โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา, 16 มกราคม 2563
จากข้อมูล กชช.2 ค ปี 2558 ทั่วประเทศยังคงมีหมู่บ้านที่ไม่มีไฟฟ้าใช้จำนวน 1,315 แห่ง
ในแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน มีกรอบแนวคิดสำคัญ 3 ประการ คือ
1) การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศจากการจัดหาพลังงาน
2) การเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน โดยสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย จัดหาพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพสำหรับประเทศไทย พัฒนาเทคโนโลยีรูปแบบต่างๆให้มีประสิทธิภาพ มีต้นทุนต่ำลง และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีพลังงานในอนาคต
3) การบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและบูรณาการและยกระดับธรรมาภิบาลในธุรกิจพลังงาน
กระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานหลักของประเทศ ที่มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน บริหารจัดการระบบ และขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเพื่อให้ประชาชนและทุกภาคส่วนมีพลังงานใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างทั่วถึง เพียงพอและมั่นคง
แม้ว่าเราจะมีหน่วยงานการไฟฟ้ามาร่วม 60 ปีแล้ว จากข้อมูล กชช.2 ค ปี 2558 ทั่วประเทศยังคงมีหมู่บ้านที่ไม่มีไฟฟ้าใช้จำนวน 1,315 แห่ง ชุมชนเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ตามเขาตามดอยและเกาะแก่งในท้องทะเล ไม่มีสายส่งกระแสไฟฟ้าไปถึง เช่น ในเขตพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก เชียงใหม่ เชียงราย กำแพงเพชร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ยโสธร มหาสารคาม ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ อุดรธานี บึงกาฬ นครราชสีมา กาญจนบุรี กระบี่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สุราษฎร์ธานี
กระทรวงพลังงานได้จับมือกับสมาคมพลังงานทดแทนเพื่อความยั่งยืน (สพย.) จัดทำต้นแบบ “ไมโครกริดชุมชน” ที่ชุมชนผาด่าน ชุมชนบ้านปงผางและชุมชนบ้านแม่สะแง๊ะ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ พร้อมระบบกักเก็บพลังงานประสิทธิภาพสูง พร้อมระบบเครื่องปั่นไฟสำรอง วางโครงข่ายสายไฟฟ้าไปสู่ครัวเรือนภายในชุมชน ให้มีไฟฟ้าใช้และมีความเป็นอยู่ดีขึ้น เป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ดำรงค์ จินะกาศ นายกเทศมนตรีตำบลทากาศเหนือ อำเภอแม่ทา เปิดเผยว่า “ชุมชนบ้านผาด่าน ชุมชนบ้านแม่สะแง๊ะ และชุมชนบ้านปงผาง จำนวน 365 ครัวเรือน มีปัญหาขาดแคลนระบบไฟฟ้า เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ทำให้ไม่สามารถดำเนินการติดตั้งเสาไฟฟ้าได้ ชาวบ้านจึงต้องจุดเทียนและจุดตะเกียงเพื่อให้แสงสว่างยามค่ำคืน การสัญจรลำบากเพราะไม่มีไฟถนน การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าช่วยให้ชาวชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทอผ้าในช่วงกลางคืน”
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร จากกระทรวงพลังงาน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ ปัจจุบันมีชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภูเขาทางภาคเหนือของประเทศ ซึ่งห่างไกลและเป็นถิ่นทุรกันดาร การคมนาคมไม่สะดวก เป็นพื้นที่ที่ยากต่อการวางระบบสาธารณูปโภค ขาดแคลนทั้งระบบไฟฟ้าและน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและการเกษตร จึงดำเนินการทดลองติดตั้งระบบต้นแบบไมโครกริด (Micro Grid) และวางระบบสายส่งไฟฟ้าชุมชนตามศักยภาพการใช้งานในแต่ละพื้นที่ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม”

โครงการฯได้ทำการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ แบบ Grid Interactive ขนาดกำลังติดตั้ง 102 กิโลวัตต์ พร้อมระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems) ขนาดความจุ 307.20 กิโลวัตต์-ชั่วโมง และเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้า พร้อมวางโครงข่ายไฟฟ้าชุมชน โคมไฟถนน และระบบสูบน้ำ ในแต่ละชุมชน ซึ่งช่วยทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าและน้ำเพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนั้นยังร่วมกับชุมชนวางระบบบริหารจัดการรายได้ในรูปแบบกองทุนพัฒนาชุมชน เพื่อนำมาใช้ดูแลบำรุงรักษาระบบในระยะยาวเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
“โครงการดังกล่าว เริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ปัจจุบันได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ พร้อมระบบกักเก็บพลังงานประสิทธิภาพสูง ถือเป็นต้นแบบการนำแบตเตอรี่ลิเทียม (Litium Battery) มาใช้งานร่วมกับแบตเตอรี่เหลว (Flow Battery) และเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแห่งแรกของประเทศ
อันจะนำไปสู่การเป็นต้นแบบไมโครกริดชุมชนที่มีความเสถียรภาพและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ชุมชนจะดึงไฟฟ้าจากโครงข่ายฯเข้าสู่ครัวเรือนผ่านมิเตอร์ไฟฟ้า ในขั้นต้นแต่ละครัวเรือนจะใช้ไฟฟ้าได้ไม่เกิน 500 วัตต์ ซึ่งไม่เกินกำลังผลิต เพียงพอต่อความต้องการใช้งานและเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนดั้งเดิมน้อยที่สุด”
ในขณะเดียวกัน ระบบไมโครกริด (Microgrids) ซึ่งเป็นโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กสำหรับพื้นที่เฉพาะเช่นนี้ สามารถพัฒนาขึ้นตามศักยภาพและฐานทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่ เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำและแหล่งพลังงานในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งจะช่วยทำให้พื้นที่เหล่านั้นมีความมั่นคงทางพลังงาน ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้
ปัจจุบันการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.หรือ PEA) ก็ได้เปิดใช้งานต้นแบบ “สมาร์ทไมโครกริด” (คือใช้ไฟฟ้าของชุมชนมาเสริมไฟฟ้าของการไฟฟ้า) แห่งแรกของประเทศไทยขึ้นแล้ว ณ บ้านขุนแปะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เมื่อปลายปี 2560 ที่นั่นเป็นระบบบริหารจัดการแหล่งผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน จากพลังน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ มีระบบกักเก็บพลังงานประสิทธิภาพสูงไว้ใช้ยามจำเป็น เพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้ชุมชนบ้านขุนแปะและพื้นที่ใกล้เคียงจำนวน 483 ครัวเรือน.
สาระน่ารู้ : ข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน (กชช. 2ค) คือ ข้อมูลหมู่บ้านที่แสดงให้เห็นสภาพทั่วไปและปัญหาของหมู่บ้านชนบทด้านต่าง ๆ เช่นโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ สภาพแรงงาน สุขภาวะ และอนามัย ความรู้และการศึกษา การมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งของชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยจากภัยพิบัติและความเสี่ยงในชุมชน เป็นข้อมูลที่จัดเก็บทุกหมู่บ้านในชนบทเป็นประจำทุก 2 ปี
ขอบคุณภาพหน้าปกจาก nationweekend.com