โดย พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา
ข้อสังเกต กกต.ควรมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายใหญ่ ในการป้องกันรัฐประหาร
ตามมาตรา 22 (8) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 กำหนดให้ กกต.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ต้องเสนอรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีและรายงานการตรวจบัญชีของ สตง. ต่อวุฒิสภา
ในการเสนอรายงานต่อวุฒิสภานั้น เป็นที่คาดหมายว่ากรรมการองค์กรอิสระจะเป็นผู้มานำเสนอรายงานด้วยตนเอง เพราะส.ว.เป็นกลไกผู้พิจารณาการแต่งตั้งตัวบุคคลให้เข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ก็ย่อมต้องการที่จะสะท้อนความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนกับผู้เป็นกรรมการโดยตรง
แต่ส่วนใหญ่แล้วกรรมการองค์กรอิสระมักจะไม่มาชี้แจงเอง โดยจะส่งเลขาธิการและเจ้าหน้าที่ฝ่ายประจำของสำนักงานมาแทน จึงเป็นจุดอ่อนและถูกตั้งข้อสังเกตจาก ส.ว. ทั้งยังเรียกร้องว่า ต่อไปขอให้มีความชัดเจนในวัตถุประสงค์และการประสานงานในเรื่องนี้
ในคราวการประชุมสามัญครั้งที่ 10 ของวุฒิสภา เมื่อ 13 สิงหาคม 2562 ถึงคิวรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำปี 2560
ผลการปฏิบัติงาน
มีประเด็นที่น่าสนใจจากรายงานประจำปี อาทิ
- สำนักงาน กกต.ได้ปฏิบัติงานตามแผนยุทธศาสตร์ สนง.กกต. ฉบับที่ 2 (2556-2560) ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ 1)พัฒนาระบบและกระบวนการเลือกตั้ง 2)เสริมสร้างวิถีประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน 3)ส่งเสริมสนับสนุนพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็งและยั่งยืน 4)พัฒนาระบบและกระบวนการสืบสวนสอบสวน วินิจฉัยการดำเนินคดีในศาล ให้มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ 5)พัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กรตามหลักธรรมาภิบาล
- ได้จัดทำโครงการรูปธรรมที่สำคัญ เช่น การพัฒนาระบบ I-vote และจัดการการเลือกตั้ง 2562 แบบล่วงหน้า ทั้งในต่างจังหวัดและต่างประเทศ จัดให้มีอาสาสมัครจัดการเลือกตั้ง จำนวน 700,000 คน ประจำหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ เฉลี่ย 5 คน/หน่วย พัฒนาศักยภาพพนักงานสืบสวนสอบสวน บันทึกหลักฐานตรวจสอบการทุจริตเลือกตั้ง สร้างเครือข่ายการข่าว จัดทำฐานข้อมูลหัวคะแนน จำนวนหลายพันคน สร้างอาสาสมัครส่งเสริมประชาธิปไตย (อส.ปชต.) 65,018 คน ทำโครงการพลเมืองดีวิถีประชาธิปไตย หมู่บ้านปลอดซื้อเสียง 1 แห่ง/อำเภอ จัดตั้งกองลูกเสืออาสา กกต. ระดับผู้บังคับบัญชา 4,000 คน ระดับสมาชิก 70,000 คน
- สำนักงาน กกต. ได้รับงบประมาณ รวม 1,744 ล้านบาท แบ่งเป็นงบอุดหนุน 1,571 ล้านบาท งบดำเนินการ 349 ล้านบาท และเงินสำรองฉุกเฉิน 62 ล้านบาท
- พรรคการเมือง ปี 2560 มีจำนวน 70 พรรค กรรมการพรรครวม 742 คน สมาชิกพรรคการเมือง รวม 4.79 ล้านคน เงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง ประเภทหมุนเวียน 208 ล้านบาท , ไม่หมุนเวียน 978 ล้านบาท รวม 1,186 ล้านบาท ได้จัดสรรเงินกองทุนสนับสนุนไปจำนวน 63 ล้าน คิดเป็นร้อยละ 77ของงานพัฒนาพรรคการเมือง
ข้อสังเกตุจากหมอพลเดช
