รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 9) “ภัยแล้ง กับปัญหาความยากจน ปี 2562”

พื้นที่ปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในรอบปี

ปัญหาภัยแล้งเป็นภาวะคุกคามตามธรรมชาติที่ประเทศไทยต้องเผชิญอยู่ทุกปีจากอดีตจนถึงปัจจุบัน 

สถิติข้อมูลของศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สรุปสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศไทยรอบ 15 ปี ระหว่าง พ.ศ.2532-2546  ในแต่ละปีจะมีปัญหาพื้นที่ภัยแล้งโดยเฉลี่ย จำนวน 60 จังหวัด 570 อำเภอ 3,251ตำบล 19,722 หมู่บ้าน  มีประชากรที่ได้รับความเดือดร้อนเฉลี่ยปีละ 2.37 ล้านครัวเรือน 8.9 ล้านคน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 3.08 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหาย 298.2 ล้านบาท 

ในปี 2560-2561 มีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งด้านการเกษตร 23 จังหวัด 74 อำเภอ,  ปี 2562 มีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งการเกษตร 11 จังหวัด 26 อำเภอ  และ ปี 2563 มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 14 จังหวัด รวม 69 อำเภอ 420 ตำบล 3,785 หมู่บ้าน/ชุมชน

จังหวัดที่มักจะมีปัญหาภัยแล้งอยู่เป็นประจำ ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงราย ตาก นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี  ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ เลย หนองคาย หนองบัวลำพู อุดรธานี  กาญจนบุรี และสระแก้ว

ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อประเด็นปัญหาภัยแล้ง

อย่างไรก็ตาม จากสถิติของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระบุว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง สลับกันไปมา โดยระหว่างปี 2551-2561 มีการใช้งบประมาณแก้ปัญหานี้เป็นจำนวนรวม 158,632 ล้านบาทหรือเฉลี่ย 15,863 ล้านบาท/ปี  เป็นงบที่ใช้ไปสำหรับการเยียวยาแก้ปัญหาชดเชยและให้เปล่าเพื่อจูงใจปลูกพืชน้ำน้อย 

แต่ถ้าหากมองข้อเท็จจริงในเชิงภูมิศาสตร์ ประเทศไทยมีที่ตั้งอยู่ในเขตทรอปิคอล มีปริมาณฝนตกตลอดปีประมาณ 1,370 มม. (เป็นค่าเฉลี่ยจากสถิติ 48 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2493-2540)  โดยมีช่วงฤดูกาลที่ฝนตกชุกและช่วงฝนแล้งประมาณปีละ 6 เดือนเท่าๆกัน กล่าวคือ ช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคมเป็นช่วงที่มีฝนชุก(ฤดูฝน) ส่วนช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายนเป็นช่วงฝนแล้ง (ฤดูแล้ง) ซึ่งช่วงแล้งจะมีปริมาณฝนน้อยมาก กล่าวคือตลอด 6 เดือนของฤดูแล้งจะมีปริมาณฝนรวม เฉลี่ยเพียง 177-180 มม. เท่านั้น 

ในภาพรวม อย่างไรเสียประเทศไทยก็จะต้องเผชิญกับวิกฤติภัยแล้งเป็นเวลาเฉลี่ย ปีละประมาณ 4-6 เดือน ในขณะที่เผชิญปัญหาน้ำท่วมเพียงปีละ 1-2 เดือนเท่านั้น  

ในแง่นี้เป้าหมายใหญ่ของการปฏิรูประบบการจัดการทรัพยากรน้ำจึงน่าจะอยู่ที่การมุ่งเอาชนะปัญหาภัยแล้งให้ได้อย่างรวดเร็ว  อย่างยั่งยืนในทุกพื้นที่ตำบลหมู่บ้านของประเทศ  

ด้านหนึ่ง เป็นเพราะน้ำเป็นปัญหาใหญ่ของประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกได้และมีความยากลำบากในด้านน้ำอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่แล้งซ้ำซาก  

อีกด้านหนึ่ง เป็นเพราะการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่สำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะในยุคหลังสถานการณ์โควิด-19

นพ.พลเดช  ปิ่นประทีป / 14 มิถุนายน 2563.