กอช. เป้าหมายยังแสนไกล

โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา, 4 มกราคม 2563

ผ่านมา 4 ปี เพิ่งมีสมาชิกแค่ 610,000 คนเท่านั้น เป้าหมายปลายทางยังอยู่อีกแสนไกล

ในช่วงปี 2550 เมื่อผมเข้าไปดูแลงานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตอนนั้นเราจับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรของประเทศและเล็งเห็นผลกระทบของสังคมสูงวัยที่ใกล้เข้ามา จึงเริ่มคิดถึงและพัฒนาแนวคิดกองทุนการออมเพื่อวัยเกษียณ ในฐานะที่จะเป็นกลไกสวัสดิการสำหรับรองรับปัญหาสังคมขนาดใหญ่เรื่องนี้

จนเวลาต่อมาได้เกิดเป็น พรบ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554  แต่โชคไม่ดีเท่าไร การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระหว่างนั้นได้ทำให้กฎหมายถูกชะลอไว้ ไม่สามารถเปิดรับสมาชิกได้ตามระยะเวลาที่กำหนด จนกระทั่งเวลาผ่านไปและมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอีกรอบ จึงมีการจัดทําระเบียบกติกาย่อยประกอบพระราชบัญญัติเพื่อให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติสามารถดําเนินการได้ จนกระทั่งมาเริ่มรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติได้เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2558 นี่เอง

กองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก และเพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนแก่สมาชิกเมื่อสิ้นสมาชิกภาพ จึงสามารถกล่าวได้ว่านี่เป็นครั้งแรกที่ระบบบำนาญของประเทศไทยมีกรอบการดำเนินงานครบถ้วนรองรับประชาชนทุกภาคส่วน สามารถลดความเหลื่อมล้ำของสังคมในมิติด้านการออมเพื่อวัยเกษียณได้ หากคนไทยมีการออมต่อเนื่องยาวนานและเป็นระบบเช่นนี้ก็จะสามารถมีความมั่นใจได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในวัยชรา 

จากรายงานประจำปี 2561 ของกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) ตามที่ได้เสนอต่อวุฒิสภา ทำให้ทราบว่ากลุ่มประชากรเป้าหมายตามภารกิจขององค์กร ที่ต้องการให้เข้ามาเป็นสมาชิกและรับประโยชน์จาก กอช. ได้แก่ประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่มีสวัสดิการจากรัฐ จำนวนกว่า 21 ล้านคน  

แต่ทว่าเวลาผ่านมาแล้ว 4 ปี เพิ่งมีสมาชิกเพียงแค่ 610,000 คนเท่านั้น เป้าหมายปลายทางยังอยู่อีกแสนไกล

กอช. เป็นหน่วยงานใหม่ที่อยู่ในกำกับของกระทรวงการคลัง เป็นหน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่ราชการ มีความเป็นอิสระภายใต้บอร์ดหรือคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติเป็นกลไกนโยบายสูงสุด  กอช.เป็นหน่วยงานขนาดเล็ก มีอัตรากำลัง 75 คน งบประมาณปี 2561 ที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาล 144 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายการขยายสมาชิก 700,000 คน

ที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ได้พิจารณารายงานประจำปีของ กอช.และให้ข้อเสนอแนะการดำเนินงานในหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ  

เรื่องการสร้างความรับรู้ ความรู้ความเข้าใจและการเชิญชวนประชาชนกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาเป็นสมาชิกในระบบการออมเพื่อวัยเกษียณ ควรต้องถือเป็นภารกิจเร่งด่วนและต้องทำงานในเชิงรุกมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะปี 2561 มีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นเพียง 64,000 คนเท่านั้น

ในอีกด้านหนึ่ง กอช. มีภารกิจในการบริหารเงินทุนจากการออมสะสมของสมาชิกอย่างระมัดระวัง ขณะนี้ กอช.มีมูลค่าเงินลงทุนในพอร์ตเงินสะสมและเงินสมทบของสมาชิกจำนวน 3,900 ล้านบาท ซึ่งเงินกองทุนดังกล่าวได้นำไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 84.4 และลงทุนในหลักทรัพย์อื่นคิดเป็นร้อยละ 15.6  ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนสุทธิจากการลงทุนของ กอช. คิดเป็นร้อยละ 1.42 ต่อปี

ความเสี่ยงในการบริหารเงินกองทุน ยังมาจากความผันผวนในเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศจีน แนวโน้มการชะลอขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ และแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลก นอกจากนั้น กอช.ยังต้องแสวงหาแหล่งลงทุนที่เกิดกำไรและสู้กับภาวะเงินเฟ้ออีกด้วย   

ในส่วนของรายงานการเงิน กอช.มีสินทรัพย์จำนวน 5,139 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.8 จากปี 2560  โดยในปี 2561 มีรายได้จำนวน 98.3 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 127.9 ล้านบาท ทำให้มีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 29.5 ล้านบาท และเมื่อรวมขาดทุนสุทธิจากการลงทุนจำนวน 32.4 ล้านบาท ทำให้ กอช. ขาดทุนสุทธิในปี 2561 จำนวน 61.98 ล้านบาท  

กอช. ได้สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการประชาสัมพันธ์และการเข้าถึงประชาชน โดยมีการทำบันทึกความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย มหาวิทยาลัยศรีปทุม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่สามารถสร้างสัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร

กอช. ควรพยายามเพิ่มช่องทางการรับสมัครสมาชิกและการจ่ายเงินสมทบของสมาชิก เช่น เพิ่มช่องทางให้สมัครสมาชิกผ่านสำนักงานคลังจังหวัด เคาน์เตอร์เซอร์วิสและใช้แอปพลิเคชั่น  ควรเพิ่มช่องทางการส่งเงินสะสมโดยผ่านการหักบัญชีอัตโนมัติ ผ่านระบบพร้อมเพย์  

กอช. ควรมุ่งกลุ่มเป้าหมายไปที่เด็ก เยาวชนและประชาชนที่อยู่ห่างไกลให้มากขึ้น ตลอดจนเพิ่มการสื่อสารและเพิ่มช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงกองทุนการออมได้ง่าย พร้อมกับเพิ่มสัดส่วนเงินสมทบจากรัฐให้มากขึ้นเป็น 2 เท่า เพื่อจูงใจให้ประชนออมเงินและมีวินัยทางการเงิน  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวและเป็นประโยชน์มากกว่าการที่รัฐแจกเพียงเงินสงเคราะห์  

นอกจากนี้ กอช. ยังควรส่งเสริมให้เกิดการออมรองรับสังคมสูงวัย เพื่อเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต รวมถึงการแก้กฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการออมมากขึ้น เช่นอาจแก้กฎหมายบางอย่างเพื่อให้เกิดการออมภาคบังคับ เป็นต้น

สมาชิกวุฒิสภาบางท่านยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงการงบประมาณดำเนินงานในแต่ละปีที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากการดำเนินงานของ กอช. อาศัยการสนับสนุนงบประมาณหลักจากรัฐบาล ต่างจากกองทุนอื่นที่มีรายได้จากช่องทางต่าง ๆ ควบคู่ไปด้วย

กอช.จะต้องให้ความสำคัญกับประมาณการงบประมาณที่จะใช้ และต้องมองหาแหล่งลงทุนที่เกิดผลกำไร สู้กับภาวะเงินเฟ้อให้ได้ เพื่อทำให้การออมของประชาชนในระบบของ กอช. เกิดประโยชน์สมตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างแท้จริง

ขอบคุณรูปปกจาก nationweekend.com