โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา, 14 กุมภาพันธ์ 2563
ขณะนี้ ในหมู่สมาชิกวุฒิสภามีคำย่อคำหนึ่งที่พวกเราจดจำพูดติดปากและใช้สื่อสารกันอย่างขึ้นใจ
ขณะนี้ ในหมู่สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. มีคำย่ออยู่คำหนึ่ง ที่พวกเราจดจำ พูดติดปากและใช้สื่อสารกันอย่างขึ้นใจ คือ “ต-ส-ร” อันหมายถึง ภารกิจในการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นภารกิจพิเศษตามรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลที่ได้กำหนดไว้สำหรับ ส.ว. ชุดนี้ ดังนี้ครับ
มาตรา ๒๗๐ นอกจากจะมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้วุฒิสภาตามมาตรา ๒๖๙ มีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามหมวด ๑๖ การปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาเพื่อทราบทุกสามเดือน
ร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด ๑๖ การปฏิรูปประเทศ ให้เสนอและพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา
ร่างพระราชบัญญัติใดที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่า เป็นร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด ๑๖ การปฏิรูปประเทศ ให้แจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ พร้อมกับการเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้น ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมิได้แจ้งว่า เป็นร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด ๑๖ การปฏิรูปประเทศ
หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด ๑๖ การปฏิรูปประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของแต่ละสภาอาจเข้าชื่อกันร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้วินิจฉัย การยื่นคำร้องดังกล่าวต้องยื่นก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นแล้วเสร็จ
เมื่อประธานรัฐสภาได้รับคำร้องตามวรรคสาม ให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการร่วมซึ่งประกอบด้วยประธานวุฒิสภาเป็นประธาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่ง ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนคณะรัฐมนตรีคนหนึ่ง และประธานคณะกรรมาธิการสามัญคนหนึ่งซึ่งเลือกกันเองระหว่างประธานคณะกรรมาธิการสามัญในวุฒิสภาทุกคณะ เป็นกรรมการ เพื่อวินิจฉัย
การวินิจฉัยของคณะกรรมการร่วมตามวรรคสี่ ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการร่วมดังกล่าวให้เป็นที่สุด และให้ประธานรัฐสภาดำเนินการไปตามคำวินิจฉัยนั้น
ดังนั้น เพื่อรองรับภารกิจดังกล่าวข้างต้น วุฒิสภาจึงได้จัดให้มีคณะกรรมาธิการสามัญขึ้นมา 27 ชุด โดยแบ่งกันดูแลประเด็นงานปฏิรูปและการจัดทำและดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ขณะนี้ทุกชุดกำลังทำงานกันอย่างขยันขันแข็ง ประดุจเครื่องจักรกล
แต่ด้วยความปรารถนาดีและมุ่งมั่นตั้งใจต่อการปฏิรูปประเทศ ยิ่งทำงานไปก็ยิ่งเห็นอุปสรรคปัญหาในการขับเคลื่อนของฝั่งรัฐบาล สภาพัฒน์ สำนักงบประมาณและหน่วยงานผู้ผู้รับผิดชอบมากเข้า นำมาซึ่งความหงุดหงิด อึดอัดคับข้อง จึงมีบ่อยครั้งที่ ส.ว.แอบสวมวิญญาณผู้บริหารลงไปเล่นลูกเสียเอง โดยเฉพาะท่าน ส.ว.กลุ่มที่มาจากอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี ปลัดกระทรวง รัฐมนตรี และ ผบ.เหล่าทัพ
ทางฝ่าย ส.ว.ที่มาจากสายครูบาอาจารย์และตุลาการก็ไม่เบา บางครั้งเล่นบทของกรรมการตรวจข้อสอบและให้การสอนสั่ง โดยเฉพาะในตอนที่เชิญผู้แทนหน่วยงานมาให้ข้อมูลต่อที่ประชุมและการตั้งกระทู้ถามในที่ประชุมสภา ส่วนท่าน ส.ว.ที่มาจากสายนักการเมือง สายท้องถิ่นและนักพัฒนา บางครั้งก็เล่นบทของการตำหนิว่ากล่าวหน่วยงาน วิพากษ์วิจารณ์และกดดันในสไตล์แบบเอ็นจีโอ
ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ความพอเหมาะพอดีในบทบาทหน้าที่ของ ส.ว.ควรอยู่แค่ไหน และพึงระมัดระวังการใช้ท่าทีอย่างไรให้อยู่ในขอบเขตที่เรียกว่าสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีประชาชนเห็นว่าได้ทำเกินบทบาท อำนาจหน้าที่ หรือหย่อนยานเกินไป ก็มีสิทธิ์ที่จะโดนฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ที่ว่า
“ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
“ติดตาม” เป็นคำกริยา หมายความว่า ไปด้วย มาด้วย คอยดู ตามหา ตามข่าวหรือรับฟังความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง. คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่พอเทียบเคียงก็มี อาทิ pay attention, follow up, take note of, concern, trail, monitor, watch.
