เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล

โดย นายแพทย์ พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา

มีโอกาสได้กลับไปดูภาพยนต์อิงประวัติศาสตร์ยุคสงครามโลก เรื่อง Dunkirk, Churchill และ Darkest Hour รู้สึกมีความประทับใจต่อบุคลิกและบทบาทของวินสตัน เชอร์ชิลเป็นอย่างมาก จนต้องบันทึกเอาไว้เป็นความทรงจำ

เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษครั้งแรกในสถานการณ์วิกฤติสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อนายกรัฐมนตรีเนวิล แชมเบอร์ลิน หมดสภาพที่จะนำพาประเทศไปได้  ถูกสภาสามัญชนบีบบังคับให้ลาออกเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 1940 และพระเจ้าจอร์จที่ 6 ทรงเชิญเชอร์ชิลให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะจากสภาสามัญชน

เชอร์ชิลเป็นนายกรัฐมนตรีในสถานการณ์มหาสงคราม  ในช่วงจังหวะที่กองทัพนาซี 3 ล้านคน พร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ รถถังและเครื่องบินรบ  ซึ่งทหารเยอรมันมีความแข็งแกร่ง ก้าวร้าวที่สุด และกำลังรุกคืบเข้ายึดประเทศต่างๆไว้อย่างรวดเร็วดุจสายฟ้าแลบ  จึงอยู่ในภาวะกดดันเป็นที่สุด

เขาตั้งแชมเบอร์ลินและฮาลิแฟกซ์ สองคู่ปรับคนสำคัญ  ให้เข้ามาอยู่ร่วมในคณะรัฐบาลสงครามของเขาด้วย ด้านหนึ่งเป็นการเก็บศัตรูเอาไว้ข้างตัวไม่ให้แว้งกัด  แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นการเพิ่มภาระต่อการทำงานในฐานะผู้นำประเทศของเขา

แชมเบอร์ลินเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่เพิ่งถูกโค่น  ส่วนฮาลิแฟกซ์ก็เป็นคู่แข่งที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้นยังเป็นพระสหายใกล้ชิดของคิงจอร์จที่ 6 อีกด้วย  แต่พรรคการเมืองใหญ่ทั้งสามในสภาเวลานั้นกลับต้องการตัววินสตันมากกว่า

ทั้งแชมเบอร์ลินและฮาลิแฟกซ์ มีความต้องการที่จะเจรจาสันติภาพ  เพราะมองไม่เห็นทางที่จะต่อสู้กับกองทัพนาซี  โดยพยายามอาศัยมุสโสลินี ผู้เผด็จการแห่งอิตาลีเป็นตัวช่วย  แต่วินสตัน เชอร์ชิลมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนต่อฮิตเลอร์ว่าเป็นจอมเผด็จการที่บ้าอำนาจและโหดร้าย  จึงต้องต่อสู้ทางแนวคิดและแนวทางภายในคณะรัฐมนตรีการสงครามกันอย่างหนักหน่วง

กษัตริย์จอร์จที่ 6 เอง ตอนแรกๆก็ไม่ไว้วางใจในเชอร์ชิลนัก  ทรงถือหางฮาลิแฟกซ์แต่ทว่าสภาสามัญไม่สนับสนุน  ในช่วงเดือนแรกของการเข้าเป็นผู้นำประเทศพร้อมกับแรงกดดันสารพัด เชอร์ชิลได้กล่าวปราศัยทางวิทยุและในรัฐสภาหลายครั้ง  ทรงรับฟังการถ่ายทอดอยู่ด้วย 

ทำให้ในที่สุด ทรงตัดสินใจแอบเข้ามาพบเชอร์ชิลถึงที่บ้านในกลางดึกในจังหวะที่เชอร์ชิลเริ่มอ่อนล้า  ทรงตรัสว่าพระองค์สนับสนุนเชอร์ชิล  เพราะเชอร์ชิลเป็นคนเดียวเท่านั้นที่จะสามารถทำให้ฮิตเลอร์รู้กลัวได้บ้าง  และทรงแนะนำให้เชอร์ชิลออกไปรับฟังเสียงจากประชาชน  เมื่อเชอร์ชิลแฝงตัวออกไปพบปะประชาชน ก็ได้รับแรงใจและความมุ่งมั่นที่จะรักษาเกียรติภูมิกลับคืนมา

