สสส. ผลงานเด่น ส่วนภาคียังอ่วม

อุปสรรคต่อการทำงานที่ใหญ่หลวงมากของ สสส. และภาคีเครือข่ายคือการเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง

โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา

ในการประชุมวุฒิสภาสมัยสามัญครั้งสุดท้าย เมื่อวันอังคารที่ 18 กันยายน 2562  มีวาระการเสนอรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2561 ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

สสส. มีภารกิจในการบริหารจัดการเงินกองทุนไปสนับสนุนกลุ่ม เครือข่ายและองค์กรภาคี ในการรณรงค์สร้างเสริมสุขภาพ ลดปัจจัยเสี่ยงของประชาชน  ซึ่งในภาพรวมตั้งแต่มีกองทุน สสส. มีแนวโน้มสถานการณ์ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง กล่าวคือ

การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า คนไทยมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ลดลง จาก 12.26 ล้านคนหรือร้อยละ 32.00 ในปี 2534 ลดเหลือง 10.70 ล้านคนหรือร้อยละ 19.10 ในปี 2560

คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค่อนข้างคงที่ มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย จากร้อยละ 32.70 ในปี 2547 เหลือร้อยละ 28.41 ในปี 2560 สอดคล้องกับรายจ่ายการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอออล์ที่ลดลงจาก 147,807 ล้านบาท (2558) เหลือ 142,230 ล้านบาท (2560)

คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมีแนวโน้มลดลง จาก 21,996 ราย (2554) เหลือ 20,169 ราย (2561)  ในขณะที่อัตราสวมหมวกนิรภัยยังคงเพิ่มสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย จากร้อยละ 43.00 (2560) เป็นร้อยละ 46.00 (2561)

การสำรวจกิจกรรมทางกายของประชาชน  โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบคนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 72.90 (2560) เพิ่มเป็นร้อยละ 74.40 (2561) โดยกลุ่มวัยทำงาน อายุ 25-59 ปีเป็นกลุ่มที่มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นมากที่สุด

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำรวจพบว่า อัตราการบริโภคผักและผลไม้ของคนไทย เพียงพอตามข้อแนะนำเพิ่มมากขึ้น จากร้อยละ 17.70 (2552) เป็นร้อยละ 25.90 (2557)

ในปี 2561 สสส. ได้เบิกจ่ายงบประมาณเพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพทั้งสิ้น  4,610 ล้านบาท สำหรับ 5,394 โครงการทั่วประเทศ  ในจำนวนนี้เป็นผู้รับทุนรายใหม่ 1,904 ราย จากภาคีทั้งหมด 2,757 ราย คิดเป็นร้อยละ 69.1

ด้านสัดส่วนการกระจายทุน  มีกลุ่มองค์กรที่รับทุนมากที่สุดตามลำดับ คือ มูลนิธิ องค์กรสาธารณประโยชน์ (35%)  สถาบันการศึกษา (20%)  บุคคล (16%)  และกระทรวง กรม กอง (15% )  ส่วนสถานที่ไปจัดทำกิจกรรมนั้นพบว่ามักจัดกันที่ ชุมชน(53%)  ที่องค์กร หน่วยงานภาครัฐ(26%)  สถานศึกษา โรงเรียน(8%) และสถานประกอบการ โรงงาน บริษัทเอกชน (7%)

สำหรับผลงานเด่น ปี 2561 ระบุว่ามี 7 ด้าน ได้แก่  1)ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ลดผู้ป่วย NCD ภัยเงียบคุกคามประชากรโลก  2)ปลุกพลังคนรุ่นใหม่ สร้างสังคมปลอดบุหรี่  3)ชุมชนเข้มแข็งสู้เหล้า  4)ส่งเสริมพัฒนาการเด็กและเยาวชน สู่พลเมืองคุณภาพ  5)พัฒนาสังคมสุขภาวะเพื่อทุกชีวิต  6)พัฒนาสื่อสร้างสรรค์ เสริมภูมิคุ้มกันยุคดิจิทัล  7)ส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ไทย สู่ผู้นำสุขภาวะ  ซึ่งทั้งหมดนี้มีกระบวนการขับเคลื่อนสังคมที่ใหญ่มากในชุมชนท้องถิ่นและการรณรงค์ผ่านสื่อสารสาธารณะ

