1. บริบทชุมชน
บ้านดอนตัน หมู่ที่ 4 เป็นชุมชนบนพื้นที่ราบริมน้ำน่าน ชาวบ้านที่นี่ทำการเกษตร ปลูกข้าว ปลูกพริก และข้าวโพด มีอาชีพเสริมด้วยการสานหวายเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ
ชุมชนที่นี่ตั้งบ้านเรือนบริเวณสองข้างของถนนสายหลัก และซอยย่อยในชุมชน แต่เดิมบ้านดอนตันมีเพียงหมู่ 4 แต่ปัจจุบันได้แบ่งแยกออกเป็น 3 หมู่ คือ บ้านดอนตันหมู่ที่ 4 ,บ้านดอนตัน 2 หมู่ที่ 10 และบ้านดอนตัน หมู่ที่ 12 ทั้งหมดอยู่ในความปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลศรีภูมิ
2. ที่ตั้ง
ทิศเหนือ ติดต่อ บ้านดอนตัน 2 หมู่ที่ 10 ตำบลศรีภูมิ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน
ทิศใต้ ติดต่อ บ้านสบหนอง หมู่ที่ 1 ตำบลตาลชุม อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน
ทิศตะวันออก ติดต่อ บ้านห้วยเดื่อ หมู่ที่ 3 ตำบลศรีภูมิ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน
ทิศตะวันตก ติดต่อ แม่น้ำน่าน
3. จำนวนประชากรและครัวเรือน
บ้านดอนตัน มีประชากรราว 600 คน รวมประมาณ 168 ครัวเรือน (ข้อมูลจากผู้ใหญ่บ้าน)
4. สถานที่สำคัญ
1) โรงเรียนชุมชนดอนตัน
2) หอประชุมดอนตัน หมู่ที่ 4
3) หอกระจายข่าว
4) หนองหลง
5. ผังวาดชุมชนแสดงพื้นที่น้ำท่วม/ดินโคลนถล่ม

