เครือข่ายพลังงานชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างชุมชนสุขภาวะ

Table of Contents

เครือข่ายพลังงานชุมชนเครือข่ายชุมชนพลังงานทางเลือก ?

เครือข่ายพลังงานชุมชน เป็นความเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มบุคคล องค์กรและภาคีที่มีความสนใจ เรียนรู้และปฏิบัติการร่วมกันในประเด็นส่งเสริมพลังงานทางเลือก พลังงานชุมชน  และพลังงานเพื่อคนทั้งมวล

เครือข่ายชุมชนพลังงานทางเลือก เป็นความสัมพันธ์ของข่ายงานชุมชนเข้มแข็ง ที่มีความรอบรู้และมีประสบการณ์พึ่งตนเอง  ในด้านพลังงานทางเลือก และสามารถสร้างสรรค์ พัฒนาและบริหารกิจการ “วิสาหกิจพลังงาน” เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและคุณภาพชีวิตในชุมชนท้องถิ่นของตน

ภาพประกอบจาก เวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ

ชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนสุขภาวะ ชุมชนจัดการตนเอง หรือ ชุมชนเป็นสุข เป็นคำที่นักพัฒนาใช้ในความหมายเดียวกันในเชิงการปฏิบัติการ

หมายความว่า ชุมชนที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ ปรับตัวและสามารถจัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม สุขภาพและคุณธรรมจริยธรรม  จนบรรลุซึ่งความเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้และมีความสุข สันติภาพหรือสุขภาวะในด้านต่างๆ

ส่วน ข่ายงานชุมชนเข้มแข็ง หมายความว่า เครือข่ายที่มีภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่น (ทั้งในชนบทและในเมือง และในชุมชนรูปแบบอื่นๆตามพลวัตรของสังคม)  สามารถรวมตัวกัน ร่วมคิดร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา และมีศักยภาพในการจัดการตนเองได้ในทุกด้าน  จนมีความเข้มแข็งและบรรลุการมีสุขภาวะที่ดี

ภาพประกอบจาก เวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ

ปัจจัยองค์ประกอบของชุมชนเข็มแข็ง

ปัจจัยภายใน

  • มีผู้นำทางการ ผู้นำธรรมชาติและสมาชิกชุมชนที่รักสามัคคีและมีส่วนร่วม
  • ความตระหนักในคุณค่าของทุนทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น
  • มีทุนการเงินที่เกิดจากการจัดการของชุมชนเอง เช่น สัจจะออมทรัพย์
  • มีกระบวนคิดเรื่องข้อมูล และสามารถบริหารจัดการข้อมูลชุมชนได้
  • สมาชิกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของในการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาชุมชน
  • มีกระบวนเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยภายนอก

  • มีเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายนอกชุมชนและพัฒนาร่วมกันไป
  • มีหน่วยงานภายนอกที่ให้สนับสนุนด้านนโยบาย วิชาการ หรืองบประมาณ

หลักการร่วม ในการสนับสนุนชุมชน

  1. หลักการการใช้ชุมชนเป็นฐาน ชุมชนเป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นศูนย์กลาง
  2. หลักการการกำหนดเป้าหมายผลลัพธ์ร่วมกันในการสนับสนุนชุมชน
  3. หลักการส่งเสริมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชน
  4. หลักการในการกระจายอำนาจการจัดการไปให้สุดที่ชุมชน
  5. หลักการฟื้นฟูพัฒนาทุนทางสังคม
  6. หลักการภาวะแวดล้อมที่เอื้อการบูรณาการ-เชื่อมโยงภารกิจ-สานพลัง
  7. หลักการการเฝ้าระวังปัจจัยขัดขวาง-ตัวแปรทางลบต่อกระบวนการชุมชน
ภาพประกอบจาก เวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ

นโยบายพลังงาน ในกระแสการเปลี่ยนแปลง

ประชากรโลกเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก ขยายพื้นที่อยู่อาศัย เมืองเติบโต พัฒนาเศรษฐกิจสังคมและอุตสาหกรรมไม่หยุดยั้ง การคมนาคมขนส่งมากขึ้น มีการใช้พลังงานจากธรรมชาติเพื่อการอยู่รอดของชีวิตและเอื้ออำนวยความสะดวกสบาย

โลกมีความต้องการน้ำมันดิบมากที่สุด รองลงไป คือ ถ่านหินเพราะเป็นแหล่งพลังงานที่มีราคาถูกและปริมาณมาก พลังงานจากเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ยังคงเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของโลก ทั้งน้ำมันดิบ ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ

ในประเทศไทยใช้พลังงานที่มาจากหลายแหล่ง ส่วนใหญ่มาจากธรรมชาติและมีลักษณะใช้แล้วหมดไป ใช้พลังงานเพื่อการอุตสาหกรรมและคมนาคมเป็นส่วนมาก และประเทศไทยยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบ ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ จึงมีปัจจัยความเสี่ยงจากความผันผวนของสถานการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเหตุการณ์สงครามในตะวันออกกลาง

การใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของประเทศไทยในช่วงปี 2561 มีปริมาณ 83,691 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ คิดเป็นมูลค่าการใช้พลังงานรวมกว่า 1,397,306 ล้านบาท  โดยมีการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ในสัดส่วนร้อยละ 84.6

น้ำมันสําเร็จรูปยังคงมีการใช้ในสัดส่วนที่สูงกว่าพลังงานชนิดอื่น โดยมีการใช้ร้อยละ 49.4 รองลงไปคือการใช้ไฟฟ้า (20.1) ถ่านหิน/ลิกไนต์ (8.2) ก๊าซธรรมชาติ (6.9) พลังงานหมุนเวียน (9.2) และ พลังงานหมุนเวียนดั้งเดิม (6.2)

พลังงานหมุนเวียน ประกอบด้วย ฟืน แกลบ กากอ้อย วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ขยะ และก๊าซชีวภาพ ในส่วนที่นำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม  ส่วนพลังงานหมุนเวียนดั้งเดิม นั้นหมายถึงพลังงานหมุนเวียนในส่วนที่ใช้กันอยู่ในบ้านอยู่อาศัยและอุตสาหกรรมครัวเรือน

การผลิตพลังงานในประเทศ มีปริมาณ 73,222 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีการผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์ในสัดส่วนร้อยละ 63.4  พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 25.2  และพลังงานหมุนเวียนดั้งเดิมร้อยละ 11.4

การนําเข้าพลังงานเชิงพาณิชย์ มีปริมาณ 82,974 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ส่วนการส่งออกพลังงานเชิงพาณิชย์มีปริมาณ 12,573พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงกลั่นน้ำมัน รวม 7 โรง มีกําลังการกลั่นรวมทั้งสิ้น 1,234,500 บาร์เรลต่อวัน มีโรงแยกก๊าซธรรมชาติ 6โรง มีขนาดรวม 2,660 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และโรงแยกก๊าซพลังเพชรซึ่งทําการผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นหลัก อีก 1โรง มีขนาด 120 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน มีการผลิตน้ำมันสําเร็จรูปซึ่งประกอบด้วย น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา และ น้ำมันก๊าด

การผลิตพลังงานไฟฟ้าในช่วงปี 2561 ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติร้อยละ 60.2ของการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ถ่านหิน/ลิกไนต์ร้อยละ 17.7น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลร้อยละ 0.1ที่เหลือเป็นพลังงานหมุนเวียนและพลังงานอื่นๆ(แกลบ กากอ้อย วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ขยะ ก๊าซชีวภาพ แบล็คลิเคอและก๊าซเหลือใช้จากขบวนการผลิต) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.0

ประเทศไทยมีการใช้พลังงานทดแทน 12,725 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยมีการใช้ในรูปของไฟฟ้า ความร้อนและเชื้อเพลิงชีวภาพ (ประกอบด้วยเอทานอล และไบโอดีเซล) ในสัดส่วน   ร้อยละ 15.2 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายทั้งหมด

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ระบุว่า …

“ประเทศไทยต้องให้ความสําคัญกับการสร้างสมดุลความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร การรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายเชิงนิเวศ การส่งเสริมการดําเนินชีวิตและธุรกิจ และการพัฒนาและขยายความเป็นเมืองที่เติบโตอย่างต่อเนื่องที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม …”

6 แนวทางการพัฒนาด้านพลังงานในแผนแม่บท 

  1. จัดหาพลังงานและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานทั้งระบบ
  2. ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี ปัจจัยแวดล้อม และสร้างแรงจูงใจ
  3. สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน ทั้งไฟฟ้า  ความร้อน และเชื้อเพลิงชีวภาพ
  4. ส่งเสริมการวิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง 
  5. สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
  6. พัฒนา ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบการกำกับดูแล

แผนแม่บทให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในเรื่องพลังงานทดแทน โดยกำหนดเป้าหมายภายในปี 2580 จะมีการใช้พลังงานทดแทนที่ผลิตในประเทศเพิ่มมากขึ้น ถึงระดับร้อยละ 26-30

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และนวัตกรรมการพัฒนาเทคโนโลยี ด้านดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ และพลังงาน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงของตลาด รูปแบบธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย

การเติบโตผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การขยายตัวของเศรษฐกิจฐานดิจิทัลจำเป็นที่ต้องใช้ไฟฟ้าที่มีปริมาณและความเสถียรเพิ่มมากขึ้น ต้องปรับปรุงโครงข่ายระบบส่ง ระบบจำหน่ายและศูนย์ควบคุมโครงข่ายไฟฟ้าให้เป็นระบบ Smart Grid ต้องนำเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Battery) มาใช้กับระบบโครงข่ายไฟฟ้า รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีความผันผวนและพร้อมรับมือแนวโน้มสถานะผู้ใช้เปลี่ยนเป็นผู้ผลิต (Prosumer)ในกิจการไฟฟ้า

แหล่งพลังงานในอนาคตปี ค.ศ. 2010 – 2040 พลังงานจากปิโตรเลียม (Hydrocarbon) ยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักของโลก โดยน้ำมันดิบยังเป็นเชื้อเพลิงที่มีบทบาทสำคัญ แต่อาจมีอัตราการขยายตัวน้อยกว่าการขยายตัวของก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานจากปิโตรเลียมที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด

การพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจและผลิต Shale Gas เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติในอนาคตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณมากและราคาไม่แพง ขณะที่เทคโนโลยีการขนส่งก๊าซธรรมชาติที่ดีขึ้น ทำให้ข้อจำกัดด้านการขนส่งลดลง

พลังงานทางเลือกจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม เชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานน้ำและความร้อนใต้พิภพ เนื่องจากราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง ต้องลดการพึ่งพาพลังงานจากปิโตรเลียม จึงเป็นแรงผลักดันให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกมากขึ้น

กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) สมัยที่ 21 มีเป้าหมายหลักเพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยให้น้อยกว่า 2.0 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส

ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งขับเคลื่อนมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วนอย่างจริงจังและเคร่งครัดมากขึ้น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านขนส่งมวลชนทางราง ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจากรถยนต์ส่วนบุคคล การส่งเสริมและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม

นอกจากปัญหาโจรสลัดและสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศที่มีแหล่งพลังงานแล้ว ความขัดแย้งระหว่างประเทศและการเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์ของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและพลังงาน อาทิความขัดแย้งบริเวณช่องแคบฮอร์มุซซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรของเรือบรรทุกน้ำมันร้อยละ 40 ของโลก อาจส่งผลกระทบต่อการจัดหาพลังงานและราคาพลังงานในตลาดโลกและต่อประเทศไทย

นโยบายของรัฐบาล “ 5.6.3 เสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยกระจายชนิดของเชื้อเพลิงทั้งจากฟอสซิลและจากพลังงานทดแทนอย่างเหมาะสม สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนตามศักยภาพของแหล่งเชื้อเพลิงในพื้นที่ เปิดโอกาสให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตและบริหารจัดการพลังงาน

ส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 และ B100 เพื่อเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มดิบ และจัดทําแนวทางการใช้มาตรฐานน้ำมัน EURO5 ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน อาทิเทคโนโลยีระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน  รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ อาทิ แพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้า ตลอดจนโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้ารูปแบบใหม่ อาทิ ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้าสุทธิ…..

…. “5.6.4 ยกระดับโครงข่ายระบบไฟฟ้าและพลังงาน ให้มีความทันสมัย ทั่วถึง เพียงพอ มั่นคง และมีเสถียรภาพ โดยจัดทําแผนการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะทั้งระบบ ให้สามารถรองรับเทคโนโลยีด้านพลังงานสมัยใหม่ในอนาคต 

มุ่งเน้นการพัฒนาโครงข่ายภายในประเทศ ให้เชื่อมต่อระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันตก ตะวันออก เหนือ และใต้เพื่อให้สามารถบริหารจัดการระบบไฟฟ้าและพลังงานระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะในภาคการผลิต”