แต่ปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานที่ใหญ่หลวงมากของ สสส. และภาคีเครือข่ายในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา  คือการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังของสรรพากรแบบไม่เป็นธรรมและไม่ดูสภาพความเป็นจริง  สร้างผลกระทบและความเดือดร้อนไปทั่ว  กล่าวคือการตีความว่า “ผู้รับทุน”เป็น “ผู้รับจ้างทำของ” เสมอหนึ่งกิจการภาคธุรกิจ  บังคับให้ต้องจ่ายภาษีย้อนหลังแบบภาคธุรกิจ

ทั้งๆที่ความจริงเขาเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ลุกขึ้นมาช่วยทำงานส่วนรวมแบบอาสาสมัคร  ไม่ใช่องค์กรแสวงกำไร  และสสส.ก็ทำสัญญากับเขาในลักษณะ “ให้ทำการแทน”  เมื่อเสร็จสิ้นโครงการ มีเงินเหลือและเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ ก็ต้องส่งคืนทั้งหมด 

เรื่องนี้เป็นรูปธรรมหนึ่งของความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม และบั่นทอนกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมที่รุนแรงที่สุดประการหนึ่ง  ซึ่งถึงตอนนี้รัฐบาลคงแยกไม่ออกแล้วระหว่างองค์กรไม่แสวงกำไรกับองค์กรธุรกิจ  ปล่อยให้สรรพากรเรียกเก็บภาษีองค์กรทุกประเภทให้มากที่สุดท่าเดียว   คงป่วยการที่จะไปพูดถึงนโยบายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป และแผนพัฒนาประเทศ  ที่บรรจงเขียนกันไว้อย่างสวยหรู

เท่าที่ทราบ  สสส. ก็ได้พยายามสื่อสาร อธิบายสร้างความเข้าใจ และเจรจาหาทางออก  แต่ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้นและไม่สามารถดูแลปัญหาผลกระทบต่อผู้รับทุนปีละ 5,000 โครงการได้  ต้องปล่อยให้เผชิญกับปัญหากันไปตามยะถากรรม

ที่ร้ายไปยิ่งกว่านั้น  ประมวลรัษฎากร ฉบับล่าสุดที่ออกโดย สนช. ในช่วงโค้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562  ก็ยิ่งซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรงขึ้นไปอีก โดยกำหนดเหมารวมแบบตายตัวว่า  องค์กร (ไม่แสวงกำไร) ผู้รับทุนจาก สสส. จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 ของงบประมาณยอดรวมที่ได้รับการสนับสนุน  ผิดจากแต่ก่อนที่ให้เสียร้อยละ 10 จากงบประมาณเฉพาะส่วนบริหารจัดการเท่านั้น

หมายความว่า สมมติงบโครงการเป็น 100 บาท ในนี้เป็นค่าใช้จ่ายดำเนินกิจกรรม  80 บาท และค่าบริหารจัดการ 20 บาท  เดิมจะเสียภาษีส่วนแรกเป็น VAT ร้อยละ 7 คือ 5.60 บาท และส่วนที่สองอีกร้อยละ 10 คือ 2.00 บาท  รวมทั้งสิ้น 7.60 บาท  แต่ภายใต้ประมวลรัษฎากร ฉบับใหม่ จะต้องเสียรวมเป็นก้อนเดียว ในอัตราร้อยละ 10 คือ 10.00 บาท 

อย่างไรก็ตาม  เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรแสวงกำไร ที่มารับงานรับจ้างทำของ จะเสีย VAT ในอัตราร้อยละ 7 เพียงอย่างเดียว  คิดเป็น 7.00 บาทเท่านั้น  นับเป็นความเหลื่อมล้ำประการหนึ่ง

แต่เมื่อสถานการณ์เป็นถึงขั้นนี้แล้ว  ในความเห็นของผม  สสส. และภาคประชาสังคมอย่าได้ไปเสียเวลาเจรจาต่อรอง  หรือร้องความเห็นอกเห็นใจจากใครที่ไหนอีกเลย  ในช่วงนี้ควรยอมรับสภาพความเป็นจริงไปก่อนและหันกลับมาร่วมกันจัดการปัญหาของท่านกันเอง  โดยมุ่งไปข้างหน้าและช่วยเหลือเกื้อกูลกันจะดีกว่า.

ขอบคุณภาพปกจาก https://www.nationweekend.com