ตอนปลายของยุทธการที่ฝรั่งเศส  ขณะที่กองทัพฝรั่งเศสและอังกฤษในภาคพื้นทวีปต่างพ่ายแพ้ต่อเยอรมัน  หมู่เกาะอังกฤษตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤตที่สุดในประวัติศาสตร์  ผู้คนต่างหวาดผวาต่อการรุกรานโดยนาซีเยอรมนี  แต่ทันใดนั้นก็เกิด “ปาฏิหาริย์แห่งดันเคิร์ก” ขึ้น  กองเรือพาณิชย์เอกชนอาสาสมัครที่เกิดจากยุทธศาสตร์ยุทธวิธีการต่อสู้ของเชอร์ชิล ได้ช่วยชีวิตทหารไว้กว่าสามแสนนาย

ต่อมาในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1940  สัปดาห์ที่ 4 ของการเข้าทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี  วินสตัน เชอร์ชิลได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาสามัญชน  ซึ่งสุนทรพจน์ชิ้นนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “We Shall Fight on the Beaches”

บางส่วนของสุนทรพจน์ดังกล่าว ได้รับการยอมรับว่าเป็นวลีที่ดีที่สุดแห่งยุค  และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คนทั้งเกาะอังกฤษและกองเรือทั่วทั้งจักรวรรดิอังกฤษ ต่างมีจิตใจรวมเป็นหนึ่งเดียวในการต่อสู้กับกองทัพนาซีเยอรมัน

“…วันนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  ผมได้ขอสภาให้กำหนดบ่ายวันนี้เป็นวาระพิเศษเพื่อกล่าวแถลง  ผมมีความลำบากใจเป็นอย่างมากที่จะต้องประกาศหายนะทางการทหารที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อันยาวนานของเรา

…รากเหง้า แก่น และมันสมองของกองทัพบริเตน…ดูเหมือนกำลังจะพังทลายลงในสนามรบ

…ปาฏิหาริย์การปลดปล่อย  ซึ่งสำเร็จได้จากความกล้าหาญ จากความบากบั่น กลายเป็นที่ประจักษ์แก่เราทุกคน และราชนาวี  ด้วยความช่วยเหลือของชาวเรือพาณิชย์นับไม่ถ้วน ได้ใช้เรือทุกชนิดเกือบพันลำ นำพาทหารกว่า 335,000 นาย  ทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษ  ให้รอดพ้นจากปากมัจจุราชและความอัปยศ

…มีคนบอกว่า  เฮอร์ฮิตเลอร์มีแผนรุกรานหมู่เกาะอังกฤษ  ข้อนี้ก็เคยคิดกันมาก่อนหลายครั้ง…เราจะขอพิสูจน์ตนเองอีกครั้งหนึ่งเพื่อปกป้องแผ่นดินเกิดของเรา  และเราจะผ่านพ้นภัยทรราชนี้

…แม้ว่าพื้นที่มากมายในยุโรปและรัฐเก่าแก่  ขึ้นชื่อได้พ่ายแพ้หรืออาจตกอยู่ใต้เงื้อมมือของเกสตาโพและระบอบนาซีที่น่ารังเกียจก็ตาม  เราจะอ่อนล้าหรือล้มเหลวไม่ได้

เราจักก้าวเดินไปถึงจุดจบ  เราจักสู้ในฝรั่งเศส  เราจักสู้ในท้องทะเลและมหาสมุทร  เราจักสู้ด้วยความเชื่อมั่นและพลังที่เติบใหญ่ในท้องนภา  เราจักปกป้องเกาะของเราไม่ว่าต้องแลกด้วยอะไร

เราจักสู้บนชายหาด  เราจักสู้บนลานบิน  เราจักสู้บนท้องทุ่งและท้องถนน  เราจักสู้ในหุบเขา  เราจักไม่มีวันยอมแพ้…”

— วินสตัน เชอร์ชิล, 4 มิถุนายน ค.ศ. 1940, ณ รัฐสภาเวสต์มินสเตอร์.