จริงหรือ ปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดิน

โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา, 7 กุมภาพันธ์ 2563

ปัญหาปฏิรูประบบราชการที่น่าปวดหัวมากประการหนึ่ง  คือเรื่องกำลังคนภาครัฐและสัดส่วนงบประมาณ

เคยคุยกับกรรมการที่จัดทำแผนปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ  ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวว่าการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินเป็นหัวใจของการปฏิรูปทุกด้าน  โดยเฉพาะถ้าระบบราชการยังคงเป็นแบบเดิม ต่อให้เขียนแผนปฏิรูปที่ดีเลิศเพียงไร ก็ไร้ความหมาย

ในฐานะของทีมโฆษกคณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูป และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ (ตสร.) ของวุฒิสภา  ผมได้มีโอกาสนั่งสนทนากับประธานกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน  พลเอกอกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์  ซักถามและแลกเปลี่ยนถึงเป้าหมายรูปธรรมและแนวทางการติดตามการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินในชุดของท่าน

ก่อนอื่นต้องพาไปสำรวจแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เขาระบุประเด็นที่ให้ความสำคัญไว้ ๖ ประการ ได้แก่ การสร้างความพึงพอใจของประชาชน, การพัฒนาบริการในระบบรัฐบาลอิเล็คทรอนิค, การบริการประชาชนด้วยความรวดเร็วสะดวกสบาย, การปรับสมดุลภาครัฐให้เอกชนและประชาสังคมมีส่วนร่วม, การบริหารจัดการการเงินการคลัง, และการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ.

ส่วนในแผนปฏิรูปประเทศ ก็มีประเด็นที่สอดคล้องกัน ได้แก่ บริการภาครัฐสะดวกรวดเร็ว, ระบบข้อมูลข่าวสารเชื่อมโยงถึงกัน, โครงสร้างหน่วยราชการกระทัดรัด ลดความเป็นนิติบุคคลเอกเทศ, กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น, ลดกำลังคนภาครัฐ ดึงดูดคนดีมีความสามารถไว้ในระบบราชการ และการจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใส.

เราต่างตระหนักดีว่า  การดำเนินการขับเคลื่อนตามแผนแม่บทข้างต้นเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลและส่วนราชการ  ส่วน ส.ว.มีหน้าที่เพียงแค่ติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดให้เป็นไปตามนั้น   เมื่อถามว่ามีประเด็นรูปธรรมอะไรบ้างที่กรรมาธิการชุดของท่านจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ  ได้คำตอบว่ามี ๔ เรื่อง

  • ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบรัฐบาลอิเล็คทรอนิค

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน  หน่วยงานภาครัฐทุกระดับมีความตื่นตัวและกำลังดำเนินการกันอย่างกว้างขวาง 

ด้านหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์การทำงานในยุคดิจิทัลเป็นแรงกดดันใหญ่ที่ภาคราชการ “ไม่ปรับไม่ได้”  ประชาชนต้องการเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ รวมทั้งตรวจสอบความโปร่งใส  รัฐต้องสร้างความเชื่อถือไว้วางใจจากสังคมในเรื่องต่างๆ

อีกด้านหนึ่ง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการทำงานของบุคลากรรัฐ ทั้งในระดับปฏิบัติการ งานวิชาการ งานบริหารจัดการและงานนโยบาย

ท่านว่าการติดตามในเรื่องนี้สามารถดูการเปลี่ยนแปลงได้ที่ระดับหน่วยงาน องค์กรของรัฐ ทั้งในระดับพื้นที่และส่วนกลาง  ท่านเชื่อว่าการเร่งรัดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ จะเป็นกุญแจที่จะไขปมไปสู่การปฏิรูประบบราชการในเรื่องอื่นๆต่อไป

ในเรื่องนี้ สำนักงานรัฐบาลดิจิทัลมีการติดตามประเมินและรายงานความก้าวหน้าทุกปี ทั้งในด้านระดับความพร้อมของหน่วนงานรัฐ คะแนนการบริการออนไลน์ ทั้งระดับกรมและจังหวัด อันดับความพร้อมของประเทศ ตัวชี้วัดพัฒนาการ ความพยายามในการส่งเสริมสนับสนุน ตัวชี้วัดความง่ายในการทำธุรกิจ การแข่งขันทางธุรกิจ และความโปร่งใส

ตาราง สรุปสถานภาพความก้าวหน้าและศักยภาพด้านรัฐบาลอิเล็คทรอนิคของประเทศ จากรายงานของสำนักงานรัฐบาลดิจิทัล
  • ประเด็นการลดขั้นตอนบริการประชาชนในเรื่องการอนุมัติอนุญาต

