COVID-19 ทดสอบสาธารณสุขไทย

โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา, 24 กุมภาพันธ์ 2563

Table of Contents

การประกาศสถานการณ์การระบาด จาก 2 ขึ้นเป็น 3 ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าจะช่วยให้หน่วยงานทุกระดับและประชาชนมีความระมัดระวังตัวเอง

การประกาศยกระดับสถานการณ์การระบาด จาก 2 ขึ้นเป็น 3 ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้ามันจะช่วยให้หน่วยงานทุกระดับและประชาชนมีความระมัดระวังตัวเองยิ่งขึ้น  แต่สิ่งที่มาแน่คือผลกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก ทุกคนต้องเตรียมรับมือด้วยการจัดการตนเอง จะเอาแต่เรียกร้องหรือรอคอย ก็ไม่มีรัฐบาลหรือใครมาโอบอุ้มเราได้  และสิ่งที่ท้าทายสำหรับประเทศไทยในรอบนี้ คือโอกาสการแสดงฝีมือให้โลกประจักษ์ สร้างความน่าเชื่อถือในระบบสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉิน โดยมีเครดิตประเทศเป็นเดิมพัน

โครงสร้างพื้นฐานสาธารณสุขไทย

ระบบการแพทย์และการสาธารณสุขไทย ได้รับการพัฒนาและวางรากฐานมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการปฏิรูประบบเป็นช่วงๆ นับตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงสร้างโรงพยาบาลศิริราช มีการจัดตั้งกรมสาธารณสุขขึ้นในกระทรวงมหาดไทย จนกระทั่งแยกตัวออกมาเป็นกระทรวงต่างหากอย่างในปัจจุบัน

ด้วยนโยบายการสร้างโรงพยาบาลและขยายบริการประชาชนออกไปในทุกจังหวัด ทุกอำเภอ รวมทั้งมีสถานีอนามัยอยู่ในทุกตำบล ทำให้สามารถใดูแลประชาชนได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง เราจึงมีระบบบริการสุขภาพที่ครบถ้วน ทั้งในระดับเบื้องต้น ระดับพื้นฐาน ระดับเทคโนโลยีก้าวหน้า และระดับศูนย์บริการแห่งความเป็นเลิศซึ่งเชื่อมโยงกันและกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาค

นอกจากนั้น ประเทศไทยยังได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกงานสาธารณสุขมูลฐาน เป็นต้นแบบแห่งหนึ่งของโลก  เรามีระบบงานและเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขที่เข้มแข็ง  มีงานสร้างเสริมสุขภาพที่โดดเด่นและมีระบบหลักประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้า ซึ่งองค์การอนามัยโลกถือเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญสำหรับประเทศสมาชิก เพราะระบบสาธารณสุขไทยก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก ทั้งๆที่ยังเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับกลางเท่านั้น

ภาพลักษณ์การสาธารณสุขไทย

กลางปี 2018  องค์การอนามัยโลกประกาศผลการจัดอันดับคุณภาพ “ระบบสาธารณสุข” ของประเทศสมาชิก จำนวน 190 ประเทศ  ประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 47 ของโลก เป็นที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์และบรูไน ในขณะที่มาเลเซียเป็นที่ 49 และเกาหลีใต้อันดับที่ 58

ในปีเดียวกัน สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้รายงาน “ดัชนีประสิทธิภาพระบบสุขภาพ” (health care efficiency index) เพื่อจัดอันดับประเทศที่มีความคุ้มค่าด้านระบบดูแลสุขภาพ โดยคำนวณเปรียบเทียบระหว่างค่าใช้จ่ายกับอายุขัยโดยเฉลี่ยของคนในประเทศ  ล่าสุดในปี พ.ศ.2561  ไทยอยู่ในอันดับที่ 27 ของโลก จาก 56 ประเทศ (เปรียบเทียบปี พ.ศ.2560 อยู่อันดับ 41 ) โดยค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพเฉลี่ยต่อประชากร 1 คน ของไทยลดลงอยู่ที่ 219 ดอลลาร์สหรัฐ สวนทางกับอายุเฉลี่ยของประชากรที่เพิ่มขึ้นเป็น 75.1 ปี