มื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน มอบนโยบายข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน เพื่อซักซ้อมความเข้าใจทิศทางการใช้ภาคพลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก Energy For All  เปิดเป้าหมายระยะสั้นที่เร่งทำก่อน ทั้งด้านไฟฟ้าที่เน้นให้ทุกพื้นที่ทั่วไทย  มีไฟฟ้าใช้ เร่งผลิตไฟจากโรงไฟฟ้าชุมชนกว่า 1,000 MW ใน 3 ปี และแจ้งเกิดสถานีพลังงานชุมชน ทั่วประเทศ ส่วนด้านก๊าซและน้ำมัน เตรียมผลักดันมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านพลังงาน  เร่งการใช้  B10 เป็นน้ำมันดีเซลมาตรฐานทั่วประเทศ พร้อมหนุนให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นรูปธรรม

ด้านการหมุนเวียนเศรษฐกิจฐานราก ผ่านโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 1,000 เมกะวัตต์ ในช่วง 3 ปี ข้างหน้า ด้านการเข้าถึงไฟฟ้า ตั้งเป้าหมายทุกพื้นที่ของประเทศไทยที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้อง จะมีไฟฟ้าใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งพื้นที่บริเวณชายขอบ ชายแดน ปลายสายส่งไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้มีประมาณ 40 จังหวัด กว่า 500 หมู่บ้าน และมีพื้นที่อยู่ปลายสายส่งที่เกิดปัญหาไฟตกไฟดับบ่อยอีกจำนวนมาก

ด้านการสนับสนุนสถานีพลังงานชุมชน จะเร่งจัดทำสถานีพลังงานชุมชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพทั่วประเทศ ซึ่งจะใช้โมเดลสถานีพลังงานทางเลือกและเกษตร-อุตสาหกรรมชุมชนต้นแบบของ จ.กาญจนบุรี เป็นแนวทางทำสถานีพลังงานชุมชนแบบครบวงจร โดยนำพลังงานจากแสงอาทิตย์ ชีวมวล ขยะ และเชื้อเพลิงฟอสซิลมาบริหารจัดการ เพื่อลดรายจ่ายด้านพลังงานและสร้างรายได้ต่อยอดอาชีพของชุมชน

ภาพประกอบจาก เวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ

ข้อเสนอจากภาคประชาสังคม

รูปแบบพลังงานทางเลือก – พลังงานชุมชน และการแปรเปลี่ยนระหว่างรูปแบบ

รูปแบบพลังงานทางเลือก – พลังงานชุมชน และการแปรเปลี่ยนระหว่างรูปแบบ
พลังงานชุมชนกับเศรษฐกิจฐานราก

กิจการไฟฟ้าชุมชนรูปแบบต่างๆ

กิจการไฟฟ้าชุมชน โมเดลผาปัง-ผาด่าน

  • เป็นต้นแบบของกิจการไฟฟ้าของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ในลักษณะของการผลิตเองใช้เอง (prosumer)
  • โมเดลผาปังสำหรับชุมชนปลายสายส่ง
  • โมเดลผาด่านสำหรับชุมชนห่างไกลทุรกันดาร

มีลักษณะสำคัญ ดังนี้

  1. มีโรงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกที่มีแหล่งพลังงานหรือวัตถุเชื้อเพลิงที่หาได้ในชุมชน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำ ถ่านไม้ไผ่-ไม้แห้ง ขยะพลาสติค
  2. มีกิจการไฟฟ้าของชุมชนที่ให้บริการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าภายในชุมชน แบบยืนได้เป็นเอกเทศในกรณีผาด่าน(off-grid)และแบบเป็นส่วนเสริมการไฟฟ้าระบบใหญ่ในกรณีผาปัง(on/off-grid)

กาญจนบุรีโมเดล

เป็นต้นแบบของศูนย์หรือนิคมเกษตร-อุตสาหกรรมชุมชนขนาดจิ๋ว ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานทางเลือก มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่  

  1. แหล่งผลิตพลังงานทางเลือกที่หลากหลาย เช่น โรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โรงกลั่นน้ำมันจากขยะพลาสติคเครื่องปั่นไฟสำรอง
  2. ใช้พลังงานทางเลือกในการพัฒนากิจการการเกษตรของตนในลักษณะ “ผลิตเองใช้เอง” (prosumer) เช่น ระบบน้ำสำหรับแปลงเกษตร ระบบห้องเย็นสำหรับเก็บรักษา ตัดแต่งและบรรจุภัณฑ์จากผลผลิตการเกษตร
  3. ใช้พลังงานทางเลือกในการพัฒนากิจการอุตสาหกรรมชุมชนเช่น ทำน้ำดื่มสะอาด ทำน้ำแข็งบริสุทธิ์ส่งขาย ทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นสินค้าหัตถกรรมชุมชน ร้านกาแฟชุมชน จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงจากขยะพลาสติคให้กับเครือข่ายเมรุเผาศพ

