สานพลังชุมชน รับมือโควิด (5) “ผลกระทบ การระบาด”

2 เมษายน 2563

ถึง พี่น้องเครือข่ายศูนย์ประสานงานภาคีการพัฒนาจังหวัด ทุกพื้นที่

1. คลื่นการระบาดระลอกแรก เกิดขึ้นในแผ่นดินใหญ่จีน จากนครอู่ฮั่น มณฑลหู-เป่ย แพร่กระจายไปเกือบทุกเมืองในทุกมณฑล มีคนจีนป่วยมากกว่า 80,000 คน รวมทั้งกระจายไปยังต่างประเทศ เข้าสู่ไทย ประเทศและทวีปต่างๆ จนกระทั่งกลายเป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก

2. เพื่อความเข้าใจอย่างง่าย คลื่นการระบาดระลอกที่สอง อาจนับได้จากช่วงที่เกิดการระบาดออกไปอย่างรวดเร็วภายนอกประเทศจีนหรือในวันที่องค์การอนามัยโลกประกาศเป็นการระบาดทั่วโลก (11 มีนาคม 2563) ถึงวันนี้โควิดระบาดครบถ้วนทุกประเทศแล้ว จำนวนผู้ป่วยผู้ตายในสหรัฐอเมริกา ยุโรปและอิตาลีแซงหน้าจีน และกำลังทวีจำนวนสะสมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว กว่าแสนคนต่อวัน

3. ในขณะที่ลูกคลื่นการระบาดกำลังขยายตัวออกไปตามธรรมชาติของโรคอุบัติ-ใหม่ ในสภาวะที่ประชากรโลกยังไม่เคยมีภูมิคุ้มกันต่อมันมาก่อน การเจ็บป่วยและล้มตายจึงมีเป็นจำนวนมาก  และด้วยความหวาดกลัวต่อไวรัสตัวนี้ ทำให้เกิดอาการตื่นตระหนกและ สติแตกของสังคม (Panic) แผ่ไปทั่ว  กลายเป็นผลกระทบทางสังคมจิตวิทยาทั้งด้านบวกและด้านลบที่แผ่กว้าง เป็นลูกคลื่นที่สาม มีขนาดใหญ่โตมโหฬารไม่แพ้กัน

4. อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เรายังไม่รู้ว่าสถานการณ์โคโรน่าไวรัสทั่วโลกจะยุติลงเมื่อไร ชีพจรเศรษฐกิจของทุกประเทศในยุคโลกาภิวัฒน์ อันผูกพันอยู่กับการเดินทางท่องเที่ยวและกิจกรรมทางสังคมวัฒนธรรม รวมทั้งการกีฬา การติดต่อซื้อขายและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ฯลฯ  มีอันต้องสะดุดหยุดกึกลงแบบฉบับพลัน ทุกประเทศต้องพากันงัดเอามาตรการการเฝ้าระวัง การตรวจคัดกรองและการกักกันโรคอย่างเข้มงวดตามกติกาองค์การอนามัยโลก (2005) มาบังคับใช้  หลายแห่งถึงขั้นปิดประเทศ สายการบินระหว่างประเทศหยุดบิน

5. ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ประเมินผลกระทบความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาว่าน่าจะอยู่ระหว่าง 77,000 – 347,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 0.1% -0.4% ของจีดีพีโลก  ทั้งนี้ หากการแพร่ระบาดมีความรุนแรงในระดับปานกลาง โดยมีการบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคระบาดอย่างเช่นการจำกัดการเดินทางติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกราว 156,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือคิดเป็นสัดส่วน 0.2% ของจีดีพีโลก

6. สำหรับประเทศไทย เอดีบี คาดไว้ว่าจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจราว 5,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 1.11% ของจีดีพีไทย ซึ่งในเรื่องนี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ชี้ว่าอัตราการขยายตัวของ GDP ในปี 2563 จะลดลงอยู่ที่ 1.5-2.0% (ประมาณการเดิม 2.0-2.5%)

นี่คือ ลูกคลื่นที่สี่ ที่กำลังจะปรากฏตัว มีขนาดใหญ่มาก อีกทั้งรุนแรงและอาจลากยาวข้ามปี จะมาพร้อมกับภาวะความยากจน อดอยากหิวโหยและความฝืดเคืองของเศรษฐกิจโลกและประเทศไทย อย่างต่อเนื่อง เป็นเวลานาน.

เป็นจังหวะที่ประเด็นโรคระบาด-ภัยแล้ง-ข่ายนิรภัยสังคม-เศรษฐกิจฐานราก มาบรรจบกัน

เป็นโจทย์ให้เราต้องขบคิดกันอย่างจริงจัง นับตั้งแต่สงกรานต์ปีนี้ เป็นต้นไปนะครับ

นายแพทย์ พลเดช  ปิ่นประทีป

ประธานมูลนิธิพัฒนาประชาสังคม