จะไปทางไหน ? เทคโนโลยีสารสนเทศ สื่อสาร โทรคมนาคม

โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา, 14 กุมภาพันธ์ 2563

ประชาชนมีสิทธิในการสื่อสารและแสดงออก  สื่อธุรกิจยังมีปัญหาเชิงจริยธรรม  มีการโฆษณาและการส่งข่าวปลอม

ถ้าไม่นับกระแสการเมืองไทยรายวัน ที่ร้อนรุ่มและมีกลิ่นฉุนรุนแรง โดยเฉพะในฟากฝั่งของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว  กระแสการเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโทรคมนาคม ก็น่าจะส่งผลกระทบกระเทือนเข้ามาในชีวิตและสังคมของเรามากที่สุดเรื่องหนึ่ง

ในการสัมมนาวิชาการสำหรับสมาชิกวุฒิสภา เรื่องการเสริมสร้างความพร้อมในการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ  เมื่อเดือนตุลาคม 2562  ผู้แทนจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ  ได้ชี้ประเด็นสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในด้านนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

ท่านกล่าวว่า เราเข้ามาอยู่ในยุคที่ทุกคนในสังคมสามารถที่จะเป็นสื่อได้  มีเทคโนโลยีไร้สายอยู่ในมือถือ  ทุกสื่อหลอมรวม  เด็กรุ่นใหม่ไม่ดูทีวีกันแล้ว  ประชาชนมีสิทธิในการสื่อสารและแสดงออก  สื่อธุรกิจยังมีปัญหาเชิงจริยธรรม  มีการโฆษณาและการส่งข่าวปลอม

ในยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง เราอยู่ในยุคสงครามข้อมูลข่าวสาร (Information Warfare)  ในยุทธศาสตร์ด้านการแข่งขัน เราอยู่ในยุคที่ต้องใช้เทคโนโลยี  ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนตร์จะมาทดแทนเรา  มนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะสื่อสารกับเทคโนโลยี  ต้องใช้data  ต้องใช้ QR Code  ต้องแข่งขัน  ส่วนในยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ  หน่วยงานราชการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้แก่ประชาชน

สำหรับประเด็นการปฏิรูปที่เป็นระดับเรือธง  ท่านบอกว่ามี ๖ เรื่องที่สำคัญ  คือ  การรู้เท่าทันสื่อ  มาตรฐานจริยธรรมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ  การปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล  การกำกับดูแลสื่อออนไลน์  การบริหารจัดการความปลอดภัยทางไซเบอร์  และการบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐ

ในการทำงานของวุฒิสภาชุดปัจจุบัน  เรามีกลไกหนึ่งที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลในเรื่องนี้โดยตรง คือ คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม.   

ในตอนสายวันหนึ่งเมื่อก่อนสิ้นปี  ผมมีโอกาสได้นั่งสนทนาประสา ส.ว. กับพลเอกอนันตพร  กาญจนรัตน์  ท่านเป็นประธานกรรมาธิการชุดนี้  

อดีตของท่านในสมัยรัฐบาลที่แล้ว  ท่านเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มาก่อน  จึงมีประสบการณ์ที่หลากหลายและแนวคิดกว้างขวางลุ่มลึก

เพื่อเป็นการปูพื้นความเข้าใจสำหรับท่านผู้อ่าน  ขอเรียนว่าในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ  เขาได้กำหนดกรอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ  โดยมุ่งให้มีเสถียรภาพ ทันสมัย ครอบคลุมทุกพื้นที่ และสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง  สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ  รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต

โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวประกอบด้วย เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การแพร่ภาพกระจายเสียง  พื้นที่ทดลองทดสอบรองรับการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล  บุคลากรดิจิทัล  รวมถึงกฎหมาย กฎระเบียบและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับแนวทางการพัฒนา ตามที่ระบุไว้ในแผนแม่บท  มี ๔ ประการ  โดยสรุปได้แก่

๑) พัฒนาโครงข่ายสื่อสาร

พัฒนา โครงข่ายสื่อสารหลักภายในประเทศ และโครงข่ายบรอดแบรนด์ความเร็วสูง  ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ มีเสถียรภาพและสอดรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง

 ๒) ส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

ส่งเสริมให้มีการลงทุนและร่วมใช้ ทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ  ทั้งในส่วนของภาคพื้นดิน  เคเบิลใต้น้ำและระบบดาวเทียมเชื่อมโยง  ให้มีความจุเพียงพอและมีระบบโครงข่ายสำรองเพื่อให้สามารถบริการสื่อสารระหว่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง มีเสถียรภาพ

๓) พัฒนาระบบนิเวศด้านดิจิทัล

สนับสนุนให้มีการพัฒนา ระบบนิเวศที่เหมาะสม  ทั้งในส่วนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่ได้มาตรฐานสากล บุคลากรดิจิทัล สิ่งอำนวยความสะดวก และการ ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

