โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา
ได้ยินกิตติศัพท์ว่า “เครือข่ายประชาคมกาญจนบุรี” สามารถเปลี่ยนขยะเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง
ในหมู่สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ที่มีจำนวน 250 คน เท่าที่ผมได้รู้จักและพูดคุยแลกเปลี่ยนกันมา 6 เดือน ดูเหมือนว่าพวกเราส่วนใหญ่หรือเกือบทุกคนก็ว่าได้ ต่างเห็นตรงกันในประเด็นชุมชนเข้มแข็งคือคำตอบของการปฏิรูปประเทศไทยให้เกิดความยั่งยืนในทุกด้าน
ชุมชนเข้มแข็ง หมายความว่าชุมชนที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ สามารถปรับตัวและจัดการปัญหาต่างๆได้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังมีจิตใจเอื้ออาทร ช่วยเหลือและแบ่งปันแก่ผู้อื่น
เราทำงานส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งกันมานาน พบว่าหนทางไปสู่ชุมชนเข้มแข็งนั้นมีทางเข้าและวิถีทางที่หลากหลาย จึงเกิดประเด็นงานสวัสดิการชุมชน สิ่งแวดล้อมชุมชน ป่าชุมชน เศรษฐกิจชุมชน อุตสาหกรรมชุมชน ท่องเที่ยวชุมชน พลังงานชุมชน สุขภาวะชุมชน ธรรมนูญชุมชน ฯลฯ
มีหน่วยงานส่วนกลางที่สนใจในเรื่องชุมชนเข้มแข็งร่วม 50 หน่วยงาน ต่างคนต่างก็ช่วยกันคิดค้นนโยบายและนวัตกรรม องค์ความรู้ เทคโนโลยี ส่งลงไปสนับสนุนพื้นที่อย่างต่อเนื่องด้วยความปรารถนาดี ซึ่งก็สามารถช่วยเร่งกระบวนการฟื้นฟูชุมชนได้ไม่น้อย
ในช่วงรัฐบาลประยุทธ์(1) ได้มีนโยบายสานพลังประชารัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ภาคเอกชนขนาดให้พากันมาช่วยทำงานกับรัฐบาลกันขนานใหญ่ จนเป็นที่มาของการเกิดบริษัทประชารัฐรักสามัคคีขึ้นในทุกจังหวัด ในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ SE (Social Enterprise) ซึ่งเขามีกรอบในการส่งเสริมสนับสนุนการทำกิจการใน 3 ด้าน ได้แก่ การเกษตรกรรม การแปรรูปผลผลิตการเกษตร และท่องเที่ยวโดยชุมชน
ผมเพิ่งได้มีโอกาสได้ไปเยี่ยมดูงาน “เครือข่ายประชาคมจังหวัดกาญจนบุรี” อีกครั้ง เราทำงานร่วมกันมานาน 20 ปี ได้ยินกิตติศัพท์ว่าเขาได้ประดิษฐ์เครื่องจักรกลที่สามารถเปลี่ยนขยะพลาสติคเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ในราคาที่ถูกมากกว่าที่เคยรับรู้มา อีกทั้งยังเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน สสส. เสียด้วย
แกนนำภาคประชาสังคมที่นั่น เข้าร่วมขับเคลื่อนกับ “บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดกาญจนบุรี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด” อย่างไกลชิด เป็นกรรมการบริษัทด้วย พวกเขาบอกว่าเรื่องเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะพลาสติคเป็นประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ แต่ที่อยากให้ดูมากกว่า เป็นเรื่องของ “นิคมอุตสาหกรรมชุมชนที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานทางเลือก” ซึ่งมีลักษณะบูรณาการองค์ความรู้และการบริหารจัดการที่ก้าวหน้าไปกว่านั้น
ที่ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมือง ยุทธการ มากพันธุ์ ประธานมูลนิธิสถาบันพัฒนาพลังงานทดแทนแห่งเอเชียแปซิฟิก ปราชญ์ชาวบ้าน จ.กาญจนบุรี เล่าให้ฟังว่า “ ที่นี่ เราใช้แผงโซลาร์เซลล์ดึงพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เสริมระบบไฟฟ้าปกติ สูบน้ำบาดาลขึ้นมา ผ่านเครื่องกรองน้ำระบบอาร์โอ (Reverse Osmosis)
