ระบบชลประทาน การจัดการน้ำระดับมหภาค
งานชลประทานเป็นระบบการจัดการน้ำในระดับมหภาคของประเทศ เริ่มขึ้นอย่างจริงจังในรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการขุดลอกคลองและขุดคลองขึ้นใหม่ในบริเวณทุ่งราบภาคกลางจำนวนมาก
โดยบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม (Siam Canals, Lands and Irrigation Company) ในปี พ.ศ. 2433 มีการขุคลองสายใหญ่บริเวณทุ่งรังสิต เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาตรงไปยังแม่น้ำนครนายก พร้อมกับการสร้างประตูระบายน้ำ สำหรับควบคุมการเก็บกักน้ำเพื่อการเพาะปลูก และสร้างประตูเรือสัญจรเพื่อการคมนาคมขนส่งทางน้ำตลอดทั้งปี
รัชกาลที่ 5 ทรงตั้ง “กรมคลอง” ให้นาย เย โฮมัน วันเดอร์ไฮเด เป็นเจ้ากรมคลองคนแรก เพื่อทำหน้าที่ดูแลทำนุบำรุงคลองต่างๆ ไม่ให้ตื้นเขิน ต่อมาในรัชกาลที่ 6 ทรงจัดตั้ง”กรมทดน้ำ”ขึ้นแทนกรมคลอง เมื่อวันที่ 30 กันยายน2457 โดยให้นายอาร์ ซี อาร์ วิลสัน เป็นเจ้ากรมทดน้ำ รวมทั้งจัดสร้างโครงการชลประทานป่าสักใต้ โครงการสร้างเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ คือ เขื่อนพระราม 6 ขึ้นที่ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สามารถช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกได้ประมาณ 680,000 ไร่ นับเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่แห่งแรกในประเทศไทย

พื้นที่การเกษตร ที่เข้าถึงระบบชลประทานในปัจจุบัน
เมื่อพฤศจิกายน 2561 กรมชลประทาน ระบุว่า
ทั่วประเทศมีพื้นที่ชลประทาน 30.97 ล้านไร่ แยกเป็นโครงการขนาดใหญ่ 17.96 ล้านไร่ โครงการชลประทานขนาดกลาง 6.80 ล้านไร่ โครงการก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก 6.20 ล้านไร่ และมีพื้นที่รับประโยชน์อื่นอีก 13.04 ล้านไร่
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายให้กรมชลประทาน ดำเนินการวางแผนเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ให้ได้อีกอย่างน้อย 500,000 – 700,000 ไร่ต่อปี โดยกรมชลประทานได้กำหนดเป้าหมายตามยุทธศาตร์ชาติ ภายในปี 2579 จะเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บ 13.24 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 17.4 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็น 4 ช่วงๆละ 5 ปี
ในรายงานประจำปี 2561 ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สสนท. (องค์การมหาชน ) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่าประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตรที่ยังอยู่นอกเขตชลประทานอีกจำนวน 128ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 80 แสดงว่าพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านี้ยังไม่ได้รับประโยชน์และยังเข้าไม่ถึงระบบชลประทานอันเป็นเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานหลักในการจัดการทรัพยากรน้ำในระดับมหภาคของประเทศ ทั้งที่ได้พัฒนากันนานมาแล้วกว่า 100 ปี
ประเด็นคำถามจึงอยู่ที่ว่าเกษตรกรชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทานเหล่านี้ เขาจัดการทรัพยากรน้ำในระดับชุมชนและครัวเรือนกันอย่างไร ใช้ภูมิปัญญาหรือเทคโนโลยีแบบไหน และมีหน่วยงานใดที่รับผิดชอบดูแลอยู่บ้าง ดูแลอย่างไร มีศูนย์ข้อมูลอยู่ที่ไหน
สทนช. กลไกบูรณาการทรัพยากรน้ำ
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นส่วนราชการที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทำหน้าที่บูรณาการข้อมูลสารสนเทศ ฝ่ายแผนงาน โครงการ ฝ่ายงบประมาณบริหารจัดการ และฝ่ายติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ
สทนช. มีส่วนงานภายใน 12 ส่วนงาน มีการตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระดับภาคใน 4 ภูมิภาค ที่ลำปาง ขอนแก่น สระบุรีและสุราษฎร์ธานี โดยให้มีหน้าที่อำนวยการ กำกับ ดูแลถึงพื้นที่ระดับลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำ โดยประสานกับหน่วยงานรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมมลพิษทางน้ำในเขตลุ่มน้ำให้เป็นไปตามแผนแม่บท
ข้อสังเกตและเสนอแนะ
พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ยังอยู่นอกเขตชลประทาน ภาคประชาชนและชุมชนท้องถิ่นต้องจัดการปัญหากันเอง มีหน่วยงานรัฐเข้าไปสนับสนุนอยู่บ้างเหมือนกันแต่มักเป็นหน่วยงานระดับรอง หรือเป็นหน่วยงานเสริม ทำภารกิจจัดการน้ำกันแบบเป็นทางเลือก ซึ่งย่อมหมายถึงงบประมาณที่หน่วยงานเหล่านี้ได้รับในแต่ละปีจะมีจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยงานหลักอย่างกรมชลประทาน นอกจากนั้นยังขาดศูนย์รวมข้อมูลการจัดการแหล่งน้ำโดยชุมชนในลักษณะจุลภาคเหล่านี้ ไม่มีหน่วยงานใดเป็นศูนย์ข้อมูลกลาง
ในการจัดการปัญหาภัยแล้งในพื้นที่นอกเขตชลประทานและในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ควรมีแผนงานโครงการที่จะใช้แนวทางการจัดการน้ำด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและเทคโนโลยีชาวบ้านที่เหมาะสมอย่างจริงจัง เช่น แผนที่น้ำ ฝายชะลอน้ำ ฝายมีชีวิต โคกหนองนาโมเดล บ่อบาดาลน้ำตื้น ธนาคารน้ำใต้ดิน ระบบโอเอซิสชุมชน ฯลฯ ทั้งนี้ให้หน่วยงานรัฐเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้สนับสนุนทางด้านนโยบาย งบประมาณ องค์ความรู้และเทคโนโลยี ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้อย่างสำเร็จเด็ดขาด ภายในระยะเวลาไม่นาน.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 5 กรกฏาคม 2563