รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 11) “จัดการแหล่งน้ำ แก้ภัยแล้งแก้ยากจน ปี 2562”

แนวคิดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง

การจัดการทรัพยากรที่เป็นธรรม

นิธิเอียวศรีวงศ์ (2539) เสนอแนวคิด การจัดการทรัพยากรโดยทั่วไป ชี้ว่าประกอบด้วยสิ่งสำคัญ 4 อย่าง คือ

  1. การจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ 
  2. ให้ทุกคนได้ใช้มากที่สุด
  3. มีการใช้อย่างยั่งยืนจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
  4. เปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่ได้เข้าไปใช้ทรัพยากร

การจัดการทรัพยากรน้ำ

ปราโมทย์ไม้กลัด (2540) เสนอแนวคิด การจัดการทรัพยากรน้ำให้ความหมายว่า

“การจัดการน้ำ” เป็นการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันอย่างเป็นระบบสัมพันธ์กัน เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปัญหาน้ำท่วม และปัญหาน้ำเสีย

การบริหารจัดการน้ำได้ดี จะต้องบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้สอดคล้องกับทรัพยากรอื่นที่เกี่ยวข้องในลุ่มน้ำนั้นด้วย ทั้งทรัพยากรดินรวมไปถึงทรัพยากรมนุษย์ การบริหารจัดการน้ำถ้าไม่เอาคนในลุ่มน้ำเข้ามาเกี่ยวข้องคงไม่สำเร็จ

กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรน้ำมี 4 กิจกรรมด้วยกัน ได้แก่

(1) การพัฒนาแหล่งน้ำหรือการจัดหาน้ำ มุ่งถึงการจัดหาน้ำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ด้านต่างๆตามศักยภาพของทรัพยากรน้ำ วางแผนการใช้น้ำอย่างมีระบบเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด มีใช้อย่างยั่งยืน 

(2) งานจัดสรรน้ำและใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพในแต่ละลุ่มน้ำ จำเป็นที่จะต้องมีระบบกิจกรรมการจัดสรรและใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ 

(3) การอนุรักษ์แหล่งน้ำในลุ่มน้ำ พื้นที่ต้นน้ำต้องอนุรักษ์ด้วยระบบป่าในแหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งตื้นเขินมีวัชพืช สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาน้ำให้มีคุณภาพ

(4) การควบคุมคุณภาพน้ำ ซึ่งขณะนี้เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ทั้งในชุมชนเล็ก ชุมชนใหญ่ รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำเสีย

องค์ประกอบของการจัดการทรัพยากรน้ำ

สถาบันแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม (2545) ได้ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำในท้องถิ่น และจากการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า

การจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพนั้นต้องประกอบด้วยกฎหมายและสิทธิเกี่ยวกับน้ำระบบการบริหารราชการที่กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นการวางแผนการจัดการลุ่มน้ำและระบบข้อมูลเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำ 

โดยหลักสำคัญ 4 ประการ นี้จำเป็นต้องได้ รับการพัฒนาควบคู่ไปพร้อมกับการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการจัดการทรัพยากรของรัฐบาล

ปัญหาการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรน้ำ

จากการศึกษาของ ศูนย์สนเทศการเกษตรและสหกรณ์ (2536) เกี่ยวกับปัญหาการใช้ ทรัพยากรในภาคเหนือ พบว่า

สภาพทรัพยากรน้ำในภาคเหนือโดยทั่วไปนั้นเริ่มที่จะเป็นปัญหาเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ส่วนใหญ่เกิดจากผลกระทบมาจากทรัพยากรธรรมชาติชนิดอื่น

นอกจากนี้ยังเนื่องมาจากการกระทำของมนุษย์ ทำให้แยกเป็นประเด็นต่างๆ เช่น การเสื่อมโทรมของคุณภาพน้ำ การขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างไม่เหมาะสมและขาดประสิทธิภาพ 

ปัญหาอีกประการหนึ่งของการใช้น้ำ คือ ความขัดแย้งระหว่างการพัฒนากับการใช้ประโยชน์จากน้ำ เช่น ในกรณีการพัฒนาอุตสาหกรรมขัดแย้งกับการพัฒนาแหล่งน้ำ ทำให้การพัฒนาทรัพยากรน้ำขาดทิศทาง การบริหารจัดการในการเข้ามาของบริษัทเอกชนที่เข้ามาทำไร่ดอกไม้เป็นพื้นที่บริเวณกว้าง ทำให้มีการแย่งชิงน้ำเพื่อการทำการเกษตรเป็นอย่างมาก

ภาวการณ์การขาดแคลนน้ำเป็นปัญหาที่สำคัญในปัจจุบัน มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและเป็นปัญหาสำคัญสืบเนื่องกันมานาน โดยสาเหตุที่สำคัญ ได้แก่

ปริมาณน้ำฝนมีน้อยในช่วงหลายปี การเพิ่มปริมาณของการใช้น้ำ การใช้น้ำเพื่อการเกษตร และอุตสาหกรรมได้เพิ่มมากขึ้นจนถึงขั้นที่ปริมาณน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติไม่เพียงพอ การเพิ่มของสารพิษในน้ำ และการใช้น้ำฟุ่มเฟือย ซึ่งมีกิจกรรมที่ต้องใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นทั้งภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม

แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรน้ำ

ศูนย์สนเทศการเกษตรและสหกรณ์ ระบุถึง แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรน้ำนั้น อาจทำได้โดยใช้นโยบายและมาตรการต่างๆ โดยกำหนดนโยบายและมาตรการในการพัฒนาแหล่งน้ำให้มีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน

กำหนดมาตรการเพื่อให้มีการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติชนิดอื่นๆ เช่น ป่าไม้ ที่ดิน เพื่อช่วยสนับสนุนให้การพัฒนาทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างได้ผล

ออกกฎหมายและกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมการใช้ทรัพยากรน้ำเพื่อให้การ ใช้น้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันไม่ให้เกิดมลภาวะต่อแหล่งน้ำธรรมชาติและสภาพแวดล้อม

กำหนดนโยบายและมาตรการในการพัฒนาแหล่งน้ำควรจะให้มีความสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในสาขาการผลิตอื่นๆ เช่น จะต้องสอดคล้องกับการพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

ทำการสำรวจ ศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำของภาคเหนือเพื่อหาข้อมูลและวิเคราะห์ถึง ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการที่จะทำการพัฒนาทรัพยากรน้ำเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพและให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนามากที่สุด.

นพ.พลเดช  ปิ่นประทีป / 28 มิถุนายน 2563