โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา
องค์กรภาคีส่วนใหญ่ยังขาดการประเมินความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนในสังกัด
ในงานมหกรรมชุมชนสุขภาวะ ครั้งที่ 2 ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ระหว่างวันที่ 17-19 กันยายน 2562 ที่เพิ่งผ่านมา มีสำนักงานโครงการจิตอาสาประชารัฐเพื่อสังคมสุขภาวะ (สอปร.) หน่วยงานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นแม่งานใหญ่ ร่วมกับ 40 องค์กรภาคีผู้สนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง-ชุมชนสุขภาวะ
ในฐานะผู้ร่วมบุกเบิกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภาคประชาสังคม ว่าด้วยการรวมพลังแสงเลเซอร์สนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง-ชุมชนสุขภาวะทั่วประเทศ ผมมีหน้าที่ต้องเสนอรายงานความก้าวหน้างานชุมชนเข้มแข็งต่อภาคีเครือข่ายที่มาร่วมชุมนุมใหญ่เป็นประจำทุกปี
เมื่อคราวสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2557 ที่ประชุมมีมติว่าด้วยเรื่องยุทธศาสตร์รวมแสงเลเซอร์สนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง-ชุมชนสุขภาวะเอาไว้ ยิ่งไปกว่านั้นองค์กรภาคีที่เป็นแม่ข่ายระดับชาติ จำนวน 33 องค์กร ยังได้ร่วมลงนามความร่วมมือและประกาศเจตนารมณ์ว่าจะรวมพลังกันทำงานประดุจแสงเลเซอร์
งานมหกรรมชุมชนสุขภาวะที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เป็นการเปิดโอกาสให้เครือข่าย 76 จังหวัดและ 6 กลุ่มเขต กทม.ได้นำเอาผลงานความสำเร็จมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประกาศต่อสาธารณะและสร้างความหวัง-แรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน
สาระสำคัญของมติว่าด้วยยุทธศาสตร์รวมแสงเลเซอร์ฯ ประกอบด้วย
หลักการร่วม จะยึดหลักการร่วมกัน 7 ประการ ในการส่งเสริมสนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง
แนวทางร่วม จะสร้างกลไกรวมแสงเลเซอร์ (บูรณาการ) ร่วมกันใน 3 ระดับ คือ ระดับตำบล ระดับจังหวัด-อำเภอ และ ระดับชาติ
เป้าหมายร่วม จะสร้างเสริมความเข้มแข็งในเชิงคุณภาพขององค์กรชุมชนทั่วประเทศ ทุกประเภท ให้ถึงสัดส่วนร้อยละ 60 ภายใน 10 ปี (2567)
ในขณะนั้น จากข้อมูลที่รวบรวมได้ รายงานต่อที่ประชุมใหญ่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติว่ามีองค์กรชุมชนที่หลากหลาย รวม 25 ประเภท จำนวน 307,000 องค์กร ซึ่งองค์กรแม่ข่ายส่วนหนึ่งมีการประเมินระดับคุณภาพเอาไว้ พบว่ามีสัดส่วนองค์กรชุมชนที่มีคุณภาพดีหรือสูงสุดของเครือข่ายตน ประมาณร้อยละ 17 ถึงร้อยละ 35 แต่อีกหลายส่วนยังไม่มีการประเมินคุณภาพ
มาในคราวนี้ เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปีแล้ว ในงานมหกรรมชุมชนสุขภาวะครั้งนี้ คณะทำงานวิชาการจึงได้ประมวลความก้าวหน้าการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์รวมแสงเลเซอร์ฯ สามารถรายงานความก้าวหน้าจากข้อมูลปี 2561 ได้ดังนี้
สช. และสถาบันพัฒนาประชาสังคม (CSDI) ได้ตรวจสอบข้อมูลองค์กรชุมชนที่มีอยู่ทั้งหมด 307,000 องค์กร พบว่า มีข้อมูลที่สมบูรณ์ครบถ้วน สามารถจัดทำเป็นระบบฐานข้อมูลกลางและกำหนดพิกัดพื้นที่ได้ เพียง 209,900 องค์กร นอกจากนั้นยังมีฐานข้อมูลผู้นำชุมชน 56,000 คน วิทยากรกระบวนการ 10,200 คน เครือข่ายพลเมืองอาสาประจำพื้นที่ (อำเภอ-ตำบล) 9,500 เครือข่าย 81,000 คน และมีกรณีศึกษาชุมชนเข้มแข็ง 3,022 เรื่อง
องค์กรแม่ข่ายขนาดใหญ่ที่มีการประเมินคุณภาพองค์กรชุมชนในส่วนของตนอย่างชัดเจนและเป็นระบบ มี 5 หน่วยงาน คือ กรมการพัฒนาชุมชน (พช.), สำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ (สทบ.), สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.), สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และกรมป่าไม้
ทั้ง 5 หน่วยงานได้ประเมินระดับคุณภาพขององค์กรชุมชนในเครือข่ายของตน ที่มีอยู่รวมกันทั้งสิ้น 136,754 องค์กร คิดเป็นร้อยละ 65 ขององค์กรชุมชนทั้งหมดในฐานข้อมูลกลาง พบองค์กรชุมชนที่มีคุณภาพดีหรือสูงสุดในเครือข่ายของตน มีสัดส่วน ดังนี้
องค์กรชุมชนในระดับหมู่บ้าน
1) กลุ่มสินค้าชุมชน OTOP 19,000 ราย อยู่ในระดับ ห้าดาว 19.4% ระดับสี่ดาว 41.2% รวมสองระดับเป็น 60.6%.
2) กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 79,255 แห่ง อยู่ในระดับดีที่สุด 36.5%.
3) ป่าชุมชน 15,404 หมู่บ้าน ดูแลป่าชุมชนเนื้อที่รวม 7.36 ล้านไร่ มีป่าชุมชนในระดับดีที่สุด 33.9%
องค์กรชุมชนในระดับตำบล
1) กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต 7,666 กลุ่ม มีระดับดีที่สุด 29.0%
2) สภาองค์กรชุมชน 7,666 องค์กร มีระดับที่ดีที่สุด 13.5%
3) กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล 7,763 แห่ง มีระดับที่ดีที่สุด 77.3%
ซึ่งมองดูในภาพรวม จะเห็นได้ว่า ประเภทขององค์กรชุมชนที่มีสัดส่วนของระดับคุณภาพสูงสุดของเครือข่าย สามารถเรียงลำดับได้ ดังนี้ 1) กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล 77.3% 2) OTOP 60.6% 3) กองทุนหมู่บ้านฯ 36.5% 4) ป่าชุมชน 33.9% 5) กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต 29.0% 6) สภาองค์กรชุมชน 13.5%.
ปัญหาอุปสรรค
องค์กรภาคีส่วนใหญ่ยังขาดการประเมินความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนในสังกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่ดำเนินนโยบายแบบเฉพาะกิจ เฉพาะพื้นที่
กลไกรวมแสงเลเซอร์ในระดับตำบล เป็นจุดที่สำคัญที่สุดในการบูรณาการ แต่มักดูแลทั่วถึงได้ยากเพราะมีจำนวนมาก ส่วนในระดับจังหวัดปัจจุบันมีความเข้มแข็งขึ้นตามลำดับ เพราะมี ศูนย์ประสานภาคีการพัฒนาจังหวัด (ศปจ.) และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามในส่วนกลไกระดับชาติ ในระยะหลังๆ ค่อนข้างหลวมลงไปเพราะขาดการประชุมแบบเป็นเนืองนิจ ไม่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน นอกจากจะมีการจัดงานมหกรรมประจำปีเท่านั้น
ข้อเสนอสำหรับระยะต่อไป
เนื่องจากการขับเคลื่อนมติยุทธศาสตร์รวมแสงเลเซอร์ฯ ได้ผ่านมาครึ่งทาง คือ ถึงปีที่ 5 แล้ว จึงควรที่องค์กรภาคีความร่วมมือ 33 องค์กร จะได้ทบทวนงานประเมินคุณภาพองค์กรชุมชนในส่วนของตนอย่างเป็นระบบและถ้วนทั่วสักครั้ง เพื่อจะได้รวบรวมให้เห็นภาพความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนแบบทั้งกระดาน ทั้งประเทศ
ถ้าจะทำเช่นนั้นได้ สช. และคณะทำงานร่วมควรจะมีการวางแผนและดำเนินการกันตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะได้นำผลมารายงานต่อเวทีมหกรรมชุมชนสุขภาวะในครั้งต่อไป.
ขอบคุณภาพปกจาก https://www.nationweekend.com