ส.ว. มีหน้าที่ติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนการปฏิรูปของรัฐบาลและส่วนราชการว่าเป็นไปตามแผนปฏิรูปและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติตามที่ได้ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่ ได้ผลหรือมีปัญหาอุปสรรคอย่างไร มิใช่การคิดค้นกิจกรรมหรือจัดทำโครงการขึ้นมาใหม่เพื่อมอบหมายหรือกดดันให้หน่วยงานรับไปปฏิบัติ
“เสนอแนะ” เป็นคำกิริยา หมายความว่า แนะ แนะนำ ชี้แนะ หรือให้คำปรึกษาแนะนำ. คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่พอเทียบเคียงก็มี อาทิ recommend, suggest, refer , advice, counsel.
ส.ว. มีหน้าที่เสนอแนะและให้ความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์ต่อการปฏิบัติงานขับเคลื่อนการปฏิรูปของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถดำเนินการด้วยความมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น การปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องยาก จึงต้องการข้อเสนอแนะในมุมมองทางบวก การสร้างความหวังและกำลังใจ การเรียนรู้ร่วมกันและสานพลังช่วยกันหาทางออก ควรระมัดระวังท่าทีไม่ให้เป็นการตำหนิติเตียน วิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะบั่นทอนจิตใจ ทำให้เสียหน้า หรือการเชียร์กันอย่างเกินเลย ไร้เหตุผล
“เร่งรัด” คำกริยา เร่งอย่างจริงจัง เข้มงวดเพื่อให้ได้เร็วขึ้น. คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่พอเทียบเคียงก็มี อาทิ press, quicken, speed up, accelerate.
ส.ว. มีหน้าที่ต้องสังเกตติดตามผลสัมฤทธิ์ของแผนงานปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ โดยเร่งรัดให้เป็นไปตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลา รวมทั้งเฝ้าระวังผลกระทบข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งในบางครั้ง ส.ว. อาจต้องทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมหรือสร้างพื้นที่กลาง เพื่อให้หน่วยงานต่างกระทรวงต่างสังกัด ได้มีโอกาสมาบูรณาการการทำงานร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม เรื่องแบบนี้ คงไม่มีใครสามารถกำหนดอะไรที่ตายตัวให้คนอื่นปฏิบัติได้ ต่างคนต่างก็ต้องใช้ดุลพินิจของตนในการแสดงบทบาทที่เหมาะสม และรับผิดรับชอบในผลการปฏิบัติด้วยตัวเอง
แต่การเปิดประเด็นให้เกิดความตระหนัก ระมัดระวังและมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือเตือนสติกัน น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งสังคมก็ได้เรียนรู้ร่วมกันไปในภาคปฏิบัติครับ
ขอบคุณภาพหน้าปกจาก nationweekend.com