6. เส้นทางน้ำ
เส้นทางการไหลของน้ำที่ไหลเข้าท่วมหมู่บ้านดอนตัน หมู่ที่ 4 ประกอบด้วย 4 ทางหลัก คือ
เส้นทางที่ 1 ซอยที่ 2 ซอยถนนที่รับน้ำท่วมล้นจากแม่น้ำน่านหลากผ่านแปลงพริกที่ติดริมน้ำ ไหลต่อมายังซอยที่ 2 ซึ่งเป็นจุดแรกของพื้นที่ที่น้ำท่วม และเอ่อล้นเข้าไปยังบ้านเรือนที่ตั้งบริเวณสองฝั่งของซอย ไหลผ่านไปยังเส้นถนนหลักของหมู่บ้านและเข้าท่วมบ้านเรือนในอีกฝั่งของถนน
เส้นทางที่ 2 ซอยที่ 1 ปริมาณน้ำจากแม่น้ำน่านที่สูงล้นตลิ่ง ไหลเข้าท่วมพื้นที่ริมฝั่งและล้นเข้าสู่ซอยที่ 1 เนื่องจากมีสภาพพื้นที่ต่ำ
เส้นทางที่ 3ซอยที่ 10 เป็นจุดที่น้ำไหลเข้าท่วมชุมชน ผ่านพื้นที่แปลงพริก แปลงข้าวโพด ไหลเข้าท่วมบ้านเรือน
เส้นทางที่ 4 หนองหลง น้ำที่ล้นหนองไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร และเข้าสู่พื้นที่หมู่บ้าน
7. พื้นที่เสี่ยง
บ้านดอนตันหมู่ที่ 4 มีพื้นที่เสี่ยงบริเวณซอยติดกับพื้นที่ริมน้ำน่าน เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่ำ ทำให้น้ำไหลผ่านเข้าสู่หมู่บ้าน และน้ำที่ไหลล้นจากหนองหลวง มารวมกันทำให้ระดับน้ำสูง ในปี 2549 ระดับน้ำสูงถึง6 เมตร ปี 2554 สูง 4 เมตร และในปี 2561 สูง 3.5 เมตร พื้นที่น้ำท่วมทั้งหมู่บ้าน และบริเวณ พื้นที่อาศัยซอย 2 ซอย 1 และพื้นที่เกษตรตรงข้ามซอย เป็นพื้นที่ต่ำจึงมีปริมาณน้ำขังเป็นวงกว้าง ภาพรวมน้ำท่วมราว 3 วัน
8. ผลกระทบ
ในปี 2546 น้ำท่วมสูงราว 6 เมตร ทั่วทั้งหมู่บ้าน จึงต้องอพยพไปพักพิงที่โรงเรียนชุมชนบ้านดอนตัน เนื่องจากเป็นอาคารสองชั้น ที่สามารถรองรับได้ 200 –300 คน บางส่วนอพยพไปอาศัยกับพี่น้องในเขตพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วม ในปีที่น้ำท่วมไม่มาก ผู้คนอาศัยบริเวณชั้น 2 ของบ้าน สำหรับพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายทั้งหมดทั้งในส่วนของพริก ข้าวโพด รวมถึงนาข้าว โดยข้าวอยู่ระหว่างการทำนาเพียง 1 เดือน แม้ระดับน้ำจะท่วมสูง แต่เป็นลักษณะเอ่อล้น จึงทำให้ชุมชนสามารถจัดเก็บ เตรียมรับมือได้ทันเวลา และไม่มีผู้เสียชีวิต หรือเป็นโรคฉี่หนูในพื้นที่
9. การจัดการภัย
- ก่อนเกิดภัย ชุมชนจะติดตามข่าวสารจากสถานีอุทกภัยท่าวังผา การสังเกตปริมาณฝนตกหนักต่อเนื่อง 3 วัน การประกาศจากผู้นำชุมชนผ่านหอกระจายข่าวของหมู่บ้าน และบอกต่อกัน บางส่วนติดตามข้อมูลน้ำจาก facebookที่นี่เมืองน่าน และ facebookบ้านฮากอยู่น่าน ผู้นำชุมชนจะรับข่าวสารจากกลุ่มไลน์เครือข่าย บางคนติดตามระดับน้ำจากหมู่บ้านใกล้เคียง รวมถึงระดับน้ำน่าน เมื่อได้รับการแจ้งเตือนหลายต่างเร่งที่จะเตรียมรับมือด้วยการเก็บสิ่งของขึ้นที่สูง การเตรียมน้ำดื่ม อาหาร เทียน
- ระหว่างเกิดภัยชาวบ้านจะมีเรือประจำบ้านซึ่งจัดจ้างช่างประกอบเรือทำจากแผ่นเหล็กไว้สำหรับการขนย้ายสิ่งของ เมื่อระดับน้ำสูงมีการตัดกระแสไฟฟ้า และมีหน่วยทหารมาช่วยในการขนย้ายสิ่งของ สำหรับบริเวณที่น้ำท่วมขัง อบต.จัดเครื่องสูบน้ำออกจากพื้นที่ระบายทางร่องน้ำ
- หลังเกิดภัยสำรวจและจ่ายค่าชดเชยความเสียหายด้านการเกษตร และทาง อบต.มีการจัดทำท่อน้ำเพื่อระบายน้ำออกทางแม่น้ำน่าน ลดระดับความสูงของน้ำที่ท่วมถนน รวมถึงท่อบริเวณ ซอย 3 – 6 ระบายลงสู่ร่องน้ำสาธารณะ เพื่อลดระดับน้ำในซอย
10. ข้อเสนอแนะ
· (ไม่มี)
11. พิกัดพื้นที่
จัดเก็บพิกัดพื้นที่สำคัญในหมู่บ้านดอนตัน หมู่ที่ 4 จำนวน 4 จุด
จุดที่ 1 สะพานข้ามร่องน้ำ (ไม่มีชื่อร่องน้ำ) ที่ไหลลงน่าน เป็นถนนเส้นเชื่อมต่อไปยังบ้านสบหนอง เมื่อน้ำไหลหลากมาจะมีเศษกิ่งไม้จำนวนมากขุดตันบริเวณสะพาน



จุดที่ 2 ซอย 2 จุดที่น้ำจากริมแม่น้ำน่านเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมซอยและไหลเข้าท่วมชุมชนสองฝั่งถนน



จุดที่ 3 ลำเหมือง สำหรับการปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรในชุมชนช่วงฤดูเพาะปลูก



จุดที่ 4 หนองหลวง หนองน้ำสำหรับกักเก็บน้ำใช้เพื่อการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกของหมู่บ้าน อีกทั้งเป็นแหล่งรับน้ำหากล้นจะไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่หมู่บ้าน



12. ข้อมูลผู้ร่วมสำรวจ
1) คุณพนารัตน์ ช่างแย้ม 08-4782-8937
2) คุณประพันธ์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านดอนตัน หมู่ที่ 4
หมายเหตุ: การวาดผังชุมชนร่วมกับสมาชิกชุมชนบ้านดอนตันจำนวน 14 ท่าน เรียงเรียงข้อมูลโดย ศศินันท์ กีรติธนจารุพงษ์ 09-1754-1507
*เอกสารส่วนหนึ่งของการประชุมปฏิบัติการ “การพัฒนาแนวทาง/แผนการลดทอนความเสี่ยงภัยพิบัติ ระดับพื้นที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน” โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเตรียมความพร้อมรับมือและลดความเสี่ยงภัยพิบัติ วันที่ 28-31 พฤษภาคม 2562