โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา, 12 มีนาคม 2020
การให้ประชาชนทุกคนทุกเพศวัย มีความรอบรู้และเท่าทันปัญหาสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญกว่าอื่นใด
ในการพิจารณาให้ความคิดเห็นเสนอแนะของวุฒิสภา ต่อการรายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศซึ่งสภาพัฒน์เป็นผู้มานำเสนอในฐานะตัวแทนของรัฐบาล เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา คงเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมแล้วว่า การอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภาที่เข้าคิวกันไว้เกือบ 50 คน ได้แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูป ทั้งในด้านเนื้อหาสาระและท่วงทำนองที่สร้างสรรค์และทรงคุณวุฒิ
มีสิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายมีความกังวล คือ เรื่องแผนงาน โครงการและงบประมาณปี 2563 ที่ยังติดค้างอยู่นานเกินไปในกระบวนการของรัฐสภา และที่หนักไปกว่านั้นก็คือปัญหาระบบการตั้งงบประมาณที่ยังไม่สอดรับกับแผนปฏิรูปประเทศเอาเสียเลย ทั้งๆที่มีการย้ำนักย้ำหนาว่าหน่วยงานต้องทำคำของบประมาณให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศในส่วนที่หน่วยงานรับผิดชอบและแผนปฏิรูปเร่งด่วนของรัฐบาลตามที่เรียกกันว่า Quick Win
คราวนี้มาใหม่อีกแล้ว สภาพัฒน์ชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภาว่า รัฐบาลต้องพบปัญหาอันเนื่องมาจากแผนงานโครงการของส่วนราชการต่างๆที่ส่งข้อมูลเข้ามาตามระบบฐานข้อมูลบิ๊กดาต้าการปฏิรูป ที่เรียกกันว่า eMENSCR นั้น มีจำนวนมากเหลือเกิน จนไม่รู้ว่าควรจะโฟกัสที่ตรงไหน ซึ่งเรื่องที่ว่านี้ก็มีส่วนจริง เพราะจากข้อมูลที่รายงานเมื่อ 5 มิถุนายน 2561 นั้น พบว่ามีจำนวนมากถึง 18,469 แผนงาน/โครงการ โดยแยกเป็นจากยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้านและแผนแม่บทต่างๆ 11,106 โครงการ และจากแผนปฏิรูป 12 ด้านอีก 7,363 โครงการ
รัฐบาลเองก็ขบคิดในเรื่องนี้ว่าจะทำอย่างไร ในที่สุดมีข้อสรุปว่าให้เลือกประเด็นที่เป็นหัวใจเพียงไม่กี่อย่างเพื่อที่จะได้ทุ่มเทไปในเรื่องนั้นอย่างเต็มกำลัง เสมือนการทุ่มหินก้อนใหญ่ที่สุดลงไปในน้ำ ให้เกิดแรงกระเพื่อมไปยังประเด็นอื่นๆที่เหลือ จึงเกิดคำที่เรียกกันว่าเป็น “โครงการแบบบิ๊กร็อค” (Big Rock)
เมื่อเร็วๆนี้ ผมมีโอกาสได้นั่งสนทนาตามประสา ส.ว. กับ นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ท่านเป็นประธานอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข อดีตของท่านเคยเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงมีความเข้าใจต่อระบบงานสาธารณสุขและปัญหาอุปสรรคในเชิงโครงสร้างได้เป็นอย่างดี
ในภาพรวมของแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขที่ท่านรับผิดชอบ ประกอบด้วย 4 ด้าน 10 ประเด็นปฏิรูป ได้แก่ 1)การจัดตั้งกลไกคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ 2)การจัดให้มีกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับเขต 3)การวางระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศสุขภาพ 4)ระบบแผนกำลังคนด้านสุขภาพในระยะยาว 5)ระบบบริการการแพทย์ปฐมภูมิ 6)การพัฒนาระบบแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยเพื่อเศรษฐกิจ 7)ระบบการแพทย์และการสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉิน 8)การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 9)การส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ คุ้มครองผู้บริโภคและผู้ให้บริการ 10)ระบบความยั่งยืนและเพียงพอด้านการเงินการคลังสุขภาพ
