สังคมไทยได้ผ่านการต่อสู้ทางแนวคิดและแนวทางในการจัดการปัญหา “คนกับป่า” มาร่วม 30 ปี
โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา
มีความก้าวหน้าในการปฏิรูปประเทศประการหนึ่ง ที่นักเคลื่อนไหวสังคมและการเมืองในโครงสร้างส่วนบน อาจไม่ค่อยให้ความสนใจหรือรับรู้รับทราบ แต่สำหรับคนที่ทำงานในระดันฐานล่างเขาตื่นตัวกันมาก นั่นคือเรื่องนโยบายการจัดการปัญหาคนอยู่กับป่าของรัฐบาลปัจจุบัน
เรื่องนี้เป็นผลงานที่สืบเนื่องมาจากรัฐบาลประยุทธ์(1) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่ได้ร่วมกันปฏิรูปกฎหมายป่าไม้และที่ดิน รวม 5 ฉบับ ที่สำคัญมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของกฎหมายไปจากเดิมอย่างมาก อันได้แก่ “เปลี่ยนจากกฎหมายในเชิงบังคับลงโทษ ที่มีแต่ห้ามอย่างเดียว มาเป็นกฎหมายในเชิงส่งเสริมสนับสนุน ที่มีทั้งห้ามและให้” อัน ได้แก่
- พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562
- พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
- พรบ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562
- พรบ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562
- พรบ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562
นอกจากนั้น ยังมีมติ ครม. 26 พฤศจิกายน 2561 ให้แก้ไขปัญหาคนที่อยู่ในป่าไม้ทุกประเภท โดยมีกลไก คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ทำหน้าที่กำกับและแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งปวงของรัฐ
จากจุดนี้ กำลังนำมาสู่การออกอนุบัญญัติ หรือกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง ที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานในแนวทางใหม่ได้
เรื่องนี้ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นในชนบทป่าเขา ต่างมีความตื่นตัวสนใจกันมาก ถ้ามองในแง่การเมืองก็สามารถนับเป็นความเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมของสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยชุมชน” “ประชาธิปไตยปากท้องในชีวิตประจำวัน” และ “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” อันเป็นการเมืองที่ชาวบ้านเขาสามารถมีบทบาทและมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง
แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ สังคมไทยได้ผ่านการต่อสู้ทางแนวคิดและแนวทางในการจัดการปัญหา “คนกับป่า” มาร่วม 30 ปี มีจุดขัดแย้งจากปัญหาที่ดินระหว่างราษฎร์กับรัฐเกิดขึ้นทั่วประเทศ ในทุกจังหวัด นับหมื่นแห่ง เกิดม็อบและประเด็นเรียกร้องทางการเมืองแบบนับครั้งไม่ถ้วน
โชคดี ภายใต้รัฐบาลชุดที่แล้ว ได้มีการเรียนรู้และปรับตัวครั้งใหญ่ของฝ่ายนโยบาย ฝ่ายบริหาร และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ จนเกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติเป็นไปใน “ทางบวก” และมีการปฏิรูปกฎหมายป่าไม้ “ทั้งระบบ” จึงนับเป็นจุดเริ่มที่สำคัญ
ต่อจากนี้ไป คาดว่าจะเป็นกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม ค้นหาต้นเหตุและแสวงหาแนวทางแก้ไขร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ เปลี่ยนแนวคิดให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้ “ให้คนมีความสุข” บนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ส่วนรัฐก็ได้ป่า ประชาชนได้ที่ทำกิน “บนผืนแผ่นดินเดียวกัน”
โดยมีเป้าหมายสุดท้ายที่จะสามารถเปลี่ยนคนจาก “ผู้บุกรุก มาเป็นผู้ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน”
พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนารัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ที่กระทำการปฏิรูปการจัดการปัญหาคนอยู่กับป่าได้อย่างเป็นรูปธรรม ก้าวหน้าและเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย จึงเป็นผู้หนึ่งที่สมควรได้รับการยกย่องชื่นชมมากที่สุด
ปัจจุบันท่านเป็นสมาชิกวุฒิสภาและเป็นประธานกรรมาธิการที่ดูแลในด้านนี้โดยตรง ท่านได้ชี้แจง ในที่ประชุมสัมมนาวิชาการของ สว.ว่า รัฐบาลจะใช้กลไกคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และคณะกรรมการระดับจังหวัด อำเภอ เป็นผู้ดำเนินการจัดการปัญหาเป็นพื้นที่ๆไป โดยมีแนวทางการจัดการปัญหาโดยการอนุญาตให้อยู่อาศัยและทำกินได้ในลักษณะ “แปลงรวม” แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1. ชุมชนในป่าสงวนฯลุ่มน้ำ 3, 4 และ 5 ก่อนมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 อธิบดีกรมป่าไม้ มีอำนาจอนุญาตตาม พรบ. ป่าสงวนแห่งชาติ 2507
กลุ่มที่ 2. ชุมชนในป่าสงวนฯลุ่มน้ำ 3, 4 และ 5 หลังมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 อธิบดีกรมป่าไม้ มีอำนาจอนุญาตตาม พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507
กลุ่มที่ 3. ชุมชนในป่าสงวนฯลุ่มน้ำ ชั้น 1 และ 2 ก่อนและหลังมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 อธิบดีกรมป่าไม้ มีอำนาจดำเนินการได้ตาม พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507
กลุ่มที่ 4. ชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ ก่อนและหลังมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 กำหนดพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้ราษฎรอยู่อาศัยและทำกินได้ตาม พรบ.อุทยานแห่งชาติ 2562 และ พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562
กลุ่มที่ 5. ชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีอำนาจตามพรบ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 2558 พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 และ พรบ.ป่าไม้ 2484 โดยความเห็นชอบของ ครม.
นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้ “ยกเลิกไม้หวงห้าม” ซึ่งมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายแล้ว สรุปได้ว่า “ไม้ทุกชนิด” ที่ขึ้นในที่ดินกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน “ไม่เป็นไม้หวงห้าม” การทำไม้ไม่ต้องขออนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ สำหรับไม้ใน “พื้นที่อนุญาต” อาทิ สปก. คทช. ให้รอการประกาศเป็นรายพื้นที่ ตามลำดับ
ส่วนการจัดตั้ง “ป่าชุมชน” ตาม พรบ.ป่าชุมชน 2562 รัฐบาลมีเป้าหมาย 15,000 ชุมชน พื้นที่ 10 ล้านไร่ ซึ่งบัดนี้ได้จัดตั้งไปแล้ว 11,000 ชุมชน พื้นที่ประมาณ 7 ล้านไร่ และขณะนี้อยู่ในระหว่างการเร่งรัดออกกฎหมาย “ลำดับรอง” เพื่อให้ชุมชนสามารถดำเนินการต่างๆในป่าชุมชนของตนได้ตามกฎหมายต่อไป
ทั้งหมดนี้ นับเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่งครับ.
ขอบคุณภาพปกจาก https://www.nationweekend.com