แก้จนแบบจีน ในบางมุมมอง

โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา, 23 มกราคม 2020

นโยบายของจีนไม่ใช้วิธีการแก้ปัญหาความยากจนแบบเหวี่ยงแห-หว่านโปรย คือ ไม่ใช้วิธีเหมือนกัน 

เสียงปรามาสและวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงดูหมิ่นถิ่นแคลนจีนคอมมิวนิสต์ ที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความยากจนคงซาลงไปมาก เมื่อสหประชาชาติออกมาให้การยอมรับว่าในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ.1978-2017) มีชาวจีนมากกว่า 740 ล้านคนสามารถหลุดพ้นจากความยากจนไปได้เรียบร้อยแล้ว

ธนาคารโลกได้กำหนดเส้นความยากจนอยู่ที่การมีรายได้เฉลี่ยวันละ 1.9 ดอลล่าร์หรือ 13.4 หยวน  ส่วนจีนตั้งมาตรฐานความยากจนของรัฐบาลเอาไว้ที่ 7.67 หยวน โดยมุ่งหน้าแก้ปัญหาและพัฒนาตามแนวทางของตนอย่างมุมานะ

ในขณะนักวิชาการและเอ็นจีโอในหลายประเทศยังคงถกเถียงเรื่องคำจำกัดความกันไม่จบ ว่าอย่างไรจึงเรียกว่าจน อย่างไรไม่ใช่  ฝ่ายหนึ่งว่าความยากจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง อีกฝ่ายว่าเป็นปัญหาในเชิงปัจเจก  รัฐบาลก็ละล้าละลัง ไม่มั่นใจ ไม่ลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจังเสียที  ความยากจนจึงถูกนำไปใช้เป็นประเด็นทางการเมืองสำหรับการหาเสียง สร้างประชานิยมกันแบบฉาบฉวย

มีคนกล่าวสรุปความเห็นที่น่ารับฟังเอาไว้ว่า การที่จีนต้องแก้ปัญหาความยากจนให้ได้ เป็นเพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนตระหนักดีว่าตนเกิดขึ้นและเข้าสู่อำนาจได้ก็เพราะคนยากจน ถ้าแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ในที่สุดความยากจนนี่แหละจะเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเสียเอง

กล่าวกันว่าในปีที่ประเทศได้รับการปลดปล่อย (ค.ศ.1949) จีนมีประชากรประมาณ  900 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นคนยากจนในสัดส่วนที่สูงมากถึงร้อยละ 97  จีนได้เริ่มแผนพัฒนาประเทศ(แผน 5 ปี)ก่อนเรา 1 แผน  ในเวลานี้ของเขาอยู่ในช่วงแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 13  ซึ่งเมื่อตอนเริ่มต้นแผนฉบับนี้ จีนมีคนยากจนอยู่ประมาณ 80 ล้านคน บัดนี้มาถึงช่วงปลายแผนแล้ว จีนเหลือคนยากจนเพียงแค่ 6 ล้านคนเท่านั้น

ความฝันที่ยิ่งใหญ่ของคนจีนภายใต้การนำพาของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน  เมื่อครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน( ค.ศ. 2020) ปัญหาความยากจนจะหมดไปจากประเทศ  จีนจะเป็นสังคม“เสี่ยวคัง” คือคนจีนอยู่ดีกินดีกันถ้วนหน้า  และเมื่อครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งประเทศ (ค.ศ. 2050) สาธารณรัฐประชาชนจีนจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างแท้จริง

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562  คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำของวุฒิสภา นำโดยสังศิต พิริยะรังสรรค์, วีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์, ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ, พลเดช ปิ่นประทีป และคำนูญ สิทธิสมาน  ได้เข้าเยี่ยมคารวะและขอคำแนะนำการทำงานจากท่านองคมนตรี นายแพทย์เกษม วัฒนชัย  ซึ่งทราบว่าท่านได้พาคณะไปศึกษาดูงานแก้ปัญหาความยากจนของจีนมาแล้วหลายรอบและนี่ก็เพิ่งจะกลับมา  ท่านจึงได้กรุณาเล่าถึงวิธีการแก้ปัญหาความยากจนของจีนอย่างออกรสออกชาติ

ท่านบอกว่า จีนเขามีนโยบายที่เข้มแข็งจริงจัง เป็นเอกภาพ ปฏิบัตินิยมและมีความต่อเนื่องในทุกเรื่อง ซึ่งคงหมายรวมทั้งการแก้ความยากจน ทุจริตคอร์รัปชั่น และปัญหาสิ่งแวดล้อม กล่าวคือทั้งพรรคและรัฐบาลต่างเอาจริง มีการตั้งสภาแห่งชาติขึ้นมาดูแลการแก้ปัญหาความยากจน

หลักคิดประการหนึ่งคือ จีนเดินแนวทางใช้การเกษตรในการแก้ปัญหาความยากจนของประชาชน  เขาใช้การอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่อการแข่งขันกับประเทศอื่น และที่สำคัญต้องมีจุดยืนที่จะต้องมารับใช้การเกษตรเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในประเทศด้วย  

เขาใช้คำว่า”บรรเทาปัญหาความยากจน” (Alleviation) แทนการ “ขจัดปัญหา” (Eradication) เริ่มจากเอาสถานการณ์ที่เป็นจริงในพื้นที่เป็นตัวตั้ง ไม่แก้ปัญหาด้วยการท่องตำราฝรั่งและหมดเวลาไปกับการถกเถียงโดยไม่ลงมือทำ

นโยบายของจีนไม่ใช้วิธีการแก้ปัญหาความยากจนแบบเหวี่ยงแห-หว่านโปรย  คือไม่ใช้วิธีเหมือนกัน ให้งบประมาณเท่าๆกัน ไม่ต้องกลัวถูกหาว่าลำเอียง

เขามุ่งที่จะให้การช่วยเหลือคนจนแบบแม่นยำ ตรงจุด ตรงกลุ่ม แต่เขาก็ไม่แก้ปัญหาแบบปัจเจกชนรายคน  เขาเน้นไปที่การจัดให้มีพี่เลี้ยงไปช่วยแก้ปัญหาเป็นราย “ครัวเรือน” และราย “ชุมชน” ช่วยดูแลกันจนตลอดรอดฝั่ง

ในระดับครัวเรือน หมายถึงสมาชิกในครอบครัวทั้งหมดเป็นหน่วยปฏบัติการ แต่ละคนมีศักยภาพ มีความรู้มีทักษะประสบการณ์ชำนาญในเรื่องใด มีที่ดินกี่โหม่ว คุณภาพเป็นอย่างไร หรือมีทรัพยากรสิ่งใดก็จะถูกนำมาสู่การวิเคราะห์เป็นฐานทุนของแก้ปัญหา  โดยตั้งเป้าหมายมาตรฐานขั้นต่ำของครอบครัวที่จะพ้นความยากจนไว้ที่ปัจจัย 5 อย่าง ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และงานอาชีพ

ในระดับชุมชน หมายถึงกลุ่มสมาชิกในชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดติดกัน  เขาตั้งเป้าหมายพื้นฐานขั้นต่ำของชุมชนเกษตรกรรมใน 5 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่

1) การมีทรัพยากรที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ถ้าดินเสื่อมสภาพก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเข้าไปช่วยฟื้นฟูสภาพดิน ไม่ปล่อยให้เกษตรกรต้องอยู่ตามยถากรรม

2) การมีทรัพยากรน้ำตลอดทั้งปี ที่ไหนไม่มีเจ้าหน้าที่ก็ต้องหาหนทางแก้ไขให้ชาวบ้านจนได้

3) ต้องตัดสินใจให้ได้อย่างมั่นใจว่าจะปลูกอะไร จะเลี้ยงอะไร เพื่อการเดินหน้า 

4) มีความรู้ในเรื่องที่จะปลูกหรือที่จะเลี้ยง ถ้าไม่มีต้องช่วยกันหาความรู้ให้เพียงพอ

5) ต้องรู้ว่าตลาดอยู่ที่ไหน ต้องมั่นใจว่าขายได้ ไม่ไปตายเอาดาบหน้า

จีนมีนโยบายให้สมาชิกพรรค เจ้าหน้าที่รัฐ และอาสามัครแต่ละคนลงไปช่วยชาวบ้านที่ยากจนแบบประกบเป็นรายครัวเรือน ให้ภาควิชาในมหาวิทยาลัยต่างๆลงไปเกาะติดฝังตัวในชุมชน มีออฟฟิศมีผู้จัดการรับผิดชอบช่วยเหลือชุมชนยากจนแบบ 1 ภาควิชา 1 ชุมชน ทั้งหมดนี้ทำงานแบบจิตอาสา มีประมาณ 2 ล้านคน

เมื่อรู้แน่ชัดแล้วว่าจะปลูกอะไร เลี้ยงอะไรบนฐานทรัพยากรของครอบครัวและชุมชน เจ้าหน้าที่และอาสามัครยังต้องช่วยชาวบ้านทำแบบแผนธุรกิจ(business model)และทำโครงการเสนอขอทุนสนับสนุนจากรัฐบาลโดยตรง ไม่ปล่อยให้ชาวบ้านต้องงมโข่งเขียนโครงการกันเองและตากหน้าไปขอสินเชื่อจากธนาคารเอาเอง

กล่าวกันว่ารัฐบาลได้จัดสรรกองทุนออกเป็นหลายประเภท เพื่อรองรับโครงการที่หลากหลาย ซึ่งปรากฏว่ามีแฟ้มโครงการแก้ปัญหาความยากจนทั้งในระดับครัวเรือนและระดับชุมชน รวมทั้งสิ้น 89 ล้านโครงการ

 เมื่อได้ฟังท่านองคมนตรีเล่าเรื่องราวการแก้ปัญหาความยากจนจากเมืองจีน แม้เพียงช่วงสั้นๆก็ได้แง่คิดที่เป็นประโยชน์หลายประการ  ที่สำคัญทำให้ผมนึกถึงนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาที่ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า

จะจัดตั้งสำนักงานบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาความยากจนขึ้นมาเป็นการเฉพาะ และจะตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (Social Investment Fund – SIF) ขึ้นมาเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา”

แต่ทว่าเสียงนั้นยังเงียบหายไปในสายลม เล่นเอาสมาชิกวุฒิสภาหลายท่านเริ่มทวงถามกันบ้างประปราย 

เชื่อว่าอีกไม่นานเรื่องนี้คงมีการตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีกันกลางสภาแน่ครับ .

ขอบคุณภาพหน้าปกจาก nationweekend.com