โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา
องค์กรตระกูล ส. มีสภาพเหมือนถูกกีดกันออกไปจากกระบวนการทำงานพัฒนา
ในช่วงรอยต่อและระยะเปลี่ยนผ่านการบริหารประเทศ แม้ว่าจะมีแผนปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติประกาศใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่การขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติการในภาคสนามยังมีปัญหาความท้าทายต่อการดำเนินงานอยู่มากมาย ซึ่งผู้เขียนมีประเด็นความสนใจส่วนตัวบางประการ ดังนี้
1) ครม.ใหม่กับการปฏิรูป
หลังจากที่ใช้เวลาหมดไป 5 ปีในกระบวนการจัดทำแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ บัดนี้เมื่อผ่านยุครัฐบาลคสช. มาเป็นรัฐบาลประยุทธ์(2) แล้ว จึงถึงเวลาที่จะต้องขับเคลื่อนการปฏิรูปสู่ภาคปฏิบัติการ แต่เนื่องจากระบบสาธารณสุขนั้นมีมิติที่หลากหลายและซับซ้อน การแก้ปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยมาตรการใดมาตรการหนึ่ง จึงต้องการความเข้าใจและร่วมมือกันของสังคมและผู้ที่เกี่ยวข้อง
ด้านหนึ่งมิให้คาดหวังอะไรที่ได้ผลรวดเร็วและยั่งยืนแบบเกินจริง ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งก็ต้องร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆกันอย่างเป็นระบบ ความสอดคล้องของนโยบายด้านการปฏิรูประบบสาธารณสุขของรัฐบาลผสม 20 พรรค ที่จะประกาศต่อรัฐสภาและความเอาใจใส่ของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งทีมทำงาน จะเป็นสัญญาณสำคัญที่บอกว่าการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุขดังที่กล่าวทั้งหมดข้างต้น จะมีทิศทางความเป็นไปได้และความหวังได้มากน้อยเพียงไร
2) ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข
ต้องยอมรับเป็นเบื้องต้นก่อนว่าในช่วง 5 ปีของรัฐบาล คสช. มีข้อจำกัดอย่างยิ่งในเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมในการสร้างการรับรู้ เรียนรู้ ออกแบบและแสดงความคิดเห็นการปฏิรูปสาธารณสุขในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุขเอง พนักงานองค์กรอิสระตระกูล ส. ที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน
ดังนั้น ในหลายๆประเด็นที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันมากและมีความเสี่ยงต่อผลกระทบ จึงควรดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจเกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันและมีแรงต่อต้านจากฝ่ายข้าราชการประจำเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในเรื่องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและการกระจายอำนาจ
ในสภาพการณ์เช่นนี้ จำเป็นต้องอาศัยภาวะการนำที่เหมาะสมของทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนโยบาย
3)คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข (คปสธ.) เป็นกลไกที่มีหน้าที่จัดทำแผนปฏิรูปจนกระทั่งได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
มาบัดนี้ ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายก็ยังคงกำหนดให้มีกลไกนี้อยู่เพื่อกำกับติดตาม โดยในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลและกระทรวงทบวงกรม คือหน่วยงานตัวจริงที่เป็นผู้ขับเคลื่อนแผนไปสู่การเปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญก็ยังได้กำหนดให้มีสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และวุฒิสภา (ส.ว.) ให้เป็นกลไกกำกับ ติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปดังกล่าวไว้อีกทางหนึ่งด้วย
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผู้เขียนพบว่ายังมีปัญหาความเข้าใจที่แตกต่างกันในรายละเอียดและหลักการ แนวคิดของแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขอยู่ไม่น้อย ทั้ง 10 ประเด็นปฏิรูป โดยเฉพาะระหว่างกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข สมาชิกสภาที่เกี่ยวข้อง (สปช. สปท. สนช.) กับผู้บริหารหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข
บางเรื่องสนับสนุน บางเรื่องคัดค้าน บางเรื่องวางเฉย ตัวอย่างเช่น ประเด็นการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับเขต การปรับบทบาทกระทรวงสาธารณสุขไปเป็นผู้กำกับดูแลนโยบายเพียงอย่างเดียว รูปแบบการกระจายอำนาจและถ่ายโอนหน่วยบริการ ฯลฯ
ดังนั้นความท้าทายในเรื่องนี้คือ ทำอย่างไรจึงจะมีกระบวนการเรียนรู้และทำงานร่วมกัน และปรับเปลี่ยนกันไปด้วยความสันติสมานฉันท์
4) หน่วยงานอิสระด้านสุขภาพ
องค์กรอิสระตระกูล ส. เป็นหน่วยงานที่มี พรบ. การจัดตั้งและมีกลไกคณะกรรมการนโยบายของตนเอง นอกจากนั้นยังเป็นหน่วยงานเชิงนวัตกรรมที่มีบทบาทในการปฏิรูประบบสาธารณสุขและระบบสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง
แต่ในช่วงที่ผ่านมา องค์กรตระกูล ส. มีสภาพเหมือนถูกกีดกันออกไปจากกระบวนการทำงานพัฒนาและจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ทั้งในขั้นตอนการแต่งตั้งและกระบวนการทำงาน ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ทั้งๆที่องค์กรเหล่านี้มีผลกระทบโดยตรง
ด้วยเหตุนี้เอง แผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขจึงขาดการมีส่วนร่วมและสำนึกความเป็นเจ้าของจากองค์กรอิสระด้านสุขภาพที่มีศักยภาพเหล่านี้ไปอย่างน่าเสียดาย จึงนับเป็นอีกความท้าทายหนึ่ง และเป็นสิ่งควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
5)บทบาทของวุฒิสภา
ด้วยกระบวนการสรรหาและวิธีคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ในชุดปัจจุบันได้อาศัยฐานที่มาจากกลไกอำนาจรัฐแม่น้ำห้าสายในยุค คสช. ดังนั้น ส.ว. ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80) ล้วนเป็นผู้ที่เคยมีบทบาทในกระบวนการจัดทำแผนปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆกันมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.), สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), คณะรัฐมนตรี(ครม.), คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ
ดังนั้น เมื่อมาอยู่ในฐานะ ส.ว. ที่ต้องมาทำหน้าที่ “กำกับ ติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูป” โดยกฎหมายไม่อนุญาตให้เป็นผู้ก้าวก่ายแทรกแซงหรือลงมือดำเนินการด้วยตัวเอง ประเด็นท้าทายจึงอยู่ที่ว่า ส.ว. (ทั้งในฐานะปัจเจกและในฐานะองค์กร) จะแสดงบทบาทที่เหมาะสมอย่างไร จึงจะสามารถเกื้อหนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามแผนปฏิรูปอย่างมีผลสัมฤทธิ์ จะป้องกันมิให้เกิดการขัดแข้งขัดขากันระหว่างรัฐบาลผสมและรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมืองที่หลากหลาย กับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างไร รวมทั้ง คปสธ. และ ส.ว.ในฐานะที่ต่างต้องกำกับติดตาม จะทำงานร่วมกันแบบสานพลังได้หรือไม่.
ขอบคุณภาพปกจาก https://www.nationweekend.com