เมื่อถามว่าคณะกรรมาธิการสาธารณสุขของวุฒิสภาจะให้ความสำคัญอะไรก่อน-หลัง ท่านได้หยิบยกมาอธิบายอยู่ 4 เรื่องใหญ่ เริ่มจากตอบคำถามว่าการปฏิรูปสาธารณสุขในคราวนี้ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร กรรมาธิการของท่านจึงให้ความสำคัญต่อเรื่องปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขที่ด่านหน้าเป็นอันดับแรก ต้องทำให้บริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพและโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งอยู่ใกล้ชาวบ้านมากที่สุด สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ
เป็นการดำเนินการพัฒนาระบบการแพทย์ปฐมภูมิตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อาศัยการเชื่อมโยงสถานบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ภาคเอกชน องค์กรปกครองท้องถิ่นและทุกภาคส่วนให้เข้ามาเป็นเครือข่าย และจัดให้มีแพทย์ พยาบาลและทีมเวชศาสตร์ครอบครัวเข้าไปเสริมในทุกเครือข่าย
ท่านบอกว่าปัจจุบัน แนวโน้มการเจ็บป่วยของประชาชนที่ไปรอเข้าคิวแน่นโรงพยาบาล ส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ (NCD) เช่น เบาหวาน ความดัน หลอดเลือดหัวใจ ไขมันในเลือด ซึ่งต้องการการดูแลในเชิงปรับพฤติกรรม อาหารการกิน ออกกำลังกาย ป้องกันภาวะแทรกซ้อน รวมทั้งการรับยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ซึ่งเครือข่ายทีมแพทย์ปฐมภูมิสามารถดูแลได้มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพและเข้าถึงครัวเรือนได้ดีกว่า
เรื่องที่สอง ท่านเน้นว่าการให้ประชาชนทุกคนทุกเพศวัย มีความรอบรู้และเท่าทันปัญหาสุขภาพ เลือกรับข้อมูลข่าวสาร และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงด้วยตัวเองเป็นสิ่งสำคัญกว่าอื่นใด จึงต้องให้ความสำคัญต่อประเด็นปฏิรูปงานสร้างเสริมสุขภาพกันอย่างจริงจัง ต้องทำให้สถาบัน หน่วยงานและองค์กรการสื่อสารที่เกี่ยวข้องเข้ามาบูรณาการกัน
เรื่องที่สาม ท่านชี้ประเด็นว่าการให้บริการแก่ประชาชนที่เจ็บป่วยมารับการรักษากันจนล้นโรงพยาบาล จะไม่สามารถปรับปรุงพัฒนาระบบและคุณภาพได้เลย ถ้าหากว่าโรงพยาบาลยังไม่สามารถบริหารจัดการตนเองได้อย่างเป็นอิสระ (Autonomy) ถ้าทุกอย่างยังรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง โรงพยาบาลที่อยู่ด่านหน้าต้องมีความเป็นนิติบุคคล ถ้าเป็นโรงพยาบาลใหญ่ก็อาจเป็นนิติบุคคลเดี่ยวๆแบบ รพ.บ้านแพ้ว ส่วนโรงพยาบาลเล็กสามารถอยู่รวมกันเป็นระบบพวงหรือเครือข่าย หลากหลายรูปแบบกันไปตามความเหมาะสม
เรื่องที่สี่ ท่านขมวดมาที่ประเด็นความเป็นเอกภาพในระดับนโยบาย ต้องมีการจัดตั้งกลไกคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติขึ้นมา รวมทั้งการจัดให้มีเขตสุขภาพ ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และมีระบบการจัดสรรงบประมาณด้านหลักประกันสุขภาพให้กลไกระดับเขตดูแล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม
สุดท้ายเมื่อย้อนกลับไปถามว่า อะไรคือบิ๊กล็อคที่กรรมาธิการสาธารณสุขจะเสนอต่อรัฐบาล
ท่านฟันธงตรงประเด็นตามสไตล์ของนักบริหาร ซึ่งผมสรุปสาระสำคัญได้ประมาณนี้ครับ
“ มุ่งสร้างความเป็นเอกภาพระดับนโยบาย กระจายการบริหารจัดการให้เขต ยกโรงพยาบาลเป็นนิติบุคคล ประชาชนรับบริการใกล้บ้านใกล้ใจ ”.
ขอบคุณภาพหน้าปกจาก nationweekend.com