จากนั้นน้ำไปผลิตต่อเป็นน้ำแข็งสะอาดบริสุทธิ์ ส่งขายในเครือข่ายและผู้บริโภคทั่วไปในราคาที่ถูก ส่วนเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะพลาสติคก็เดินเครื่องทุกวัน น้ำมันที่ได้ส่งขายให้เครือข่ายวัดที่มีเมรุเผาศพตามประเพณี ในราคาที่ถูก เครื่องมืออุปกรณ์ทั้งหมดที่ใช้เป็นสิ่งที่ประดิษฐ์และพัฒนาขึ้นเอง”

โครงการพลังงานสร้างอาชีพแบบผสมผสาน ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและพลังงานทางเลือกกาญจนบุรี ที่ ต.ท่ามะขาม อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ใช้แนวคิดการเชื่อมโยงใช้พลังงานแบบผสมผสานในกระบวนการผลิตต่างๆ โดยใช้ทั้งพลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งพลังงานขยะ เพื่อมาบริหารจัดการในกิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์ฯ เช่น ห้องเย็นสำหรับการตัดแต่งผักปลอดสารพิษส่งโรงพยาบาล การใช้ตู้เย็นพลังงานร่วมแสงอาทิตย์ ร้านกาแฟพลังงานร่วมแสงอาทิตย์ โครงงานผลิตดินเผาใช้น้ำมันจากพลาสติก โครงงานผลิตน้ำแข็งจากพลังงานแสงอาทิตย์ โครงงานผลิตน้ำมันจากพลาสติก การแปลงเกษตรปลอดสารพิษโดยใช้น้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์
ทิวาพร ศรีวรกุล ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตรและสุขภาพ ได้ริเริ่มแนวคิดจัดการสร้างแหล่งเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเคมีมาเป็นเกษตรธรรมชาติ เน้นการวางแผนการใช้ชีวิตที่จะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น โดยเริ่มแรกจัดตั้งเป็นศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่ามะขามเมื่อปี 2547 เน้นแนวคิดพึ่งพาตนเอง ตามแนวพระราชดำริ มุ่งเน้นลดต้นทุนปัจจัยการผลิตโดยการทำปุ๋ยหมัก เลี้ยงสุกรหลุม การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น แปรรูปน้ำฟักข้าว เป็นต้น
ต่อมาเมื่อผลผลิตออกมาไม่สามารถแข่งขันกับพืชผลที่ผลิตจากแปลงที่ใช้สารเคมีและการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้ จึงปรับเปลี่ยนวิธีการมาเป็นการทำอาชีพแบบผสมผสานภายใต้ชื่อ “ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและพลังงานทางเลือก” เห็นความสำคัญของพลังงานที่เป็นตัวแปรหลักของต้นทุนการผลิตในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เล็งเห็นว่าต้องใช้พลังงานทดแทนมาผสมผสานกับพลังงานกระแสหลัก ลดความยุ่งยากทางเทคนิคและการจัดหาวัตถุดิบ ผลผลิตก็จะสามารถแข่งขันด้านราคาได้
“ พึ่งพลังงานภายนอกด้านเดียวก็มีต้นทุนไม่คงที่และมีแนวโน้มจะสูงขึ้น จึงมีแนวคิดการเชื่อมโยงพลังงานกับการดำเนินชีวิตเข้าด้วยกัน ใช้พลังงานผสมผสานหลายรูปแบบเพื่อบริหารจัดการต้นทุนที่เหมาะสม สร้างอาชีพสร้างรายได้ ให้แข่งขันในตลาดได้”
สำหรับผม เท่าที่ไปเห็นมา ที่นี่คือโมเดลต้นแบบของ “สถานีพลังงานทางเลือกและศูนย์เกษตร-อุตสาหกรรมชุมชน” ที่ควรได้รับการเผยแพร่และขยายผลครับ.
ขอบคุณภาพปกจาก https://www.nationweekend.com