ทางด้าน CEOWORLD นิตยสารด้านธุรกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดอันดับของ “ประเทศที่มีระบบสุขภาพดีที่สุดในโลก” ประจำปี 2019  จากทั้งหมด 89 ประเทศ โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ อันได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข ประสิทธิภาพของบุคลากรด้านสาธารณสุข ค่าใช้จ่ายในระบบ การเข้าถึงยาคุณภาพ และความพร้อมของรัฐบาลในการจัดการระบบ  ประกาศท็อปเท็นของโลก คือ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรีย เดนมาร์ก ไทย สเปน ฝรั่งเศส เบลเยี่ยมและออสเตรเลีย ตามลำดับ

งานระบาดวิทยาเข้มแข็ง

ระบบการป้องกันและควบคุมโรคของประเทศไทย เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีศักยภาพเข้มแข็ง ระบาดวิทยาเป็นงานหลังฉากที่คนทั่วไปมักมองไม่เห็น ต่อเมื่อมีโรคระบาดขนาดใหญ่เกิดขึ้นสังคมจึงรับรู้เรื่องราวและเห็นคุณค่า

แต่กระทรวงสาธารณสุขไทย มีวิสัยทัศน์เรื่องนี้อย่างชัดเจนและวางรากฐานงานระบาดวิทยาเอาไว้อย่างแข็งแรงมาเป็นเวลาช้านาน มีกรมควบคุมโรคเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก จึงสามารถนำพาประเทศและสังคมไทยผ่านสถานการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ๆ ที่เป็นวิกฤติกันทั่วโลกมาได้อย่างตลอดรอดฝั่ง ไม่ว่าจะเป็น HIV/AIDS  SARS  H5N1  MERS ฯลฯ

โครงการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญระบาดวิทยาภาคสนาม (FETP หรือ Field Epidemiology Training Program )เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2523 โดยยังคงดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โครงการนี้ได้ผลิตแพทย์ สัตวแพทย์ และนักการสาธารณสุข ให้เป็นนักระบาดวิทยาไปแล้วจำนวนมาก

ในปี 2541 FETP ได้ขยายเป็นโครงการนานาชาติ เพิ่มการฝึกอบรมให้แก่แพทย์และสัตวแพทย์จากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา  จนกระทั่งในปี 2544 องค์การอนามัยโลกประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEARO) ได้แต่งตั้งให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมระดับนานาชาติ( WHO Collaborating Center for Research and Training in Field Epidemiology)

“นักระบาดวิทยา” เป็นกำลังคนที่สำคัญในการทำงานป้องกันและควบคุมโรค แต่กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจจากแพทย์เท่างานด้านรักษา ทุกวันนี้จึงมีนักระบาดระดับเชี่ยวชาญทั่วประเทศไม่ถึง 200 คน ครึ่งเดียวของจำนวนมาตรฐาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลักษณะงานที่ปฏิบัติมีความเสี่ยงสูง ต้องเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่โรคระบาดเพื่อตรวจหาเชื้อโรคและแหล่งต้นตอการระบาด

SAT room และ EOC-Net

ระบบข้อมูลข่าวสารเพื่อการเฝ้าระวังโรคระบาดและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข(กรมควบคุมโรค)ได้ลงทุนลงแรงสร้างนวัตกรรม และพัฒนาไม่หยุดนิ่ง

SAT room เป็นห้องปฏิบัติการของ “ทีมเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพ” (Situation Awareness Team) ซึ่งทีมนักระบาดวิทยาระดับผู้เชี่ยวชาญของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายมานั่งทำงานร่วมกัน แบบ 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามประเมินสถานการณ์จากข้อมูล “เครือข่ายศูนย์เฝ้าระวังโรคระบาดและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉินทั่วโลก” ( Emergency Operation Centers Network หรือ EOC-Net) แบบ Real Time ภัยสุขภาพในภาวะ

ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว 

จากการระบาดของกลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (Severe Acute Respiratory Syndrome, SARS) เมื่อปีพ.ศ. 2545-2546 และการระบาดของโรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ มือเท้าปาก คอตีบ และโรคติดต่อต่างๆ ในระยะต่อมา ทำให้เป็นที่ตระหนักว่าโรคภัยไข้เจ็บที่รุนแรง โรคที่ไม่รู้จัก หรือโรคที่เคยสงบไปแล้ว ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกเสมอ

กรมควบคุมโรคจึงปรับกลยุทธ์ใหม่ ใช้อำเภอเป็นฐานปฏิบัติการ สร้างอำเภอควบคุมโรคเข้มแข็งแบบยั่งยืนโดยมีทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (Surveillance and Rapid Response Team : SRRT) เป็นกลไกสำคัญ ดำเนินการจัดตั้งและพัฒนาทีมอย่างเป็นระบบมาตั้งแต่ปี 2554  เป็นเครือข่ายครอบคลุมอยู่ในทุกตำบล

บทบาทหลักของทีมและเครือข่าย SRRT เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎอนามัยระหว่างประเทศ คือ 1) การตรวจจับเหตุการณ์การป่วยหรือตายที่ผิดปกติ 2) การรายงานข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ ได้แก่ ลักษณะอาการทางคลินิก จำนวนผู้ป่วย/ตาย พื้นที่เสี่ยง 3) การควบคุมโรคขั้นต้นทันที แบบที่เรียกว่า “รู้เร็ว แจ้งเร็ว ควบคุมเร็ว”

ระบบกักกันโรค และห้องแล็บ

เมื่อการตรวจคัดกรองโรคในกลุ่มคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง หากพบอาการที่บ่งบอกว่าเข้าเกณฑ์น่าสงสัยว่าจะติดเชื้อ เช่น COVID-19  และจำเป็นต้องใช้มาตรการ “แยกกัก”(Isolation) หรือ “การกักกัน” (Quarantine) รวมทั้งห้องควบคุมโรคแบบแรงดันเป็นลบ โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลจังหวัดสามารถรองรับได้

นอกจากนั้นยังมี ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์การแพทย์ระดับอ้างอิง (Reference Medical Laboratory) เป็นเครือข่ายห้องปฏิบัติการโรคติดเชื้ออุบัติใหม่(EID Lab Network) ที่จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2556 ด้วยทุนขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ(USAID) ผ่านองค์การอนามัยโลก โดยมีสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการจัดตั้งเครือข่าย ร่วมกันกับหน่วยงานในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชน ห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลที่มีห้องปฏิบัติการ (Designated Receiving Area -DRA)

ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 85 แห่ง เป็นภาครัฐ 78 แห่งและภาคเอกชน 7 แห่ง สามารถให้บริการห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้ครอบคลุมทั่วประเทศ มีศักยภาพตรวจจับเชื้อก่อโรคที่มีแนวโน้มระบาดข้ามประเทศได้ตามที่กำหนดในกฎอนามัยระหว่างประเทศ  วินิจฉัยและส่งต่อตัวอย่างได้อย่างรวดเร็วทุกพื้นที่  พร้อมตอบโต้กับภาวะฉุกเฉิน

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ  

วัคซีนเป็นเทคโนโลยี่ที่จำเป็นต่อการป้องกันและควบคุมโรคระบาด แต่ดูเหมือนว่าที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีการลงทุนในเรื่องนี้น้อยไปหน่อย สถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นหน่วยงานใหม่ที่เพิ่งตั้งขึ้นได้ไม่กี่ปี  ในภาพรวมพึงตระหนักว่าเรายังพึ่งตนเองได้น้อยในเรื่องนี้

ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนมีการพัฒนาไปอย่างมาก โดยเฉพาะการผลิตวัคซีนแต่เดิมใช้เซลเป็นฐาน (egg  based) กำลังเปลี่ยนมาเป็นการใช้พืชเป็นฐาน (plant based) ซึ่งทำให้มีต้นทุนต่ำ ราคาถูกลง และคุณภาพดี มีอาการแพ้ในอัตราที่ต่ำมาก

การลงทุนพัฒนาระบบวัคซีน จึงเป็นประเด็นย่อยอีกเรื่องหนึ่งสำหรับการปฏิรูปงานป้องกันและควบคุมโรค ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข

คงต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทั้งผลักดัน ทั้งออกแรงดึง ติดตามกันต่อไปนะครับ.

ขอบคุณภาพหน้าปกจาก nationweekend.com