จีนโพ้นทะเล

โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา, 30 มกราคม 2563

จีนโพ้นทะเล คือ ชาวจีนผู้อพยพออกนอกประเทศจีนเพื่อหนีภัยสงครามและความอดอยาก

เมื่อปิดสมัยประชุมรัฐสภาช่วงที่ผ่านมา ผมไปเที่ยวเมืองจีนกับพรรคพวกในแถบมณฑลฮกเกี้ยน กังไสและกวางตุ้ง ติดตามศึกษารากเหง้าชาวจีนโพ้นทะเลและวัฒนธรรมจีนที่เกี่ยวข้องกับตระกูลแซ่  ช่วยทำให้เข้าใจเรื่องราวในมุมมองใหม่ที่น่าสนใจ

จีนโพ้นทะเล คือ ชาวจีนผู้อพยพออกนอกประเทศจีนเพื่อหนีภัยสงครามและความอดอยาก กระจัดกระจายไปอยู่ตามประเทศต่างๆในหลายภูมิภาค เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19-20  พบว่าโดยส่วนใหญ่ยังคงมีความผูกพันกับแผ่นดินจีนด้วยสายใยของแซ่ตระกูล และมีบทบาทสนับสนุนการปฏิวัติจีน รวมทั้งการฟื้นฟูพัฒนาแผ่นดินแม่ในเวลาต่อๆมา

ชาวจีนเป็นกลุ่มประชากรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วย 56 ชาติพันธุ์  แต่ชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดคือ ชนชาติฮั่น  คือมี 1,300 ล้านคนทั่วโลก  ชาวฮั่นเป็นส่วนใหญ่ของประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศจีน (คิดเป็น 90%) รวมทั้งในฮ่องกงและสิงคโปร์ (80%).

ในกลุ่มประชากรชาวจีนฮั่น มีกลุ่มย่อยที่สำคัญอยู่ 7-8 กลุ่ม ส่วนหนึ่งในนั้นได้แก่ จีนแคะ(ฮากกา) จีนแต้จิ๋ว จีนฮกเกี้ยน จีนไหหลำและจีนกวางตุ้ง ในเมืองไทยเราก็คุ้นเคยกับคนจีนในเชื้อสายเหล่านี้

กล่าวกันว่า แคะ แต้จิ๋วและกวางตุ้ง เป็นสามกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีจีนโบราณไว้ได้อย่างเหนียวแน่นที่สุด จากอดีตจนถึงปัจจุบัน คนจีนในประเทศไทยที่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่ส่วนมากก็มีแต่ แคะ แต้จิ๋วและกวางตุ้ง นี่แหละ

พระเจ้าตากสินมหาราชมีเชื้อสายแต้จิ๋ว  พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็เป็นฮกเกี้ยน  นอกจากนี้ยังมีชาวจีนแคะ (เค่อเจีย) ผู้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์จีนที่เรารู้จักกันดี เช่น ดร.ซุนยุตเซ็น บิดาประเทศสาธารณรัฐจีน, หงซิ่วฉวน ผู้นำกบฏชาวนาไท่ผิงเทียนกว๋อ, นายพลจูเต๋อ บิดากองทัพแดงจีน, เย้เจียนอิง นายพลผู้ปราบแก๊งคนสี่คน, ฮั่นซูหยิน นักเขียนสตรีระดับโลก, ประธานาธิบดีสีจิ้งผิง, ประธานเติ้งเสียวผิง, นายกรัฐมนตรีลีกวนยูแห่งสิงคโปร์, ประธานาธิบดีเฉินสุยเปียนและหม่าอิงจิ่วแห่งไต้หวัน, ประธานาธิบดีคอราซอน อาควิโน แห่งฟิลิปปินส์ , ฯลฯ  

แต่เดิมชาวฮั่นอยู่ในแถบภาคกลาง เป็นพวกทำการเกษตร แถวเมืองซีอาน ลั่วหยาง ไคฟง ซึ่งที่นั่นเป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีความอุดมสมบูรณ์ การต่อสู้แย่งชิงอำนาจทางการเมืองมักเกิดขึ้นในบริเวณนี้ บางครั้งเขาเรียกกันว่าตงง้วน หรือจงหยวนนั่นเอง

221 ปีก่อน ค.ศ. จิ๋นซีฮ่องเต้สามารถรวมจีน 7 ก๊ก ให้เป็นหนึ่ง เปลี่ยนจากอาณาจักรเล็กๆแบบของใครของมันให้กลายเป็นจักรวรรดิจีนที่ใหญ่โต  ซึ่งได้สร้างคุณูปการต่อแผ่นดินจีนไว้มากมาย โดยเฉพาะการมีภาษาจีนกลางในการสื่อสารกันและมีกฎหมายหลักที่ใช้ระหว่างคนจีนชาติพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งการสร้างกำแพงเมืองจีนเพื่อป้องกันการรุกรานจากชาวทุ่งหญ้าพวกมองโกล

แต่ราชวงศ์ฉินเองก็อยู่ได้เพียงระยะสั้น ประมาณ 20 ปีเท่านั้น จิ๋นซีฮ่องเต้ปกครอง 15 ปี พอมาถึงรุ่นลูกซึ่งอ่อนแอ ก้ถูกเหลาปังช่วงชิงบังลังก์ไปตั้งเป็นราชวงศ์ใหม่ ชื่อราชวงศ์ฮั่น อันเป็นต้นราชวงศ์ของเล่าปี ตัวแสดงสำคัญในประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก ปกครองจีนจากนั้นต่อมาถึง 400 ปี

แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนราชวงศ์และผู้ปกครองประเทศจีน อีกหลายราชวงศ์ หลายระบบการปกครองในประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน  จีนยังคงความเป็นจักรวรรดิที่มีขนาดใหญ่และมีประชากรมากที่สุดของโลกตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ในยุคจิ๋นซีรวมอาณาจักร ได้มีการส่งกองทัพออกไปทั่วแผ่นดินเพื่อประกาศพระราชอำนาจ รวมทั้งการส่งทหาร 500,000 คน เดินทางจากซีอานลงมาทางใต้ ซึ่งนับเป็นการอพยพโยกย้ายประชากรชาวฮั่นลงมาสู่แถบมณฑลฮกเกี้ยนครั้งแรก

ที่พิพิธภัณฑ์เค่อเจีย เมืองก้านโจว แหล่งที่กล่าวกันว่าเป็นต้นกำเนิดหรืออู่อารยธรรมเค่อเจีย  เขาได้สร้างเสาปฏิมากรรม 5 แท่ง ที่บันทึกการอพยพ 5 ระลอกเอาไว้

ระลอกที่ 1. ยุคปลายราชวงศ์จิ๋น ระยะเวลาที่อพยพมีความต่อเนื่องประมาณ 100 ปี  จำนวนคนอพยพประมาณ  1 ล้านคน  ยุคนั้นได้ปรากฏสถาปัตยกรรมบ้านดินทรงสี่เหลี่ยม

ระลอกที่ 2. สมัยปลายราชวงศ์ถัง เกิดกบฏชาวนา  การอพยพเกิดห่างจากครั้งแรกประมาณ 200-300ปี  จำนวนคนอพยพประมาณ 9 แสนคน  อพยพลงมาถึงก้านโจว และฮกเกี้ยน  มีการผสมผสานกับชนชาติชาวเขา เผ่าเย่อ เย้า กลายเป็นชาวเค่อ  ช่วงนี้เริ่มปรากฏสถาปัตยกรรมบ้านดินแบบทรงกลม

ระลอกที่ 3. ในยุคที่ถูกมองโกลรุกราน อพยพลงมาเจอเขาแยกเป็นสองสาย สายหนึ่งอยู่บนเขาต้นน้ำ ผสมกลมกลืนกับชาวพื้นเมืองกลายเป็น “เค่อเจีย”(แคะ) อีกสายหนึ่งล่องมาทางแม่น้ำจนถึงปากอ่าว ฝั่งทะเล ผสมกลมกลืนกับคนพื้นเมืองกลายเป็น “แต้จิ๋ว”

นอกจากนั้นยังมีอีกพวกหนึ่งที่ปักหลักอยู่ในเมือง คือ “ก๋วงฝู่” หรือ “กวางตุ้ง” เป็นสายที่สาม  การอพยพรอบนี้ลงมาถึงเหมยโจว ก้านโจวและ ติงโจว  ซึ่งครั้งนี้มีความสำคัญที่สุดเพราะทางการยอมรับว่าคนพวกนี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เค่อเจีย  จำนวนคนอพยพรวม 1-2 ล้านคน

ระลอกที่ 4. ยุคราชวงค์คังซี  เป็นการถูกจัดการโดยนโยบายรัฐ  ชาวเค่อถูกส่งให้ไปอยู่ตามถิ่นต่างๆที่มีประชากรน้อย  จึงอพยพมาถึงฝู่เจียน หรือ ฮกเกี้ยน และไปทางตะวันตกจนถึงเสฉวน รัฐออกคำสั่งให้อพยพโยกย้ายไปทางเสฉวนเพราะที่นั่นขาดประชากร  มีที่ทางกว้างใหญ่ คนเค่อเองก็มีประชากรมากขึ้น ต้องขยับขยาย  ผู้ชายให้เงิน 8 เหรียญ เด็กชายให้ 4 เหรียญ

ระลอกที่ 5. ยุคที่มีกบฏไต้ผิง มีคนจีนแคะหรือเค่อเป็นหัวหน้าก่อกบฏและเป็นกำลังพลสำคัญ คนแคะจึงถูกปราบ นอกนั้นยังมีสงครามญี่ปุ่นและสงครามปฏิวัติของเหมาเจ๋อตงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เกิดแรงกดดันให้มีการอพยพออกนอกประเทศไปทางทะเล ซึ่งส่วนใหญ่ออกเดินทางไปจากเมืองซัวเถา

กล่าวกันว่า ผู้อพยพทุกคนจะมากราบไหว้บูชาและขอพรจากเจ้าแม่ทับทิมก่อนออกเดินทางไปในทะเลมหาสมุทรอันกว้างใหญ่สุดสายตาโดยที่ไม่รู้ว่าชะตากรรมจะเป็นอย่างไร จะไปถึงหรือไม่ ไปถึงที่ไหน อนาคตจะเป็นอย่างไร  แต่สุดท้ายก็มีพวกที่รอดตายและถูกกระแสลมพัดพาไปขึ้นฝั่งที่สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สงขลา และนครศรีธรรมราช กลายเป็นที่มาของคนจีนโพ้นทะเล

ประมาณว่า ปัจจุบันมีจีนแคะในประเทศจีน 100 ล้านคน ในขณะที่อยู่ต่างประเทศอีก 30 ล้านคน.

ขอบคุณภาพหน้าปกจาก nationweekend.com