โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา
จุดเด่นของผาปังโมเดล อยู่ที่การขับเคลื่อนกิจการชุมชนโดยใช้องค์ความรู้เทคโนโลยี
เมื่อประเทศมีกฎหมายและแผนปฏิรูปประเทศด้านต่างๆโดยครบถ้วนแล้วทั้ง 12 ด้าน กระทรวงและทุกหน่วยงานของรัฐต่างก็มีแผนงาน โครงการและงบประมาณสำหรับขับเคลื่อนการปฏิรูปจำนวนมหาศาลในแต่ละปี
ถ้าประชาชนอย่างเราๆอยากจะดูความสำเร็จของการปฏิรูป ผมขอแนะนำให้เพ่งดูไปที่ผลกระทบความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมใน 3 จุด คือ ที่ตัวหน่วยงาน ที่ตัวข้าราชการในองค์กรและที่ชุมชนท้องถิ่นในขอบเขตพื้นที่การปกครองหนึ่งๆครับ
ชุมชนผาปังเป็นตำบลขนาดเล็ก มีเนื้อที่เพียง 81 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขตชนบทป่าเขาของอำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง มี 5 หมู่บ้าน 3 วัด 1 โรงเรียน ประชากรพันกว่าคน ผู้สูงอายุมีมากถึงร้อยละ 47 (ปี 2562)

ในทางภูมิศาสตร์ที่นี่เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ มีป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นป่าเต็งรังผสมผสานกับป่าไผ่ ที่ราบเชิงเขาเป็นหินลูกรังปนทรายไม่สามารถทำการเกษตรได้ มีเทือกเขาเป็นเขาหินปูนบังลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เป็นพื้นที่เงาฝนขาดแคลนแหล่งน้ำและไม่มีระบบการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ชาวบ้านผาปังบางครอบครัวจึงหนีไปอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน
การปฏิรูปของตำบลผาปังเริ่มขึ้นในปี 2547 เมื่อ “รังสฤษฎ์ คุณชัยมัง” ลูกหลานชาวผาปังคนหนึ่งที่เป็นวิศวกร รับราชการอยู่ที่กระทรวงพลังงานส่วนกลาง ได้ตัดสินใจลาออกจากราชการกลับมาบุกเบิกแนวคิดด้านพลังงานชุมชน-พลังงานทางเลือกอยู่ที่บ้านของตน เขาได้ชักชวนกลุ่มคนรุ่นใหม่และพี่น้องเครือญาติในชุมชนที่ทำงานในต่างสาขามาร่วมกันพัฒนาแผ่นดินเกิด มีทั้งคนที่ประสบการณ์ด้านการการเกษตร วิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ การบริหาร การตลาด
เนื่องจากที่นี่ไม่มี อบต. เป็นของตนเอง เพราะเป็นตำบลขนาดเล็กมากและขาดโอกาสเพราะอยู่ห่างไกล พวกเขาจึงจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการตนเอง ในรูปแบบมูลนิธิและบริษัทในเครือ เป็นกลไกที่จะนำคนที่มีความรู้ที่หลากหลายมาช่วยกันคิดร่วมกันแก้ไขปัญหา เป็นการรวมพลังสามัคคี ออกแบบกระบวนการพัฒนาโดยประเมินรายละเอียดความคุ้มค่าในทุกกิจกรรม เพราะไม่มีงบประมาณมาจากที่ไหน ต้องหาเงินทุนมาดำเนินการด้วยลำแข้งของตนเอง
พวกเขาเรียกสิ่งที่ทำร่วมกันว่า “น่าทำ” (ไม่ใช่ “หน้าที่”) ไม่ใช่ “กิจกรรมชุมชน” ที่ทำจบเป็นโครงการๆไป แต่ต้องก้าวไปถึงขีดความสามารถที่ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ในรูปแบบ “กิจการชุมชน” ที่ยั่งยืน
เวลาผ่านไป 15 ปี ตำบลผาปังเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง สามารถก้าวผ่านจากการทำ”กิจกรรม” สู่การสร้าง “กิจการ” เป็นวิสาหกิจชุมชนที่ยั่งยืน ที่นี่ไม่มีปัญหายาเสพติดมาสิบปีแล้ว เป็นตำบลที่ปลอดจากไข้เลือดออกระดับแชมป์ของประเทศติดต่อกัน 18 ปี ไม่มีปัญหาเยาวชนเด็กแว้น ไม่มีการใช้สารเคมีทางการเกษตร ใช้องค์ความรู้และภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นยึดโยงด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