๔) คุ้มครองสิทธิและข้อมูลส่วนบุคคล

กำหนดมาตรการและแนวปฏิบัติสำหรับผู้ให้บริการใน การคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้รับบริการ  ตลอดจนจัดให้มีมาตรการเฝ้าระวังและรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ที่เหมาะสม ตามมาตรฐานสากล

ต่อคำถามที่ว่า ในรอบปีแรกนี้ กรรมธิการชุดของท่านจะให้ความสนใจในเรื่องใดเป็นพิเศษ และประชาชนจะได้รับประโยชน์อะไรจากเรื่องเหล่านั้น 

ท่านบอกว่า  กรรมาธิการจะจับประเด็นการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมที่ประชาชนได้ประโยชน์โดยตรงและสามารถจับต้องได้  โดยจะติดตามเร่งรัดให้เกิดผลสำเร็จ  มี ๓ เรื่อง  คือ  ๑)อินเตอร์เน็ทชุมชน   ๒) โทรศัพท์สายด่วนหมายเลขเดียว  ๓) การประมูล 5G

ในเรื่องแรก  กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำลังสานต่อการติดตั้งอินเตอร์เน็ทชุมชนให้ครอบคลุมครบถ้วน และ สร้างประโยชน์จากโครงการเน็ตประชารัฐ  24,700 หมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และสำนักนายกรัฐมนตรี บูรณาการทำงาน  ส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน มีสามารถในการค้าขายสินค้าออนไลน์ (e-commerce) และทำการต่อยอดขยายโครงข่ายเน็ตประชารัฐไปยังโรงเรียน และโรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อให้เกิดบริการออนไลน์ ด้านการศึกษา และสาธารณสุข

ส่วนสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) ริเริ่มโครงการการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน และโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล 15,584 หมู่บ้าน  ซึ่งเป็นการติดตั้งโครงข่ายสื่อสารไร้สายความเร็วสูงพร้อมให้ใช้บริการฟรี 5 ปี ในพื้นที่ชายขอบและพื้นที่ห่างไกล

เรื่องที่สอง   ในประเทศไทย เรามีเลขหมายฉุกเฉินกันอยู่หลากหลาย อาทิ เหตุด่วนเหตุร้ายโทร.191  เจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร.1669  สายด่วน ปภ.โทร.1784  ยกรถทางด่วน โทร.1542  กองบังคับการตำรวจจราจร โทร.11971  ตำรวจทางหลวง โทร.1193  สายด่วนกรมทางหลวง 1586  สายด่วน กทม.โทร.1555     ในขณะที่แนวทางสากลเขาใช้เลขหมายเดียวกัน เพื่อรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน เช่น สหรัฐอเมริกา ใช้เลขหมาย 911 ญี่ปุ่น ใช้เลขหมาย 110  ส่วนสหภาพยุโรปใช้เลขหมาย 112 

 บัดนี้ ครม.(๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๑) ได้เห็นชอบโครงการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ ให้มีการบริการเลขหมายฉุกเฉินแห่งชาติเพียงเลขหมายเดียว คือ 191  หมายความว่าในอนาคตประชาชนสามารถโทรแจ้งเหตุฉุกเฉินต่าง ๆได้โดยไม่สับสน  คาดว่าจะสามารถลดเลขหมายสายด่วน หรือเลขหมายฉุกเฉินอื่น ๆ ให้เหลือใช้เพียงหมายเลขเดียว คือ 191 ภายในปี 2565  

เรื่องที่สาม   เทคโนโลยี 5G หรือ ระบบการสื่อสารแบบไร้สายยุคที่ 5  เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เราเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเร็วขึ้นกว่าเดิม 10 เท่า มีความหน่วงลดลง 5 เท่า และสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้มากขึ้นถึงล้านชิ้น  ส่งผลให้ธุรกิจและบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด  เพราะอินเทอร์เน็ตจะไม่ได้ถูกใช้แค่บนสมาร์ตโฟน แต่จะกลายเป็นการเชื่อมต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ  รวมถึงเครื่องจักรอุตสาหกรรม  การผลิตจากหุ่นยนต์  ระบบไฟฟ้าอัตโนมัติตามท้องถนน   การใช้โดรนทางการเกษตร ฯลฯ

บัดนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติเห็นชอบ(ร่าง)ประกาศ ๓ ฉบับ  ซึ่งคาดว่าจะนำมาซึ่งการจัดประมูลคลื่นความถี่ในระบบ 5G ภายในวันที่ 16 ก.พ. 2563 ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะนำหน้าในกลุ่มประเทศอาเซียน.

ขอบคุณภาพหน้าปกจาก nationweekend.com