ในสถานการณ์ COVID-19

โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา, 23 กุมภาพันธ์ 2563

สถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดในหลายประเทศ ประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความเสี่ยงสูง

ไวรัสระบาดทั่วโลก ประเทศไทยเสี่ยงสูง

ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 กรมความคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่าการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศจีนเริ่มจากเมืองอู่ฮั่นและต่อมาระบาดไปอีกหลายเมือง พบผู้ป่วยติดเชื้อในทุกมณฑล ทางการจีนรายงานผู้ป่วยทั้งสิ้น 75,467 ราย เสียชีวิต 2,236 ราย

พบผู้ป่วยยืนยันนอกประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ จำนวน 1,325 ราย ในประเทศไทย 35 ราย รวมมีผู้ป่วยยืนยันในทุกทวีป 29 ประเทศ 2 พื้นที่บริหารพิเศษ จำนวน 76,792 ราย อาการหนัก 12,065 ราย ขณะนี้มีหลักฐานการติดต่อจากคนสู่คน พบผู้ป่วยยืนยันในผู้ที่ไม่มีประวัติการเดินทางไปประเทศจีน แต่มีประวัติใกล้ชิดกับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค

องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ(Public Health Emergency of International Concern) เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2563  ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูง เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญของโลกและเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นของนักท่องเที่ยวจีน

ก่อนหน้าการระบาดมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยวันละ 3-4 หมื่นคน จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงหลังจากทางการจีนปิดสนามบินเมืองอู่ฮั่น และห้ามบริษัททัวร์ส่งนักท่องเที่ยวไปต่างประเทศ รวมทั้งมีการยกเลิกเที่ยวบินในประเทศไทยที่มีเส้นทางเข้าออกประเทศจีนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 28 มีนาคม 2563 จำนวน 2,350 เที่ยว

คนไทยเดินทางไปประเทศจีนประมาณปีละ 7 แสนคน และอยู่อาศัยในประเทศจีนประมาณ 12,000 คน โดยเป็นนักเรียนนักศึกษาประมาณ 2 ใน 3  ซึ่งเมืองอู่ฮั่นมีนักศึกษาไทยไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ส่วนคนจีนเดินทางมาประเทศไทย ปีละประมาณ 10 ล้านคน

สาธารณสุขไทยพร้อมรับมือ

ประเทศไทยมีการเตรียมตัวล่วงหน้าเร็วมากนับตั้งแต่มีข่าวผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศจีน ไม่มีนโยบายปิดประเทศหรือจำกัดการเดินทางให้เกิดความตื่นตระหนกแต่อย่างใด โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง คัดกรอง ป้องกันและควบคุมโรคด้วยมาตรการพื้นฐานที่เรียบง่าย ดังนี้                                                                  

1) ทำการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศใน 6 ท่าอากาศยาน ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และกระบี่

2) แจ้งให้สถานพยาบาลทำการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ร่วมกับมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ และมีประวัติการเดินทางจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ภายใน 14 วัน

3) การเฝ้าระวังในชุมชนโดยให้ความรู้ประชาชน เมื่อพบนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค มีอาการไข้ ร่วมกับมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้แจ้งบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ หรือ ผ่านสายด่วนกรมควบคุมโรค DDC Hotline 1422

ภายใน 14 วัน หลังเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่มีการระบาด หากมีไข้ร่วมกับอาการทางเดินหายใจ ได้แก่ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ควรรีบพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทางให้เจ้าหน้าที่ทราบ

นอกจากนั้น ขณะนี้ได้แนะนำเพิ่มเติมให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ตามประกาศของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ระงับเที่ยวบินเข้าออกจากเมืองอู่ฮั่นตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2563 และขยายเวลาขยายพื้นที่ออกไปตามความจำเป็นของสถานการณ์โรค

ยังคุมสถานการณ์ได้ แต่ไม่ควรประมาท

ในขณะที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์มีสถานการณ์ที่แย่ลงจนเกิดความปริวิตก แต่ประเทศไทยกลับควบคุมสถานการณ์ค่อนข้างดี โดยยังคงเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวตามปกติ แต่จัดให้มีมาตรการที่ปฏิบัติตามแนวทางการควบคุมโรคระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลก (International Health Regulations 2005) อย่างเคร่งครัด  ให้ความสำคัญใน 3 หลักการใหญ่ ได้แก่ 1)การหยุดยั้งและสกัดกั้นที่ต้นเหตุ (containment of source) 2)ความพร้อมรับมือกับภาวะคุกคามในวงกว้าง (board range of threats)  3)การเรียนรู้และปรับตัวตอบสนอง (adapted response)

