รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 7) “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ก่อนโควิด-19”

ความแตกต่างด้านรายได้

เมื่อพิจารณาสัดส่วนรายได้ของประชากรหรือการถือครองรายได้ของกลุ่มประชากรตามระดับรายได้ พบว่า

การถือครองรายได้ของประชากรภายในประเทศส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มประชากร 10% ที่มีรายได้มากที่สุด มากกว่าการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสู่กลุ่มประชากรรายได้ต่ำ

ปี 2558 ประชากร 10% (Top 10) ที่มีรายได้มากที่สุด มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน 32,759บาท และมีสัดส่วนการถือครองรายได้รวมร้อยละ 34.98 ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ  ส่วนกลุ่มประชากร 40% ที่มีรายได้ต่ำสุด (Bottom 40) พบว่า มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน 3,353 บาท ซึ่งมีความแตกต่างของรายได้ 9.77 เท่า  ในขณะที่รายได้ของประชากรกลุ่ม 60% ที่มีรายได้สูง (Top 60) ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 13,371 บาท/คน/เดือน

ปี 2560 ประชากรกลุ่ม Top 10 มีรายได้เฉลี่ย 33,933 บาท/คน/เดือน ถือครองรายได้รวมร้อยละ 35.29 ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ ส่วนกลุ่มประชากร Bottom 40 มีรายได้เฉลี่ย 3,408 บาท/คน/เดือน มีความแตกต่างของรายได้ 9.96 เท่า ในขณะที่ประชากรกลุ่ม Top 60 พบว่าในปี 2558 รายได้เฉลี่ย 13,752 บาท/คน/เดือน (เพิ่มขึ้น 1.4 % ต่อปี)

ความแตกต่างด้านเงินออม

รายงานเรื่องส่องพฤติกรรมการออมของคนไทย ผ่านข้อมูลบัญชีเงินฝากธนาคารกว่า 80 ล้านบัญชี จัดทำโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อธันวาคม 2562 ระบุว่า

คนไทยสามารถเข้าถึงบริการเงินฝากและมีบัญชีเงินฝากกันได้อย่างแพร่หลาย สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ระบุว่า ณ มิถุนายน 2560 มีบัญชีเงินฝากกว่า 80.2ล้านบัญชีของผู้ฝากเงินบุคคลธรรมดา 37.9 ล้านคน (จากสถาบันการเงิน34แห่ง) มีเงินฝากรวมทั้งสิ้น 12 ล้านล้านบาท 

ระดับการออมในบัญชีเงินฝากยังอยู่ในระดับต่ำ ภาวะการออมที่ลดลง อาจส่งผลให้ครัวเรือนมีสภาพคล่องไม่เพียงพอรองรับความต้องการใช้จ่ายหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด (shock) รวมถึงรองรับในวัยหลังเกษียณ เป็นหนึ่งในสาเหตุของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น

ผู้ฝากรายใหญ่สุด 10% มีเงินฝากรวมถึง 93% ของเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด 

ผู้ฝากที่เงินในบัญชีต่ำสุด (ระหว่าง 1,081.1-3,142.2 บาท) มีค่ากลางเงินฝากที่ 1,992.1 บาท ขณะที่ผู้ฝากที่มีเงินในบัญชีสูงสุด (173,944.2 บาทขึ้นไป) มีค่ากลางเงินฝากที่ 483,132.5 บาท (แตกต่าง 242 เท่า)

32.8% ของผู้ฝาก (หรือ 12.2 ล้านคน) มีเงินในบัญชีไม่เกิน 500 บาท  ซึ่งในจำนวนนั้นมีผู้ฝากถึง 4.7 ล้านคนที่มีเงินในบัญชีไม่ถึง 50 บาท  มีเพียง 0.2% ของผู้ฝากที่มีเงินในบัญชีมากกว่า 10ล้านบาท 

ความแตกต่างด้านการถือครองทรัพย์สิน

เมื่อพิจารณาในแง่การถือครองทรัพย์สินทางการเงิน ในปี 2560 กลุ่มครัวเรือน Bottom 40 ถือครองทรัพย์สินทางการเงินที่ 12.7% ของสินทรัพย์ทางการเงินทั้งหมด คงที่เมื่อเทียบกับปี 2558 โดยมักจะสะสมสินทรัพย์ในรูปของเงินสด เงินฝากธนาคาร ทอง อัญมณี  ในขณะที่กลุ่มประชากร Top 60 จะสะสมสินทรัพย์ในรูปพันธบัตร หุ้นกู้ ตราสารทุน และกองทุนรวม ซึ่งมักให้ผลตอบแทนที่ดี และนำไปสู่การสะสมความมั่งคั่งได้รวดเร็ว ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นในระยะต่อไป

กลุ่มประชากร Bottom 40มักเป็นผู้ไม่มีส่วนร่วมทำงานเศรษฐกิจ (Economically Inactive) คิดเป็นสัดส่วน 48.6 % และอีก 34.8 % เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระและช่วยธุรกิจในครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ทักษะ อีกทั้งมีรายได้ไม่แน่นอน

ความแตกต่างด้านการถือครองที่ดิน

ข้อมูลจากเวทีเสวนาเรื่อง “ปฏิรูปที่ดินเอกชนทิ้งร้าง สร้างประชาธิปไตย และความเป็นธรรม” เมื่อ 24สิงหาคม 2562ระบุว่า

ปี 2560 มีเอกสารสิทธิที่ดินจำนวน  37 ล้านฉบับ รวมพื้นที่  128 ล้านไร่ คิดเป็นพื้นที่  40% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ แต่มีคนเพียง 25% เท่านั้นที่มีที่ดินและในจำนวน  25% ของคนที่มีที่ดินนี้ มีเพียง 5% ที่เป็นเจ้าของที่ดินมากถึง 80% ของจำนวนที่ดินทั้งหมด ในขณะที่คนไทยอีกเกือบ 90% มีที่ดินน้อยกว่า 1 ไร่ต่อคน  นอกจากนี้ยังพบว่ามีที่ดินที่มีเจ้าของยังถูกทิ้งร้างถึง 70% เกิดความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์อย่างมาก

ในจำนวนพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 149 ล้านไร่ มีเกษตรกรเพียง 28% เท่านั้นที่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ส่วนที่เหลือ  27% ต้องเช่าที่ดิน และอีก 28% ที่ดินติดจำนอง ขณะที่ส่วนที่มีที่ดินทำกินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์มีถึง 44%  จึงอาจกล่าวได้ว่า 3ใน 4 ของเกษตรกรไทยไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง 

ข้อสังเกต

โครงสร้างทางเศรษฐกิจไทย ปี 2562 ยังมีความเหลื่อมล้ำมาก ทั้งในด้านรายได้ เงินออม การถือครองทรัพย์สินและที่ดิน โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกรไทย เป็นผลกระทบนำมาสู่การบุกรุกที่ดินของรัฐหรือพื้นที่ป่า.

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 1 มิถุนายน 2563