รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 6) “สถานการณ์ความยากจน ก่อนโควิด-19”

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ ปี 2562

การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยมุ่งเน้นไปที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP growth) และการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ในอีกมิติหนึ่งต้องมาพร้อมกับการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ คุณภาพชีวิตประชาชนและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น 

รายได้เป็นตัวแปรหนึ่งที่บอกถึงความสามารถของคนในการเข้าถึงและใช้ทรัพยากรของสังคมเพื่อการดำรงชีวิต การกระจายรายได้จึงเป็นตัวแปรที่บ่งชี้ถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการพัฒนาประเทศที่สำคัญประการหนึ่ง นอกจากนั้น การกระจายความมั่งคั่งผ่านการถือครองสินทรัพย์ (Wealth inequality) ยังเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่น่าวิตก 

กลุ่มประชากรยากจน

รายงานการติดตามความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (กันยายน 2562) และรายงานความยากจนและความไม่เท่าเทียมในประเทศไทยของธนาคารโลก (มีนาคม 2563) ได้แสดงไว้ว่า จำนวนประชากรยากจนในปี  2561 เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 1.4 ล้านคน

ปี 2559 จำนวน ผู้ยากจน อยู่ที่ 4.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 7.21% ของประชากรทั้งหมด, ปี 2560 จำนวนผู้ยากจนอยู่ที่ 5.3 ล้านคน หรือคิดเป็น 7.87% ของประชากรทั้งหมด, ปี 2561 จำนวนผู้ยากจนได้เพิ่มขึ้นเป็น 6.7 ล้านคน หรือคิดเป็น 9.85% ของประชากรทั้งหมด 

สำหรับ กลุ่มคนยากจนมาก (คือ ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 80% ของเส้นความยากจน) มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 1.8 ล้านคนเป็น 2.64 ล้านคนในปี 2561 แม้เศรษฐกิจปี 2561 เติบโตสูงถึง 4.1 % แต่จำนวนประชากรที่อยู่ใต้เส้นยากจนกลับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนยากจนมากเพิ่มขึ้นกว่า 8.4 แสนคน ในช่วงเพียง 1 ปีที่ผ่านมา

ปี 2561 เส้นความยากจนอยู่ที่ 2,710 บาท ต่อคนต่อเดือน (เฉลี่ยไม่เกินวันละ 90.3 บาท)  ส่วนในปี 2560 เส้นแบ่งแยกความยากจนของประเทศไทยอยู่ที่ 2,686 บาทต่อเดือน เป็นผลมาจากการลดลงของรายได้เกษตรกร ทำให้ครัวเรือนยากจนลดการจับจ่ายใช้สอยลง ซึ่งเป็นกลุ่มที่อาจกลายเป็นคนยากจนเรื้อรังและต้องให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ

ความยากจนที่เพิ่มขึ้นในปี 2561 กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคใน 61 จังหวัดจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวนประชากรที่ยากจนในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นกว่าครึ่งล้านคนในแต่ละภาค ขณะที่อัตราความยากจนในพื้นที่ขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนใต้สูงที่สุดเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2560

อัตราความยากจนของประเทศไทยเคยเพิ่มขึ้นมาแล้ว 3 ครั้งในปี 2541 ปี 2543 และปี 2551 ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆกับวิกฤติการณ์ทางการเงิน และมาเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา

แก้ยากจนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ในปี 2560-2562 กระทรวงการคลังได้มีการดำเนินมาตรการในการแก้ไขปัญหาความยากจน ผ่านโครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคมภายใต้โครงการ e-Payment ภาครัฐ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพของการจัดสวัสดิการสังคมและการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ

รัฐบาลนำเงินใส่ไปในบัตรสวัสดิการให้ผู้ที่มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียนเพื่อนำไปใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นผู้ไม่มีทรัพย์สินทางการเงิน (เงินฝากธนาคาร สลากออมสิน สลาก ธ.ก.ส. พันธบัตร รัฐบาล และตราสารหนี้) หรือมีไม่เกิน 100,000 บาท

ทั้งนี้ คนที่มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 30,000 บาท ได้เงินไปซื้อของใช้เดือนละ 300 บาท ส่วนคนที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,000-100,000 บาท ได้รับเงินเดือนละ 200 บาท และได้เงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มคนละ 45 บาท ต่อ 3 เดือนครั้ง ส่วนการลดค่าใช้จ่ายเดินทาง คือถ้าเดินทางด้วยรถเมล์รถไฟฟ้า ได้รับเงินเดือนละ 500 บาท

ธ.ค. 2561 ถึง ก.ย. 2562 รัฐบาลได้ดำเนินงานผ่าน 4 มาตรการ จากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม 38,730 ล้านบาท ได้แก่

  1. ช่วยบรรเทาภาระค่าน้ำค่าไฟ ในอัตราค่าไฟ 230 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน และค่าน้ำ 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน
  2. สนับสนุนค่าใช้จ่ายช่วงปลายปี ซึ่งเป็นของขวัญปีใหม่ที่รัฐบาลมอบให้จ่ายครั้งเดียว 500 บาทต่อคน
  3. ค่าเดินทางไปรักษาพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ได้รับครั้งเดียว 1,000 บาทต่อคน
  4. ช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน 400 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ อายุ 60 ปีขึ้นไป 

ข้อมูลของกรมบัญชีกลาง ณ มกราคม 2562 ระบุว่า มีผู้ลงทะเบียนจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 14.6 ล้านคน รัฐบาลใช้งบประมาณไปทั้งหมด 7.75 หมื่นล้านบาท (รอบแรก ตุลาคม 2560 จำนวน 11.4 ล้านคน ใช้งบ 41,900 ล้านบาท, รอบสอง มกราคม 2561 จำนวนเพิ่ม 3.1 ล้านคน ใช้งบ 35,600 ล้านบาท)

กระทรวงการคลัง ระบุว่า ประชากร 35.9 ล้านคนในฐานข้อมูล จปฐ. และกชช. 2ค เป็นบุคคลเดียวกันกับผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ 8.3 ล้านคน สะท้อนว่าผู้มีรายได้น้อยเป็นบุคคลที่มีปัญหาด้านคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานในระดับครัวเรือน/ชุมชน/หมู่บ้านที่อยู่อาศัย

ข้อสังเกต

นี่เป็นเพียงมาตรการช่วยเหลือประชาชนในระยะสั้น ควรต้องเจาะไปดูประสิทธิผลการปฏิรูปโครงสร้างและระบบต่อไป.

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป, 28 พฤษภาคม 2563