“ประชาคมเพชรบูรณ์” มองเห็นและจับต้องได้

โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา

สภาพลเมืองเพชรบูรณ์ ยังคงดำรงอยู่และพร้อมที่จะมีบทบาทต่อการปฏิรูปการเมืองของประเทศ

เครือข่ายการทำงานสาธารณะในจังหวัดเพชรบูรณ์ที่มีเป้าหมายมุ่งสร้างชุมชนเข้มแข็ง-สังคมเข้มแข็ง มีการก่อตัวและขับเคลื่อนกันมาอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 20 ปี  นับเป็นภาคประชาสังคมของจังหวัดเพชรบูรณ์ที่สามารถมองเห็นและจับต้องได้ ซึ่งอาจเรียกรวมๆว่า “ประชาคมเพชรบูรณ์”

ย้อนกลับไปในเหตุการณ์น้ำท่วม-ดินโคลนถล่มในเขตอำเภอเขาค้อ ที่บ้านน้ำชุนปี 2546 และบ้านน้ำก้อในปีถัดมา ทะเลโคลนและท่อนซุงจำนวนมหาศาลไหลลงมาถล่มชุมชนหมู่บ้านที่อยู่ขวางเส้นทางแบบราบคาบ มีคนเสียชีวิตเกือบสองร้อยคน เป็นเหตุให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและส่วนราชการพากันร้องหา 

“ภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอไปอยู่เสียที่ไหน ทำไมไม่มาช่วยกัน”

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ภาคประชาสังคมของเพชรบูรณ์ปรากฏตัวและแสดงบทบาทร่วมทำงานกับภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม มีการจัดเวทีระดมความคิดและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและชุมชนอย่างกว้างขวาง จนนำมาซึ่งแผนงานโครงการในการสร้างโครงข่ายฝายกั้นน้ำบนเขาอย่างเป็นระบบ จำนวน 9 ลูก สามารถป้องกันอุทกภัยดินโคลนถล่มของจังหวัดเพชรบูรณ์ได้โดยพื้นฐาน

ประชาคมเพชรบูรณ์ ประกอบไปด้วยขบวนงานใหญ่ๆ 4 สาย ต่างคนต่างมีที่มาและพัฒนาการของตน กระทั่งมาสานพลังทำงานร่วมกันโดยมีกลไกสมัชชาสุขภาพจังหวัดและธรรมนูญตำบลน่าอยู่เป็นเครื่องมือกลาง ได้แก่

1. ขบวนองค์กรชุมชน

สายนี้มีจุดเริ่มจากโครงการฟื้นฟูชุมชน ของสำนักงานกองทุน SIF ในช่วงปี 2542-2545  เกิดเครือข่ายองค์กรชุมชนและนักพัฒนาเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนในโครงการ SIF Menu 3 และ 5 เป็นจำนวนประมาณ 80 ล้านบาท มีทั้งโครงการพัฒนาชุมชนและโครงการช่วยเหลือผู้ยากลำบากด้วยระบบกองทุนหมุนเวียนของภาคประชาชนที่เครือข่ายดำเนินการกันเอง

ต่อมา ปี 2545/2546 เมื่อมีการจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และรัฐบาลมีนโยบายกองทุนหมู่บ้านฯ รวมทั้งการใช้แนวทางรวมพลังประชารัฐสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของชุมชนและจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน เครือข่ายชุมชนเหล่านี้ก็ได้เข้าร่วมเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนภารกิจที่หลากหลายในระดับพื้นที่ของหน่วยงานระดับชาติทั้งสอง

ปัจจุบันมีองค์กรชุมชนเกิดขึ้นในจังหวัดเพชรบูรณ์อย่างหลากหลายและกระจายตัวอยู่ในตำบลหมู่บ้านต่างๆ จำนวน 5,478 องค์กร มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งประมาณ 800 คน และเครือข่ายพลเมืองอาสา 81 เครือข่าย