สถานีพลังงานทางเลือกและการเกษตร-อุตสาหกรรมชุมชน

เป็นรูปแบบศูนย์เรียนรู้พลังงานทางเลือกและการเกษตร-อุตสาหกรรมชุมชน ที่ปรับประยุกต์มาจากกาญจนบุรีโมเดล เพื่อให้เป็นฐานการเรียนรู้และสนับสนุนกิจการการเกษตร อุตสาหกรรมและท่องเที่ยวโดยชุมชน สร้างเครือข่ายเศรษฐกิจฐานรากในระดับอำเภอ-ตำบล เป็นองค์กรวิสาหกิจพลังงานเพื่อชุมชน  ที่มีองค์ประกอบสำคัญอย่างน้อย 3 กิจการ ได้แก่

  1. ส่วนพลังงานทางเลือก-พลังงานชุมชนที่หลากหลาย  อย่างน้อย 2 แหล่งผลิต คือ ไฟฟ้าชุมชน น้ำมันเชื้อเพลิงชุมชน แก๊สชุมชน และถ่านบริสุทธิ์ผลิตความร้อน
  2. ส่วนการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่หลากหลาย  อย่างน้อย 2 ด้าน คือ ด้านการผลิตทางการเกษตร การผลิตทางอุตสาหกรรม-หัตถกรรม และกิจการท่องเที่ยวโดยชุมชน
  3. ส่วนการเรียนรู้ชุมชนที่ครบวงจร เป็นศูนย์เรียนรู้พลังงานทางเลือก-พลังงานชุมชน ที่สามารถสาธิตและให้ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบ เครื่องจักรกล อุปกรณ์และระบบการทำงานของพลังงานทางเลือกที่มีครบถ้วน  ทั้งไฟฟ้าชุมชน น้ำมันเชื้อเพลิงชุมชน แก๊สชุมชน และถ่านบริสุทธิ์ผลิตความร้อน

โมเดลเทคโนโลยีพลังงานสู้ภัยแล้ง (โมเดล พน.)

เป็นโมเดลการจัดหาเทคโนโลยีพลังงานที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนาการผลิตและคุณภาพชีวิตเกษตรกร ซึ่งเป็นภารกิจดั้งเดิมที่กระทรวงพลังงานและกองทุนฯดำเนินการอยู่  รูปแบบการจัดการพลังงานชุมชนในลักษณะที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวตั้งและดำเนินการสนับสนุนกลุ่มประชาชนเป็นจุดย่อยๆ

เช่น เครื่องสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์สำหรับกลุ่มเกษตรกรขนาดเล็ก (ขั้นต่ำ 7 ครอบครัว) หรือในระดับหน่วยงาน-องค์กร เช่น ติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงานในสถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชน โรงเรียน อบต.ฯลฯ

โครงการในปี 2563 จะมีการสานต่อและสนับสนุนให้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนำพลังงานทางเลือกไปใช้ในการแก้ปัญหาภัยแล้ง

เครือข่ายชุมชมพลังงานทางเลือก (โมเดล สช.)

ชุมชนเข้มแข็ง หมายความว่า ชุมชนที่มีความรักความสามัคคีเป็นปึกแผ่น มีองค์ชุมชนที่เกิดจากการรวมตัว ร่วมคิดร่วมทำ ร่วมจัดการปัญหาของตนเองเป็นกลุ่มอย่างหลากหลาย ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพมาประกอบเข้าด้วยกัน มีผู้นำและกติกาชุมชน(จารีต)ที่เข้มแข็ง

เครือข่ายชุมชมพลังงานทางเลือก เป็นความสัมพันธ์ของข่ายงานชุมชนเข้มแข็ง ที่มีความรอบรู้และมีประสบการณ์พึงตนเองในด้านพลังงานทางเลือก  และสามารถสร้างสรรค์ พัฒนาและบริหารกิจการ “วิสาหกิจพลังงาน” เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและคุณภาพชีวิตในชุมชนท้องถิ่นของตน

***เนื้อหาบางส่วน จากเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการ การขับเคลื่อนนโยบายพลังงานชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก สร้างชุมชนสุขภาวะ-ชุมชนเข้มแข็ง รุ่นที่ 1 วันที่ 30 มกราคม 2563 – 1 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรมราชศุภมิตร จังหวัดกาญจนบุรี นำเสนอโดย นพ.พลเดช  ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา