โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา, 2 เมษายน 2020
ถอดแบบ “กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม” แก้เศรษฐกิจระดับฐานรากในช่วงโควิด-19 คงดีไม่น้อย
เมื่อต้องมาพบกับสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งคาดกันว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรงและอาจกินเวลาที่ยาวนาน ทำให้ผมต้องหวนกลับไปรำลึกถึงประสบการณ์และบทเรียนรู้จาก โครงการ“กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม”(Social Investment Fund –SIF) ในยุคที่ประเทศต้องรับมือกับผลกระทบทางสังคมจากวิกฤติ ”ต้มยำกุ้ง” ปี 2540
วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในคราวนั้น ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาวะการจ้างงาน ทางกรมแรงงาน คาดการณ์ว่าในปี 2541 จะมีผู้ว่างงานและผู้ถูกเลิกจ้างประมาณ 2 ล้านคน ปัญหาดังกล่าวจะขยายสู่ปัญหาสังคมในอนาคต รัฐบาลชวน หลีกภัย (ในสมัยนั้น) จึงต้องมีมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน แต่เนื่องจากไม่มีเงินงบประมาณ จำเป็นต้องขอเงินกู้จากธนาคารโลกและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ
ในโครงการเงินกู้นั้น มุ่งแก้ไขปัญหาสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ภายใต้ชื่อ “โครงการลงทุนเพื่อสังคม” (Social Investment Project – SIP) อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง การดำเนินโครงการแบ่งเป็น 2 แนวทาง
แนวทางที่ 1: เพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้น มุ่งเพิ่มโอกาสการจ้างงาน โดยผ่านโครงการและกิจกรรมของหน่วยงานภาครัฐ ที่ก่อให้เกิดการจ้างงาน เพิ่มรายได้ เพิ่มสวัสดิการทางสังคมแก่ผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาสและคนตกงาน รวม 79 โครงการ วงเงิน 13,284 ล้านบาท
แนวทางที่ 2 : เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว มุ่งปรับโครงสร้างทางสังคมอันเป็นการสร้างฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน เน้นการกระจายอำนาจ สร้างความเข็มแข็งแก่องค์กรชุมชนและองค์กรส่วนท้องถิ่น สร้างเศรษฐกิจชุมชนให้มีเครือข่ายที่สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ และกระตุ้นให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมอย่างกว้างขวาง ในส่วนนี้ดำเนินการโดยผ่านระบบ “กองทุน” ที่กระทรวงการคลังจัดตั้ง โดยมีธนาคารออมสินเป็นผู้รับผิดชอบการบริหารและจัดการ ภายใต้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญของธนาคารโลก
“กองทุน”แบ่งเป็น 2 ประเภท มีระยะเวลาทำงาน 40 เดือน ได้แก่
(1) กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (Social Investment Fund – SIF) เป็นกองทุนสนับสนุนเงินให้เปล่าแก่โครงการที่ตอบสนองความต้องการชุมชนและเพื่อชุมชน โดยองค์กรชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้ริเริ่มเสนอโครงการต่อ กองทุนSIFโดยตรง ในระยะยาวมุ่งสนับสนุนให้มี “ประชาคมจังหวัด” ที่ประกอบด้วยบุคคลทุกฝ่ายและเกิดเป็นเครือข่ายของชุมชนขึ้น
(2) กองทุนพัฒนาเมืองในภูมิภาค (Regional Urban Development Fund :RUDF) เป็นกองทุนให้เงินกู้แก่หน่วยงานท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง”เทศบาล” ในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่ช่วยส่งเสริมให้เทศบาลมีความพร้อมสำหรับการบริหารโครงการและขยายการลงทุนด้วยตนเองในอนาคต เช่น โครงการก่อสร้างถนนในหมู่บ้านโดยใช้แรงงานเป็นหลัก โครงการก่อสร้างฝายน้ำล้น โครงการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม โครงการฝึกอาชีพแรงงานในภูมิภาค โครงการฝึกอาชีพชุมชนระยะสั้นภาคเกษตรกรรม โครงการซ่อมแซมและปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดเล็ก โครงการเพื่อบรรเทาปัญหาการว่างงาน
ในครั้งนั้น ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และเอนก นาคะบุตร เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการกองทุนSIF นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้แนวคิดชุมชนเข้มแข็งในประเทศไทยมาถึงจุดก้าวกระโดดครั้งใหญ่
เป้าหมายหลักของกองทุนSIFคือการสร้างชุมชนเข้มแข็งให้เกิดได้จริง กองทุนมีหลักการสำคัญในการดำเนินงาน 8 หลักการ ได้แก่ การลงทุนและสร้าง“ทุนทางสังคม” การแบ่งปันทรัพยากรที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อการลงทุน ความเข้มแข็งมั่นคงของชุมชน องค์กรชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนา การพึ่งตนเอง ความร่วมมือหลายฝ่าย(พหุภาคี) การประชาคมร่วมเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง และการสร้างเครือข่ายประชาสังคม
กองทุน SIF มีวิธีดำเนินงานโดยสนับสนุนเงินให้เปล่ากับโครงการที่เสนอโดยองค์กรชุมชนและสมทบกับองค์กรท้องถิ่น มีโครงการ 5 ประเภท(Menu)ได้แก่
ประเภทที่ 1 โครงการพัฒนาความสามารถและการเรียนรู้ในการพัฒนาอาชีพและเศรษฐกิจชุมชน
ประเภทที่ 2 โครงการจัดสวัสดิการและความปลอดภัยของชุมชน
ประเภทที่ 3 โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
ประเภทที่ 4 โครงการพัฒนาเสริมสร้างขีดความสามารถและการสร้างเครือข่าย
ประเภทที่ 5 โครงการจัดสวัสดิการชุมชนเร่งด่วนเพื่อผู้ยากลำบาก โดยเครือข่ายองค์กรชุมชน
ผลการดำเนินงานในระหว่างพฤศจิกายน 2541 – มกราคม 2546 รวม 49 เดือน กองทุน SIF ได้ให้การสนับสนุนโครงการแก่องค์กรชุมชนต่างๆ รวม 7,874 โครงการ ในวงเงิน 4,401 ล้านบาท มีจำนวนผู้รับประโยชน์จากโครงการรวมทั้งสิ้น 13.0 ล้านคน
อาจกล่าวได้ว่า กระบวนการทำงานของ SIF เป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนผ่านการเรียนรู้และขยายผลภารกิจของกองทุนฯ จากจุดเริ่มต้นภายใต้สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ มีการพัฒนาด้านแนวคิดการทำงานพัฒนา ยกระดับสู่กระบวนทัศน์ใหม่ในเรื่องการเสริมสร้างพลังทางสังคม (Social Energy) ที่ขับเคลื่อนด้วยชุมชนและทุนทางสังคม
จากงานของกองทุน SIF ในยุคนั้น ได้ส่งผลให้หน่วยงานกระทรวงต่างๆนำเอาแนวคิดและแนวทางการทำงานชุมชนเข้มแข็งไปใช้ขับเคลื่อนงานพัฒนาตามภารกิจขององค์กรกันอย่างกว้างขวาง รูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจนในเรื่องนี้คือการทำให้เกิดองค์กรชุมชน (Community based Organization – CBO) ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการที่เกิดจากจัดตั้งและจัดการตัวเองของชุมชน เป็นหน่วยย่อยที่สุดและอยู่ในระดับฐานล่างสุดของสังคม
ในยุคก่อนที่จะมีกองทุน SIF ทั่วประเทศมีองค์กรชุมชนจำนวนน้อยมาก นับได้เป็นหลักพันหรือหมื่นต้นๆ แต่ภายหลังจากยุค SIF เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน มีองค์กรภาคีในระดับชาติไม่ต่ำกว่า 45 หน่วยงานที่ลงไปสนับสนุนจนเกิดองค์กรชุมชนที่หลากหลาย มากกว่า 25 ประเภท รวม 307,000 องค์กร
อันที่จริงในช่วงรัฐบาล คสช.ก็มีแนวนโยบายเรื่องเศรษฐกิจฐานรากและการสร้างสวัสดิการสังคมและมีการทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานล่างอยู่หลายรอบ รวมแล้วใช้เงินงบประมาณแผ่นดินไปหลายแสนล้านบาท แต่ทั้งหมดก็ล้วนเป็นเรื่องเฉพาะหน้าและเป็นงานที่ดำเนินการโดยกลไกหน่วยราชการตามปกติ ไม่มีโครงการหรือนโยบายใดที่เข้าข่ายเป็นการลงทุนทางสังคมแบบกองทุน SIF ที่ว่านี้เลย
แม้ในโครงการที่มุ่งให้ชุมชนทำเรื่องเศรษฐกิจฐานราก รัฐบาลก็เลือกใช้แต่กลไกกองทุนหมู่บ้านเท่านั้น ส่วนองค์กรชุมชนอื่นๆทั้ง 25 ประเภทไม่เคยได้รับโอกาสแสดงบทบาท ทำให้ฐานการขับเคลื่อนนั้นแคบเกินไป ขาดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพ จึงไม่มีพลังเพียงพอ
ถ้าหากในเที่ยวนี้ รัฐบาลอยากจะมีนโยบายเพื่อรับมือกับผลกระทบทางสังคมในสถานการณ์โควิด ผมเชื่อมั่นว่าด้วยกลไกแบบกองทุนSIFและเงินอุดหนุนในระดับ 10,000 ล้านบาท ในระยะเวลาดำเนินงาน 3-4 ปี กองทุนจะสามารถดูแลผู้รับผลกระทบนับสิบล้านคนและยังจะต่อยอด-ยกระดับองค์กรชุมชนที่มีอยู่แล้วอย่างหลากหลายหลาย ให้กลายเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคมอีกนับหมื่นแห่ง
ลองจัดทีมศึกษาบทเรียนรู้และประสบการณ์กองทุน SIF ยุค 2540 ดูนะครับ
ทาง World Bank Institute เขาก็คงยินดีช่วย.
ขอบคุณภาพหน้าปกจาก nationweekend.com