวยังอ่อนและมีดินโคลนที่ไหลมาตามน้ำทับถม ส่งผลให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 50% ของผลผลิตทั้งหมด นอกจากนี้ยังเกิดผลกระทบในพื้นที่อยู่อาศัยจำนวน 80 หลัง ระดับการท่วม 50 เซนติเมตร ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงการไหลหลากของน้ำทำให้ดินโคลนเข้าพื้นที่อาศัย ชาวบ้านต้องรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการทำความสะอาด 

9.การจัดการภัย  

ก่อนเกิดภัย  ชาวบ้านพ่อได้ตั้งวัดปิตุราษฎร์เป็นจุดปลอดภัยและเตรียมความพร้อมในการอพยพ เพราะเป็นพื้นที่สูงของชุมชน นอกจากนี้แล้วชาวบ้านพ่อยังมีการเฝ้าระวังภัยน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนอยู่ตลอดเวลา 1) รับฟังข่าวสารแจ้งเตือนจากผู้นำชุมชนที่ประกาศเสียงตามสาย ซึ่งผู้นำก็จะได้รับข้อมูลผ่านช่องทางแอพพลิเคชั่นไลน์ หรือโทรสื่อสารโดยตรง แหล่งข้อมูลมาจากหมู่บ้านสายใน ได้แก่ บ้านสันติสุข บ้านห้วยม่วง บ้านน้ำพุ  และบ้านฮวก ที่เป็นต้นน้ำ  2) การใช้เครื่องหวอเตือนภัยเคลื่อนที่ 3) เตรียมพร้อมเก็บของขึ้นที่สูง ซึ่งชาวบ้านเริ่มปฏิบัติกันมาตั้งแต่ปี 2540 4) จุดวัดระดับน้ำฝน จากกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่เก็บข้อมูลปริมาณน้ำฝนเพื่อส่งให้กับหน่วยงาน

            ขณะเกิดภัย ด้านการช่วยเหลือหรือกิจกรรมของรัฐช่วงขณะเกิดภัยมีการแจกสิ่งของอุปโภค บริโภคถุงยังชีพ  ชาวบ้านจะช่วยกันดูแลขนย้ายผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงมารวมกันที่วัดปิตุราษฎร์ที่จัดไว้เป็นพื้นที่ปลอดภัย

หลังเกิดภัย  ด้านภาครัฐ มีการดูแลทำความสะอาดพื้นที่ดินโคลนทับถมพื้นที่อยู่อาศัย  จากองค์การบริหารส่วนตำบลผาตอ  อีกทั้งยังมีการสนับสนุนเงินชดเชยพื้นที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะต้องเข้าเงื่อนไขเสียหาย 100% จึงจะได้รับค่าชดเชย ถือเป็นข้อจำกัดหนึ่งในการเข้าถึงการชดเชยเยียวยาของภาครัฐ   ด้านชาวบ้านร่วมกันทำความสะอาดเศษดินโคลนบริเวณบ้าน และทำอาหารไปแจกจ่ายคนในหมู่บ้าน

10.ข้อเสนอแนะ

  • การวางกล่องเกเบี้ยนป้องกันน้ำท่วม  ข้อเสนอดังกล่าวอยู่ในโครงการของกรมทรัพยากรน้ำ ปี 2563

11.พิกัดพื้นที่

จุดเสี่ยงที่ 1 บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำริมและพื้นที่ตลิ่งริมฝั่งน้ำริม  ดินใต้สะพานมีแนวโน้มทรุดตัวจากปริมาณน้ำหลากช่วงหน้าฝน บริเวณตลิ่งเป็นปัญหาช่วงน้ำหลาก กัดเซาะตลิ่งและเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรริมฝั่งตลิ่ง ตลอดจนเข้าท่วมบ้านเรือน

12.ผู้ร่วมสำรวจ

คุณจำลอง บัวอิ่น ผู้ใหญ่บ้าน 0925312654

*เอกสารส่วนหนึ่งของการประชุมปฏิบัติการ “การพัฒนาแนวทาง/แผนการลดทอนความเสี่ยงภัยพิบัติ ระดับพื้นที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน” โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเตรียมความพร้อมรับมือและลดความเสี่ยงภัยพิบัติ วันที่ 28-31 พฤษภาคม 2562