“ การสร้างคนให้มีความรู้ความสามารถเท่าเทียมกันในการประกอบสัมมาชีพ ให้คนจบ ป.4 ที่มีประสบการณ์อยู่ภายในชุมชนและคนมีความรู้ประสบการณ์หลากหลายสามารถคุยกันรู้เรื่องและทำงานร่วมกัน ต้องใช้กระบวนการศึกษาด้วยการปฏิบัติจริงมาเป็นกลไกขับเคลื่อนการเรียนรู้ จนสามารถต่อยอดเป็นกิจการ”
จุดเด่นของผาปังโมเดล อยู่ที่การขับเคลื่อนกิจกรรมและกิจการชุมชนโดยใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีเรื่องพลังงานทางเลือกมาพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างเศรษฐกิจชุมชน
ปัจจุบัน ชุมชนผาปัง ได้ยกระดับจากวิสาหกิจชุมชน (กิจการแบบทำเองใช้เอง-พึ่งตนเอง) เป็นวิสาหกิจหรือธุรกิจเพื่อสังคม ( SE – Social Enterprise) แล้ว 2 บริษัท คือ บริษัท ถ่านไผ่ผาปัง จำกัด ผลิตถ่านไผ่ประสิทธิภาพสูง (Activated Charcoal) และ บริษัท กรีน คอมมูนิตี้ จำกัด ให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ทำเรื่องการท่องเที่ยว เป็นกิจการที่แสวงกำไร แต่กำไรทั้งหมดคืนสู่สังคมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์
ที่นี่มีกระบวนการพัฒนาและประยุกต์ใช้พลังงานชุมชนหลากหลายรูปแบบมาก เขาเริ่มจากการนำไม้ไผ่ที่มีอยู่มากในพื้นที่ มาอบด้วยความร้อนสูงผลิตเป็นถ่านบริสุทธิ์ เป็นเชื้อเพลิงพลังงานประสิทธิภาพสูง จากนั้นนำถ่านไผ่บริสุทธิ์นี้ไปเปลี่ยนเป็นแก๊สสังเคราะห์ (Synthetic Gas)โดยผ่านเตาปฏิกรณ์แบบภูมิปัญญา เมื่อนำแก้สที่ได้ไปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันสูบน้ำเพื่อการเกษตร สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงกว่าร้อยละ 80
เมื่อนำแก๊สสังเคราะห์ไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชุมชนระบบไฮบริด Syngas-Solar Lead Carbon ขนาดกำลังการผลิต 3 – 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง ก็สามารถแก้ปัญหาไฟฟ้าติดๆดับๆที่เกิดขึ้นในตำบลผาปัง อันเนื่องมาจากเป็นชุมชนที่อยู่ปลายสายส่งได้
เมื่อนำแก๊สสังเคราะห์จากถ่านไผ่ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าชหุงต้ม สามารถแทนที่ LPG เป็นพลังงานความร้อนในระดับครัวเรือน ลดรายจ่าย ลดการนำเข้า สร้างรายได้จากการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ชุมชนยังสามารถทำวิจัยและพัฒนาเยื่อไผ่ผลิตแบมบูไฟเบอร์ ทอเสื้อผ้า ทำเฟอนิเจอร์ตกแต่งสถานที่ ตกแต่งโฮมสเตย์ที่มีไผ่เป็นอัตลักษณ์ นำถ่านบริสุทธิ์ไปผลิตยาและเครื่องเวชสำอาง ช่วยตอบโจทย์ปัจจัยความต้องการของชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากได้ทุกข้อ
ที่นี่คือต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง พลังงานทางเลือก พลังงานเพื่อชุมชน
ที่นี่เป็นตัวอย่างของการปฏิรูปประเทศในเชิงพื้นที่ ซึ่งภาคประชาชนลุกขึ้นมาลงเมื่อทำด้วยตนเอง เปลี่ยนวิธีคิดและวิธีบริหารจัดการ หน่วยงานรัฐและข้าราชการในพื้นที่ต้องปรับตัวตาม ทั้ง รพ.สต. โรงเรียน วัด ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน รวมไปถึง อบต.และข้าราชการในอำเภอ
ที่สำคัญ คือ เขาทำกันมาก่อนที่จะมีแผนปฏิรูปประเทศ ครับผม.

ขอบคุณภาพปกจาก https://www.nationweekend.com