แม้กรณีที่มีการตรวจคัดกรองอย่างเข้มงวดที่สนามบิน ท่าเรือ ด่านเข้าออกชายแดน รวมทั้งการมีแนวนโยบายเฉพาะต่อการขอเทียบท่าฉุกเฉินของเรือสำราญเวสเตอร์ดัมหรือรายอื่นๆ ก็เป็นไปตามหลักการและแนวทางดังกล่าว.

ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินกรณีโรคไวรัสโคโรนา (COVID-19) ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ล่าสุด ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 พบผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันทั้งสิ้น 35 ราย  ในจำนวนนี้กลับบ้านแล้ว 20 ราย ยังนอนอยู่ในโรงพยาบาล 15 ราย รุนแรงมาก 2 ราย

ส่วนผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ต้องเฝ้าระวังมี 1,252 ราย เป็นกลุ่มที่ถูกส่งมาจากการคัดกรองที่สนามบิน 60 ราย และกลุ่มที่เข้ามารักษาเอง 1,181 ราย ซึ่งในจำนวนทั้งหมดส่วนนี้ อนุญาตให้กลับบ้านได้โดยติดตามดูอาการ 1,004 ราย และรับไว้ดูแลต่อในโรงพยาบาลอีก 246 ราย

ต่างประเทศมองไทย 

ต่อประเด็นต่างชาติเขามองว่าประเทศไทยมีความพร้อมรับมือสถานการณ์โคโรน่าไวรัสสักแค่ไหน  ในเรื่องนี้อาจประมาณได้จากรายงาน “2019 Global Health Index”  ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความมั่นคงทางสาธารณสุขของประเทศต่างๆทั่วโลก เกี่ยวกับมาตรการที่จะใช้รับมือกรณีมีสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรง

จากผลการประเมินและจัดอันดับล่าสุดในปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าประเทศไทยติดอันดับที่ 6 จาก 195 ประเทศทั่วโลก ดัชนีนี้เขาวัดปัจจัยสำคัญ 34 ประเด็น จากแบบสอบถามผู้เชี่ยวชาญนานาชาติรวม 140 ข้อ  มีเนื้อหาครอบคลุมมาตรการการป้องกันโรคระบาด การตรวจสอบ การตอบสนองสถานการณ์ ระบบสาธารณสุข ความปลอดภัยเจ้าหน้าที่การแพทย์ การปฏิบัติตามาตรฐานสากล และปัจจัยเสี่ยงโดยรวม

ประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดคือสหรัฐอเมริกา 83.5 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน รองลงมาคือสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา และประเทศไทยซึ่งมาเป็นอันดับที่ 6  ได้ 73.2 คะแนน  นับเป็นประเทศเอเชียที่มีอันดับสูงสุด สูงกว่าเกาหลีใต้

ประเทศไทยทำคะแนนได้ดีที่สุดในด้านระบบสาธารณสุข ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยและการปกป้องเจ้าหน้าที่การแพทย์ ส่วนรองลงมาคือด้านการป้องกันการระบาดของเชื้อโรค

รายงานการวิจัยยังได้ชี้อีกว่า ประเทศทั่วโลกโดยเฉลี่ยมีคะแนนเพียง 40.2 คะแนน  ส่วนคะแนนเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง 60 ประเทศแรกก็มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 51.9 คะแนนเท่านั้น

ในขณะที่เว็บไซท์การวิจัยอีกแหล่งหนึ่ง ที่เคลมว่ามีดาต้าเบสสำหรับสถานที่มีผู้ใช้และผู้ติดตาม (UGC)ใหญ่ที่สุดในโลก ชื่อว่า numbeo.com  เขาก็ยกย่องให้ไทยเป็นประเทศที่มี”ระบบสาธารณสุขดีที่สุดในโลก” โดยมี health care index สูงถึง 79.21 จากคะแนนเต็ม 100  นับเป็นอันดับที่ 6 อีกเช่นกัน

แต่นี่ก็ไม่ควรทำให้เราต้องตกอยู่ในความประมาทนะครับ .

ขอบคุณภาพหน้าปกจาก nationweekend.com