รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 8) “การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชน ปี 2562”

ภาพรวมสถาบันการเงินที่ให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนฐานรากในปัจจุบัน แบ่งออกตามลักษณะและจุดประสงค์ เป็น 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย

Table of Contents

1) กลุ่มในระบบ

ได้แก่ สถาบันการเงินที่กฎหมายรองรับได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

2) กลุ่มกึ่งในระบบ

มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการออมและเป็นแหล่งเงินทุนภายในชุมชน โดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน มีกฎหมายรองรับและมีหน่วยงานรับผิดชอบส่งเสริมและพัฒนา ได้แก่ สหกรณ์ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โรงรับจำนำต่างๆ

3) กลุ่มพึ่งตนเอง

ได้แก่ องค์กรการเงินระดับฐานรากที่จัดตั้งขึ้นโดยประชาชนในชุมชน ซึ่งเป็นที่รู้จักภายใต้ชื่อกลุ่มออมทรัพย์ หรือ สถาบันการเงินชุมชน ทำหน้าที่เป็นแหล่งออม แหล่งทุน และจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก

ในที่นี้จะขอรายงานประสิทธิผลของ 4 แหล่งเงินทุนที่ประชาชนฐานรากสามารถเข้าถึงได้มากที่สุด  ดังนี้

กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

รายงานผลการดำเนินงาน ณ ธันวาคม 2561 พบว่า มีกองทุนจัดตั้งแล้ว 79,598 กองทุน โดยแบ่งเป็นกองทุนหมู่บ้าน 75,000 กองทุน กองทุนชุมชนเมือง 3,860 กองทุน และกองทุนชุมชนทหาร 738 กองทุน มีสมาชิกกองทุนฯ 11.7 ล้านคน กรรมการ 1.1 ล้านคน มีเครือข่ายระดับตำบล 7,910 ระดับอำเภอ 928 และระดับจังหวัด 77 เครือข่าย เงินหมุนเวียนในระบบ 3.68 แสนล้านบาท

ปี 2559-2561 รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองทุกกองทุน ดำเนินโครงการตามแนวทางประชารัฐวงเงินรวม 70,000 ล้านบาท ในโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ, โครงการเพิ่มศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน และโครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืนโดยศาสตร์พระราชา

ผลลัพธ์จากการดูแลเศรษฐกิจฐานรากผ่านกองทุนหมู่บ้านฯ ระดับครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น 46.2% การออมเพิ่มขึ้น 22.8 %  สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลง ระดับชุมชนมีการจัดสวัสดิการชุมชน มีการพัฒนาอาชีพ ทำให้เกิดโครงการกว่า 200,000 โครงการ ได้แก่ ร้านค้าชุมชน โครงการส่งเสริมการเกษตร  โครงการผลิตภัณฑ์ประชารัฐ และโครงการตลาดประชารัฐ  เกิดการจ้างงานกว่า 1.6 ล้านคน มีรายได้รวม 3 ปี กว่า 3.9 หมื่นล้านบาท กำไรที่เป็นรายได้หล่อเลี้ยงกองทุนและปันผลคืนให้กับสมาชิกกว่า 8.5 พันล้านบาท แก้ไขหนี้นอกระบบให้สมาชิก 2,691 ราย วงเงิน 124.55 ล้านบาท

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ในปี 2561 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)มีลูกค้าที่เป็นเกษตรกรจำนวน 6.17 ล้านครัวเรือน , สมาชิกกลุ่มเกษตรกร 396,165 กลุ่ม

ธ.ก.ส. ได้ดำเนินนโยบายสำคัญเพื่อดูแลและพัฒนาเกษตรกรลูกค้าอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการลดภาระหนี้ผ่านโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้  2.92 ล้านราย วงเงิน 6.42 แสนล้านบาท,  โครงการขยายเวลาชำระหนี้ต้นเงินกู้ (3 ปี)  2.91 ล้านราย วงเงิน 8.89 แสนล้านบาท,  แผนงานพัฒนาและยกระดับเกษตรกรผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยเข้าร่วมโครงการ 2.15 ล้านราย มีรายได้เพิ่มมากกว่า 30,000 บาท/ปี ร้อยละ 51.44 และมากกว่า 100,000 บาท/ปี ร้อยละ 1

แผนงานผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร Smart Farmer ยกระดับสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ SMEs เกษตร รวม 9,485 ราย, โครงการประกันภัยข้าวนาปี 1.92 ล้านราย พื้นที่ 27.6 ล้านไร่ โดยเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. เข้าถึงประกันภัยทางการเกษตร ร้อยละ 95.82

โครงการธนาคารต้นไม้ สร้างชุมชนไม้มีค่า พัฒนาผู้ตรวจประเมินมูลค่าต้นไม้ สร้างวิสาหกิจชุมชน 400 แห่งเพื่อพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ไม้ของชุมชนจากกิ่ง ใบ ลำต้น แปรรูปสร้างรายได้แก่ชุมชน ปัจจุบันมีสมาชิกธนาคารต้นไม้ จำนวน 6,827 ชุมชน 117,461 ราย มีต้นไม้ที่ปลูกเพิ่มขึ้นในประเทศแล้วกว่า 11.8 ล้านต้น ทั้งยังมีโครงการสินเชื่อปลูกป่าสร้างรายได้ ลดการทำลายป่า สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ป่าต้นน้ำ 11 จังหวัด จำนวน 5 หมื่นราย วงเงิน 5 พันล้านบาท

ธนาคารเอสเอ็มอี

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) จัดตั้งขึ้นมาภายใต้ พ.ร.บ.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงการคลัง ให้บริการทางการเงินกับ SMEs ไทยรายเล็ก ด้านสินเชื่อ ด้านร่วมลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่ SMEs ขนาดเล็กที่ไม่ได้รับบริการจากระบบสถาบันการเงินเชิงพาณิชย์

ปี 2558-2562 ธนาคารเบิกจ่ายสินเชื่อให้ผู้ประกอบการกว่า 5.2 หมื่นราย วงเงินกว่า 1.44 แสนล้านบาท รักษาการจ้างงานได้กว่า 5.2 แสนคน สร้างผู้ประกอบการใหม่มากกว่า 1 พันราย ก่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 7.2 แสนล้านบาท สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 2.5 แสนล้านบาท และมีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้จากสินเชื่อใหม่นับถึงสิ้นเดือน ธ.ค.2561 เพียง 3.6 %  

ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ปี 2561 มี 17,666 ราย วงเงิน  36,714 ล้านบาท  SME Bank มีหลักเกณฑ์ จำกัดวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อราย และมีระบบ Check & Balance  สร้างกระบวนการติดตามลูกหนี้ และบริหารจัดการหนี้เอ็นพีแอลตามแผนฟื้นฟูอย่างเคร่งครัด

สถานการณ์สถาบันการเงินชุมชน

รายงานการวิจัยเพื่อศึกษาบทบาทขององค์กรการเงินชุมชนในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ประจำปี 2560 โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน พบว่า แหล่งเงินกู้สำหรับกลุ่มลูกหนี้นอกระบบอันดับแรกมาจากกองทุนหมู่บ้านหรือสถาบันการเงินชุมชน

แต่การบริหารจัดการภายในองค์กรมีลักษณะเป็นกึ่งทางการโดยสมาชิกเป็นผู้บริหารจัดการร่วมกัน ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล และเป็นการรับผิดชอบแบบไม่จำกัด บุคลากรยังขาดความรู้ความสามารถทางการเงินและมีความเสี่ยง จึงมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันการเงินประชาชน พ.ศ. 2562  

เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบ รัฐบาลมีเป้าหมายยกระดับสถานะขององค์กรการเงินชุมชน ตำบลละ 1 แห่ง ทั่วประเทศ ให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลและมีความมั่นคงในการดำเนินการเพื่อทำให้ชาวชนบทกว่า 20-30 ล้านคนได้รับผลประโยชน์ มีธนาคารผู้ประสานงานเป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่จะเข้ามาช่วยเหลือพัฒนาระบบการจัดการในทุกด้าน

ปัจจุบันมีกลุ่มสัจจะออมทรัพย์กว่า 20,000 แห่งและองค์กรการเงินชุมชน 1,700 แห่ง ที่สามารถยกระดับเป็นสถาบันการเงินชุมชนด้วยกฎหมายฉบับนี้

ข้อสังเกต

ในเชิงปริมาณ ประเทศไทยมีแหล่งเงินทุนที่ประชาชนฐานรากสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและหลากหลาย แต่ประเด็นสำคัญสำหรับการปฏิรูปในเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่การให้ความสำคัญกับคุณภาพการเข้าถึง และการได้รับโอกาสในพัฒนาศักยภาพด้านการจัดการเงินทุนและการเป็นผู้ประกอบการที่มีขีดความสามารถเหมาะสม พอเพียง.

นพ.พลเดช  ปิ่นประทีป / 7 มิถุนายน 2563.