1.ในเรื่องนี้ ควรต้องวิเคราะห์แยกแยะบทบาทและผลงาน ระหว่างของกรรมการกกต.ซึ่งเป็นกลไกองค์กรอิสระที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และสนง.กกต.ในฐานะหน่วยงานของฝ่ายประจำที่ต้องมีเจ้าหน้าที่มาทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้อง
2.กรรมการ กกต.ในฐานะผู้กำหนดนโยบายและผู้ใช้อำนาจในการวินิจฉัยการกระทำที่ละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง รวมทั้งเป็นผู้ได้รับการรับรองแต่งตั้งจากวุฒิสภา ควรต้องเป็นผู้เข้ามานำเสนอรายงานประจำปีด้วยตนเอง เพื่อจะได้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกวุฒิสภา โดยมีเลขาธิการและเจ้าหน้าที่สนง.กกต.เป็นผู้ช่วยในการชี้แจง
3.ตามรัฐธรรมนูญ2560 และพรป.การเลือกตั้ง 2560 กำหนดให้มีกรรมการก.ก.ต.จำนวนเพิ่มขึ้น จากเดิมมี 5 คน เป็น 7 คน แต่ยังคงทำงานแบบเดิม ควรมีการแบ่งพื้นที่ แบ่งภารกิจ โดยพัฒนาระบบและโครงสร้างการบริหารงานเสียใหม่ให้มีประสิทธิภาพ ควรมีการกำหนดให้มีโฆษกที่สามารถทำงานเชิงรุกได้ สามารถตอบโต้ชี้แจงต่อประเด็นข้อข้องใจของสังคมที่เกี่ยวข้อง ทุกกรณีข้อสงสัยควรได้รับการให้ข้อมูล ความรู้ ข้อเท็จจริง และให้สติปัญญาแก่สังคม แบบทันท่วงที เป็นการเสริมสร้าง democracy literacy
4.กกต.ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย (regulator) จะมีบทบาทต่อการปฏิรูปการเมืองตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ ในลักษณะเชิงรุกได้อย่างไร รวมทั้งการพัฒนานักการเมือง การพัฒนาระบบประชาธิปไตยภายในพรรคการเมือง และการพัฒนาพรรคการเมือง และเหล่านี้ กกต.ต้องคิดให้ชัดว่า ใครคือพันธมิตรในการขับเคลื่อน
5.กองทุนพัฒนาพรรคการเมืองของ กกต.กับ กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองที่สถาบันพระปกเกล้าดูแล กกต.จะบูรณาการและสานพลังเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมืองได้อย่างไร
6.ในการจัดการเลือกตั้งทุกระดับ ทุกครั้ง รวมทั้งการลงประชามติอื่นๆ ต้องถือว่าเป็นกระบวนการที่สามารถใช้ในการพัฒนาจิตสำนึกประชาธิปไตยและความเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพได้เป็นอย่างดี กกต.จึงควรคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมในการใช้ประโยชน์จากกระบวนการเหล่านี้อย่างจริงจัง
7.กกต.ควรมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายใหญ่ ในการป้องกันรัฐประหารโดยพัฒนาคุณภาพกระบวนการจัดการเลือกตั้งและขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมียุทธศาสตร์
สุดท้าย อยากจะขอเสนอตัวอย่างกรอบแนวคิดโครงการที่น่าสนใจ ฝากไว้ให้สำนักงาน ก.ก.ต. พิจารณา เช่น การจัดทำโครงการความร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สมาคมองค์กรสาธารณะประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข้มแข็ง สถาบันพัฒนาประชาสังคม ศูนย์ประสานภาคีการพัฒนาจังหวัด ศูนย์พัฒนาการเมืองจังหวัด สถาบันพระปกเกล้า และเครือข่าย อส.ปชต. เพื่อ “พัฒนาเครือข่ายขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองในระดับจังหวัด” กันให้อย่างคึกคักและทรงพลัง.
ขอบคุณภาพหน้าปกจาก https://www.nationweekend.com/content/columnist/28?news=1840