16เมษายน 2563
ถึง พี่น้องเครือข่ายศูนย์ประสานงานภาคีการพัฒนาจังหวัด ทุกพื้นที่
1.สถานการณ์โควิด
วันนี้ทั่วโลกมีผู้ป่วยทะลุ 2 ล้านคนแล้ว เมื่อวานมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกือบ 80,000 คน ในขณะที่ประเทศไทยมีรายใหม่เพียง 30 ราย และมีสถิติกระเพื่อมลงอย่างต่อเนื่องมาตลอด 3 สัปดาห์ น่าจะเป็นประเทศลำดับ 3 ที่สามารถควบคุมสถานการณ์โควิดได้ในระลอกแรกถัดมาจากไต้หวันและจีน อย่างไรก็ตามคนไทยยังไม่ควรลิงโลดดีใจจนตกอยู่ในความประมาท การ์ดต้องไม่ตก.
2.มาตรการล็อคดาวน์
มาตรการที่รัฐบาลทั่วโลกเลือกใช้ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในชุมชนได้ แต่ถ้าใช้นานมากก็จะกระทบต่อชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะต่อกลุ่มประชากรที่ยากจน ผู้มีรายได้ไม่แน่นอนและผู้มีทุนสะสมน้อย เมื่อสมเด็จพระสังฆราชทรงดำริแนะนำให้ตั้งโรงทานเพื่อแบ่งเบาทุกข์ของคนไทย รวมทั้งรายงานข่าวการลุกขึ้นมาทำงานในเรื่องนี้ของผู้มีใจบุญและจิตอาสาพื้นที่ต่างๆ ก็เป็นกระบวนการทางสังคมอีกมาตรการหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยดูแลผู้รับผลกระทบในระดับชุมชนท้องถิ่น.
3.โรงทาน (Almshouse)
โรงทานเป็นสถานที่สำหรับแจกจ่ายอาหาร รวมทั้งของกินของใช้ที่จำเป็น ให้กับผู้ที่มีความต้องการ ขาดแคลน ยากลำบาก และผู้ได้รับผลกระทบทั่วไป การให้ หรือ ทาน มีอยู่ในคำสอนทุกศาสนา เป็นดีเอ็นเอทางสังคม-วัฒนธรรมที่มีอยู่ในทุกชนชาติ ทุกประเทศ มากบ้างน้อยบ้างตามเหตุปัจจัย สังคมมนุษย์จึงอยู่ร่วมกันมาได้กว่าสองหมื่นปี โรงทานในสังคมไทยจัดตั้งขึ้นตามค่านิยมที่หลากหลาย มีทั้งวัด โบสถ์ มัสยิด ศาลเจ้า โรงเจ หน่วยงานรัฐ ท้องถิ่น มูลนิธิ จิตอาสา และองค์กรอาสาสมัครภาคประชาชน.
4.ในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า
ขณะที่รัฐบาลกำลังช่วยเหลือเงินค่ายังชีพแก่แรงงานและประชาชนกลุ่มต่างๆ เครือข่ายพลเมืองอาสา ทุกอำเภอ-ตำบล ควรสนับสนุนการจัดตั้งและพัฒนาระบบโรงทานชุมชนขึ้นมาเสริม เพื่อช่วยเหลือกันเองและดูแลตัวเองเป็นโรงทานที่มีของแจกหลากหลายตามความต้องการ ให้แก่ผู้รับตามความจำเป็น ยึดหลัก การให้อย่างมีคุณค่า การรับอย่างมีศักดิ์ศรี การจัดการโรงทานต้องมีความโปร่งใสวัดหรือศาสนสถานสามารถเป็น โรงทานชั่วคราว ในระยะยาวองค์กรปกครองท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐควรเป็นโรงทานที่ถาวรใช้เป็นสถานสงเคราะห์ประชาชนได้ทุกด้าน.
5.ครัวไทยครัวโลก
แม้จะมีความมั่นใจว่าเราเป็นประเทศเกษตรกรรมที่เป็นครัวของโลก แต่ในระดับจุลภาคเริ่มมีปรากฏการณ์ส้มและผลไม้ของชาวสวนขายไม่ออก กุ้งจากบ่อและอาหารทะเลของชาวประมงไม่มีคนซื้อโรงทานชุมชนควรจะเป็นจุดเชื่อมระหว่างผู้ให้กับผู้รับ ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ในลักษณะที่เอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่ฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบกันแต่ถือเป็นโอกาสเชื่อมโยงพลังความรักสามัคคี พลังเกษตรกรผู้ผลิต พลังความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินแม่ และพลังการจัดการของชุมชน-สังคม.
กระบวนการโรงทานชุมชนเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคม 3 ประการ ไปพร้อมกัน คือ สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน สังคมเข้มแข็ง และสังคมคุณธรรม.
ประเทศไทยต้องชนะครับ.
นายแพทย์ พลเดช ปิ่นประทีป
ประธานมูลนิธิพัฒนาประชาสังคม.

