ไทยรวมพลัง ต้านโควิดไวรัส

โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา, 23 มีนาคม 2563

ถ้าถึงตอนนั้นจริง ก็ต้องวัดดวงกันที่ “ทุนทางสังคม” หรือ ความรักความสามัคคีและความเอื้ออาทรที่มีต่อกัน

รู้สึกใจชื้นขึ้นมาก เมื่อเห็นรัฐบาลลุกขึ้นมาถือธงนำพาประเทศและสังคมไทยต่อสู้กับการระบาดใหญ่ของโรคโควิดไวรัส โดยไม่ปล่อยให้กระทรวงสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ต้องดิ้นรนปลุกปล้ำกับสถานการณ์ผลกระทบจากระลอกคลื่นขนาดใหญ่ ลูกแล้วลูกเล่า ไปตามลำพัง

คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 72/2563 เรื่องจัดตั้งศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาเชื้อไวรัสโควิด-19 มุ่งทำให้การป้องกันการแพร่ระบาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บูรณาการความช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนทุกมิติ รวมทั้งสร้างความรับรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนให้รู้เท่าทัน ไม่ตื่นตระหนกในข่าวสารอันไม่เป็นความจริง

เรียกชื่อโดยย่อว่า“ศูนย์ข้อมูลโควิด-19” ตั้งอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล มีผู้อำนวยการศูนย์เป็นผู้ดูแลโดยขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ต้องรายงานความคืบหน้าทุกวัน ใช้งบประมาณจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในการดำเนินการ

นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรียังได้ออกมาแถลงและประกาศจุดยืน ท่าที และนโยบาย ต่อประชาชนทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 อย่างหนักแน่นว่า  

“ การระบาดของโรคนี้ยังคงดำเนินไปอีกระยะหนึ่ง ผมรู้ว่าพวกเราทุกคนต้องลำบาก ต้องเจ็บปวด แต่เราต้องอดทนร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน ผมขอขอบคุณผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่ายและประชาชนทุกคน. ประเทศไทยต้องชนะ. ”

ท่านได้กล่าวถึงสถานการณ์ว่าบัดนี้มีการระบาดไปแล้วถึง 154 ประเทศ มีจำนวนผู้ป่วยรวม 167,543 รายทั่วโลก และประเทศไทยเองมีผู้ติดเชื้อแล้ว 147 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 38 ราย เสียชีวิต 1 ราย และยังไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น

“ ที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถชะลอการแพร่กระจายของโรคได้ดี ด้วยระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งและความร่วมมือของทุกฝ่าย แต่การระบาดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดขึ้นจากมีการรวมตัวของประชาชนในจำนวนมากและเป็นช่วงที่มีจำนวนผู้ป่วยเกิดขึ้นมากทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ”

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ประชาชนย่อมมีความกังวล บางท่านอาจจะรู้สึกกลัวการติดเชื้อเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะมีการเสนอข่าวการแพร่ระบาดและผู้เสียชีวิตในต่างประเทศจำนวนมาก รวมถึงมีข่าวสารมากมายที่ไม่ได้ผ่านการคัดกรอง ได้ส่งถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว ในข่าวสารเหล่านั้น บางส่วนก็ไม่เป็นความจริง ทำให้เกิดความตระหนกแตกตื่น จึงเริ่มมีการกักตุนหน้ากากอนามัย และสินค้าอุปโภค บริโภค ซึ่งไม่มีความจำเป็น

“รัฐบาลไม่เคยนิ่งนอนใจ จนถึงวันนี้ รัฐบาลและทุกภาคส่วนได้ร่วมมือร่วมใจทำงาน ในการคัดกรองผู้ป่วยตามมาตรฐานสากลอย่างมีประสิทธิภาพ”

ในฐานะผู้นำประเทศ ท่านนายกรัฐมนตรีได้ประกาศแนวทางและขอความร่วมมือจากประชาชน ดังนี้

  • งดการเดินทางไปต่างประเทศในช่วงเวลานี้
  • กรณีกลับจากกลุ่มประเทศเสี่ยงต้องกักตัวอย่างเคร่งครัด 14 วัน
  • รักษาสุขอนามัยส่วนตัว เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการไปสถานที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เพราะมีโอกาสจะแพร่เชื้อ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย
  • อย่ากักตุนสิ่งของ อย่าวิตกกังวลจนเกินไป ขอให้มีความเชื่อมั่นในรัฐบาล
  • ขอความร่วมมือผู้ที่ยังไม่มีอาการ ไม่มีประวัติเสี่ยงติดเชื้อ และแพทย์วินิจฉัยแล้วว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องตรวจ ก็ขอให้สังเกตอาการต่อไป เพื่อไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และจะได้มีชุดตรวจเพียงพอสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ เท่านั้น
  • ขอความร่วมมือหยุดการกระจายข่าวที่ไม่เป็นความจริง สร้างความแตกตื่นให้ประชาชน และก่อนจะมีการกระจายข่าวใดๆ ขอให้มีการตรวจสอบความถูกต้องก่อน