 ในปี 2550 มีกฎหมาย 2 ฉบับที่ออกมาในปีเดียวกัน พรบ.สภาองค์กรชุมชน และ พรบ.สภาพัฒนาการเมือง อันแรกสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเป็นผู้ดูแล ส่วนอันหลังมีสถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้ดูแล ภารกิจการขับเคลื่อนในพื้นที่เพชรบูรณ์ก็ตกมาอยู่กับเครือข่ายนี้

แม้ว่าสภาพัฒนาการเมืองในระดับชาติจะถูกยุบเลิกไปแล้วในปี 2560  แต่ สภาพลเมืองเพชรบูรณ์ ยังคงดำรงอยู่และพร้อมที่จะมีบทบาทต่อการปฏิรูปการเมืองของประเทศ

2. ขบวนชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่

ขบวนนี้ก่อตัวขึ้นมาจากสายนักวิชาการ ตั้งแต่ปี 2536-2537 ที่นักวิชาการด้านสาธารณสุข 6 จังหวัดของเขต 9 รวมตัวกันรณรงค์ป้องกัน HIV/AIDS ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ต่อมามีพัฒนาการมาเป็นประชาคมกลุ่มจังหวัดสี่แยกอินโดจีน อันได้แก่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก อุตรดิตถ์และแพร่

ปี 2542-2543 ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กับ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ได้ทำให้เกิดเวทีจัดทำวิสัยทัศน์จังหวัดสำหรับแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 9 ซึ่งทำให้เกิดการก่อรูปเป็นเครือข่ายประชาคมจังหวัดจากทั่วประเทศเป็นครั้งแรก มีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์เป็นแกนในพื้นที่

ปี 2546-2548 เมื่อเกิดโครงการความร่วมมือแบบไตรภาคีเพื่อดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ ระหว่าง สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สำนักงานกองทุน สสส. และเครือข่ายประชาคมจังหวัด 35 พื้นที่ ประชาคมเพชรบูรณ์ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นเครือข่ายนี้นี่เอง ที่ลุกขึ้นมาขานรับเสียงเรียกของผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ในเหตุการณ์พิบัติภัยธรรมชาติ “น้ำชุน-น้ำก้อ” ของอำเภอเขาค้อในปีนั้น

ภายหลังจบโครงการวิจัยชีวิตสาธารณะ มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาทำงานสาธารณะอย่างมั่นคงถาวรในนาม “มูลนิธิสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคมจังหวัดเพชรบูรณ์”

3. ขบวนสื่อมวลชนและสื่อชุมชนท้องถิ่น

เครือข่ายสื่อมวลชนในจังหวัดเพชรบูรณ์มีความหลากหลายและเป็นอิสระตามลักษณะของวิชาชีพ มีการจัดตั้งองค์กรดำเนินงานของตนอย่างเข้มแข็ง ทั้งในรูปกลุ่ม ชมรม สมาคมและสมาพันธ์

โดยทั่วไป สื่อมวลชนส่วนใหญ่ รวมทั้งในจังหวัดเพชรบูรณ์ มักจะสนใจในประเด็นการเมืองในระบบตัวแทน (Representative Democracy) มากกว่าเรื่องราวที่เรียกว่าประชาธิปไตยทางตรงของชุมชนท้องถิ่นในระดับฐากราก(Direct Democracy)  แต่สำหรับประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) ที่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ กลับสามารถสร้างพื้นที่กลางที่ดึงดูดความสนใจได้จากทุกฝ่าย

โดยเฉพาะที่เพชรบูรณ์ ทั้งเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่นและเครือข่ายนักสื่อสารชุมชน ต่างเข้ามาร่วมทำงานและมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องในเวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัด สภาพลเมืองเพชรบูรณ์ ศูนย์พัฒนาประชาธิปไตยจังหวัด และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน.

ขอบคุณภาพปกจาก https://www.nationweekend.com