31 มีนาคม 2563
ถึง พี่น้องเครือข่ายศูนย์ประสานงานภาคีการพัฒนาจังหวัด ทุกพื้นที่
1.ในรอบสัปดาห์ ข่าวผู้ใช้แรงงานอพยพกลับบ้านในต่างจังหวัดและการเดินทางกลับประเทศของแรงงานต่างชาติ เมื่อประกอบเข้ากับข่าวความปั่นป่วนน้อยๆในสังคมชนบทไทย ที่เกิดจากผู้คนจำนวนหนึ่ง (ส่วนมากเป็นผู้ชาย) ยังคงใช้วิถีชีวิตแบบเฮฮาปาร์ตี้กันตามปกติโดยไม่ตระหนักถึงภัยสงครามไวรัสที่คืบคลานมาถึงตัว ในขณะที่พี่น้อง อสม. (ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง) ต้องใช้ความอดทนอธิบาย ชี้แจงและเกลี่ยกล่อมขอความร่วมมืออย่างเฉลียวฉลาด เป็นภาพสะท้อนของสังคมไทยในยุคที่กำลังต่อสู้กับข้าศึกที่มองไม่เห็นด้วยด้วยตาเปล่าและตาเนื้อ ในภาวะเช่นนี้สิ่งที่ต้องการคือ สติปัญญา หัวใจความเป็นมนุษย์ และสัญชาติญาณปกป้องดูแลแบบแม่
2. การต่อสู้กับโควิดไวรัส รู้เพียงว่ามาจากเมืองหนาว โจมตีเราเหมือนไข้หวัดใหญ่ หลักการสำคัญที่สุด คือ การตั้งรับและหาวิธีป้องกันตัวเองไม่ให้พลาดท่าตกเป็นเหยื่อ เหมือนป้องกันหวัดในฤดูฝนหรือฤดูหนาว รอเมื่อเวลาและสภาพภูมิอากาศผ่านไปตามฤดูกาล ท้องฟ้ากลับมาปลอดโปร่งแจ่มใส วิถีการต่อสู้กับมันจึงไม่ใช่การแสดงความห้าวหาญบุกออกไปท้าตีท้าต่อย ทำลายไม่หมด ไม่อาจหวังชนะในเวลาสั้น ตรงกันข้าม คำแนะนำจากแพทย์และนักระบาดวิทยาผู้อ่อนโยนที่ให้ใช้วิธี หยุดนิ่ง เว้นระยะห่าง รักษาสุขอนามัย ระวังการกินการอยู่และการสัมผัส กลายเป็นอาวุธพื้นฐาน แม้แต่เด็กเล็กและผู้อ่อนแอก็สามารถใช้ปกป้องคุ้มครองตัวเองได้
3. เพื่อรณรงค์มาตรการสร้างระยะห่างทางสังคม ป้องกันการระบาดของโควิดไวรัสในชุมชน ถึงเวลาที่ข่ายงานพลเมืองอาสา 81,000 คน ของพวกเราที่อยู่ในทุกอำเภอ-ตำบล จะต้องจับมือผนึกกำลังกับพี่น้อง อสม. ในหมู่บ้าน 1,200,000 คน เพื่อสร้างโครงข่ายปฏิบัติการสายตรวจชุมชน เฝ้าระวังเตือนภัยการจับกลุ่มชุมนุมชนที่ล่อแหลม จัดระบบป้องกันภัยสุขภาพแบบบ้านๆ พัฒนาการติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสานงานระหว่างกัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการของภาครัฐ ให้ความร่วมมือกับภาคธุรกิจทุกองค์กรที่มาช่วยชุมชน ประคับประคองสังคมให้ผ่านพ้นวิกฤติ
4. อุปกรณ์ป้องกันพื้นฐาน หน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เป็นสิ่งที่เราสามารถผลิตขึ้นใช้เองได้ ควรที่กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล และ อบต.-เทศบาลจะสนับสนุนให้กลุ่มองค์กรวิสาหกิจชุมชนที่มีอยู่ตำบลละ 30-40 กลุ่ม ปรับตัวเป็นโรงงานของชุมชน ทำการผลิตเวชภัณฑ์ป้องกันเพื่อแจกจ่ายให้มีใช้อย่างเพียงพอกันทุกคน ทุกครัวเรือน ทุกหมู่บ้าน รวมทั้งแจกจ่ายให้กับชุมชนข้างเคียงและสนับสนุนสถานพยาบาลในพื้นที่
5. กระบวนการผลิตและแจกจ่ายเวชภัณฑ์ป้องกันในยามเช่นนี้ นอกจากเป็นการศึกษาสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจากการลงมือปฏิบัติและเรียนรู้ร่วมกัน ยังจะเป็นการบ่มเพาะผู้ประกอบการทางสังคมและสร้างนักธุรกิจชุมชนรุ่นใหม่ขึ้นมาได้มากมาย ถ้ามีโอกาสฝึกฝนเรียนรู้การบริหารจัดการจากพี่เลี้ยงที่เหมาะสม มันจึงมีความหมายที่มากไปกว่าจัดหาสิ่งของเพื่อใช้เฉพาะหน้า
โรคระบาดทั้งหลายมาแล้วก็ไป ไม่มีโรคใดจะคงอยู่และคุกคามเราอย่างนี้ไปตลอดปีตลอดชาติ
ร่วมกันถือธง นำพาชุมชนลุกขึ้นปกป้องตนเองและครอบครัว อดทนและมีระเบียบวินัย นะครับ
นายแพทย์ พลเดช ปิ่นประทีป
ประธานมูลนิธิพัฒนาประชาสังคม.