ในชีวิตประจำวันของประชาชน  มีเรื่องที่ต้องไปขอรับบริการจากหน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเกิด  แจ้งตาย  แจ้งย้ายที่อยู่  สร้างบ้าน  ต่อเติมอาคาร  เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว  ขอใช้ไฟฟ้า น้ำประปา  รวมไปถึงการขออนุญาตลงทุน  การขออนุมัติสัมปทาน  การประมูล  การประกวดราคาซื้อขายสินค้าและบริการ ฯลฯ ที่ผ่านมาเรื่องเหล่านี้ประชาชนต้องเสียเวลามากจนน่าเบื่อ  กระทบต่อการทำมาหากิน 

ขณะนี้ส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง ได้มีการทบทวนกระบวนการบริหารจัดการกันอย่างจริงจังในส่วนของตน  เพื่อลดขั้นตอนการขออนุมัติอนุญาต  ให้ความสะดวกแก่ประชาชน ท่านบอกว่าเวลานี้มีการปรับโฉมการบริการไปแล้ว 30-40 รายการ

เรื่องนี้ก็เช่นกัน  เราสามารถติดตามผลสัมฤทธิ์การปฏิรูปได้เป็นรายกิจกรรมบริการ หรือรายหน่วยงาน รายองค์กร รายกระทรวง  โดยนำตัวอย่างที่ดีมาเป็นกรณีศึกษารูปธรรมและสร้างแรงบันดาลใจ

  • ประเด็นการลดกำลังคนภาครัฐและการกระจายอำนาจ

ปัญหาปฏิรูประบบราชการที่น่าปวดหัวมากประการหนึ่ง  คือเรื่องกำลังคนภาครัฐและสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายด้านบุคลากรที่เพิ่มขึ้นเกินเพดานเรื่อยมาจนเสียสมดุล  ทั้งๆที่รัฐบาลมีนโยบายควบคุมอัตรากำลังคนภาครัฐมาตั้งแต่ยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ระบบราชการที่ยังคงรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจและบริหารจัดการในไว้ที่ส่วนกลางเป็นสาเหตุสำคัญในเรื่องนี้  ซึ่งตลอด ๒๐ ปีที่ผ่าน มาได้พิสูจน์แล้วว่าการกระจายอำนาจแบบไทยๆนั้นเป็นเพียงในเชิงวาทกรรม  เพราะกระทรวงต่างๆยังคงหวงแหน ไม่ยอมปล่อยให้หน่วยงานย่อยๆของตนไปอยู่กับท้องถิ่นด้วยข้ออ้างสารพัด  คงมอบให้แต่ภารกิจ ไม่ให้เงิน ไม่ให้คน ไม่ให้หน่วยปฏิบัติ  ในขณะเดียวกัน ตัวเองก็ขออัตรากำลังเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาการให้บริการประชาชนที่ไม่ทั่วถึง ไร้ประสิทธิภาพ 

การติดตามการปฏิรูปในเรื่องนี้  สามารถดูผลการเปลี่ยนแปลงด้านกำลังคนเปรียบเทียบกันได้ เป็นรายกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานรัฐ

  • ประเด็นการกระจายบทบาท สู่ภาคธุรกิจและประชาสังคม

เมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน  การสร้างระบบราชการขึ้นมาเพื่อดูแลปัญหาบ้านเมืองและทุกข์สุขของประชาชน สามารถนำพาการพัฒนาประเทศให้อยู่รอดและเจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ 

แต่ปัจจุบันในเมื่อสังคมมีความเข้มแข็งเติบโตมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาที่สลับซับซ้อนมากเกินกว่าที่จะดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ  รัฐธรรมนูญในฉบับหลังๆจึงได้กำหนดเอาไว้เป็นเจตนารมณ์ของชาติว่า สิ่งใดที่ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมสามารถทำได้ รัฐไม่พึงไปรวบเข้ามาไว้หรือไปทำแข่ง  ซึ่งก็เป็นหลักคิดอันเดียวกับการกระจายอำนาจ กระจายบทบาทให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั่นเอง

ในเรื่องนี้  ประชาชนอย่างเราสามารถติดตามได้ว่า มีรูปธรรมการกระจายบทบาทภารกิจอะไรบ้าง  ดูได้เป็นรายกระทรวง รายหน่วยงานและรายพื้นที่ครับ.

ขอบคุณภาพหน้าปกจาก nationweekend.com