ถ้าจะถามว่า ต่อจากนี้ไปสถานการณ์และแนวโน้มข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ผมมองเห็นเป็น 3 ภาพครับ

ภาพแรก ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดได้เป็นอย่างดี 

ประชาชนไม่ตื่นตระหนก ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างดี สามารถยันการระบาดได้สำเร็จ โดยหยุดอยู่ได้ที่ระยะ 2  จนกระทั่งการระบาดใหญ่ทั่วโลก(pandemic)สิ้นสุดลงตามสภาวะภูมิอากาศโลก อย่างไรก็ตามมันอาจจะหวนกลับมาใหม่ได้อีกตามฤดูกาล(endemic)

เมื่อต่อไปมีวัคซีนและยารักษาเฉพาะมาถึง ประชาชนที่มีเงินย่อมสามารถซื้อหาบริการได้ ส่วนประชาชนที่ไม่มีเงินมากพอ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะเข้ามาช่วยดูแลภายใต้นโยบายระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและระบบสวัสดิการของรัฐในระดับต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประชากรกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มสำคัญย่อมได้รับการดูแลก่อน

ถ้าการระบาดตามฤดูกาลครั้งต่อไปมาถึง ประชากรส่วนหนึ่งจะมีภูมิคุ้มกันแล้ว และจะมีสัดส่วนของผู้มีภูมิคุ้มกันที่สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงคาดว่าการระบาดน่าจะไม่รุนแรงเหมือนตอนแรก

ในขณะเดียวกัน ธรรมชาติของไวรัสทุกชนิดจะมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ถ้าโชคดีเจ้า COVID-19 ตัวนี้เกิดกลายพันธุ์ไปเป็นตัวใหม่ที่ไม่ก่อโรคหรือไม่ดุร้าย มันก็อาจจะหายไปจากโลกเลยแบบเดียวกับไข้หวัดสเปน (H1N1) ในปี 1918-1920  แต่ถ้าโชคร้ายมันกลายพันธุ์เป็นดุร้ายยิ่งขึ้น เราก็ต้องเผชิญหน้าและต่อสู้กันต่อไป

ภาพสอง  ประเทศไทยควบคุมได้ดีพอสมควร

ประชาชนไม่ตื่นตระหนกจนเกินเหตุ ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข สามารถยันการระบาดจนประเทศไทยเข้าสู่ระยะที่ 3 แบบช้าๆ  ประชาชนและระบบสาธารณสุขมีเวลาปรับตัวได้ทัน ไม่เกิดความโกลาหล ระบบโรงพยาบาลที่มีอยู่สามารถแบกรับภาระดูแลผู้ป่วยได้ อาจต้องมีระบบสถานที่กักกันโรค (Quarantine) แบบชั่วคราวมาเสริมบ้าง ซึ่งในที่สุดเราจะสามารถผ่านการระบาดใหญ่ไปด้วยกันอย่างที่ท่านนายกรัฐมนตรีประกาศ

แบบนี้ก็ยังดี ผมถือว่า “เป็นชัยชนะ” หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่ “ความพ่ายแพ้” แต่ที่สำคัญประเทศไทยจะสั่งสมประสบการณ์ องค์ความรู้และภูมิปัญญาครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งชื่อเสียงเกียรติภูมิของชาติ

ภาพสาม  ประเทศไทยควบคุมไม่ได้ตามเป้าหมาย

ประชาชนตื่นตระหนกกันจนเกินเหตุ (Panic) หวาดกลัว เอาตัวรอด ไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข การระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 อย่างรวดเร็ว ระบบสังคมและสาธารณสุขปรับตัวไม่ทัน เกิดโกลาหลทั้งในและนอกโรงพยาบาล จลาจล จนระบบโรงพยาบาลที่มีอยู่แบกรับไม่ไหว ถึงคราวล่มสลาย ประชาชนต้องต่อสู้ดิ้นรนกันไปตามยะถากรรม

ถ้าถึงตอนนั้นจริง ก็ต้องวัดดวงกันที่ “ทุนทางสังคม” หรือ ความรักความสามัคคีและความเอื้ออาทรที่มีต่อกัน  พื้นที่ใด จังหวัดใดที่มีทุนทางสังคมดีกว่าและชุมชนใดที่สามารถขุดเอาทุนทางสังคมวัฒนธรรมของตนออกมาใช้แก้ปัญหาวิกฤติของตนได้ก็นับว่าโชคดีกว่าเพื่อน ส่วนพื้นที่ใดหรือชุมชนใดที่มีทุนทางสังคมน้อย คงต้องเผชิญกับชะตากรรมของตนไป

เพราะในสถานการณ์ที่เสมือนภาวะสงครามขนาดนั้น มีเงินก็คงไม่สามารถซื้อหรือแก้ปัญหาได้เสียแล้ว.

ขอบคุณภาพหน้าปกจาก nationweekend.com