ธนาคารน้ำใต้ดิน
นวัตกรรม “ธนาคารน้ำใต้ดิน (Groundwater Bank)” ของ หลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ ประธานสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ ซึ่งใช้หลักการเติมน้ำไปเก็บในชั้นใต้ดิน
โดยขุดบ่อในบริเวณพื้นที่น้ำท่วม น้ำขัง น้ำหลาก หรือจุดรวมของน้ำเพื่อกักน้ำให้ซึมลงไปชั้นหิน เป็นการพักน้ำรวมไว้เหมือนธนาคาร แนวคิดนี้เป็นเสมือนการออมหรือกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ในหน้าแล้ง หรืออุ้มน้ำในยามน้ำหลาก นับเป็นตัวอย่างของการบูรณาการความรู้ทางวิชาการและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถใช้บริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืน
การทำ ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด สามารถจำแนกได้ 3 รูปแบบ ได้แก่
1)การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดในที่อยู่อาศัย
2)การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด รูปแบบรางระบายน้ำในชุมชน และ
3)การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดในพื้นที่น้ำท่วมขนาดใหญ่ หรือน้ำท่วมทุ่ง
ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีหลากหลายสภาพอากาศ จึงทำให้สถานการณ์น้ำในประเทศมีทั้ง น้ำท่วม น้ำหลาก น้ำแล้ง ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค นอกจากต้องอาศัยการทำงานของภาครัฐแล้ว ประชาชนเองก็ต้องหาวิธีกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงภาคเกษตรกรรมด้วย ซึ่งธนาคารน้ำใต้ดินเป็นวิธีการหนึ่งที่นำมาใช้ปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำในประเทศไทยและเป็นแนวทางการบริหารจัดการน้ำใต้ดินแบบครบวงจรที่มีความยั่งยืนจนประสบความสำเร็จแล้วในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เช่น กำแพงเพชร แพร่ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี สระแก้ว ชัยนาท และสตูล
ข้อสังเกตในเรื่องนี้ดูเหมือนว่าการส่งเสริมสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการธนาคารน้ำใต้ดินจะเกิดขึ้นเฉพาะในระดับชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานภูมิภาคเท่านั้น ดังที่เห็นได้จากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหลายแห่งทั้งอบต. เทศบาลอบจ. รวมทั้งสำนักงานจังหวัดในหลายจังหวัดมีแผนงานโครงการที่จะสนับสนุนการดำเนินการเนื่องจากเห็นผลงานของชุมชนในเชิงประจักษ์ว่าสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งน้ำขังน้ำเน่าได้จริง
ในขณะที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังมีความลังเลและแบ่งรับแบ่งสู้แม้เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 มีอนุมัติงบฯกลางเพื่อช่วยบรรเทาภัยแล้ง 3,079 ล้านบาทกับหลายส่วนงานก็ยังเน้นการไปที่แผนการขุดเจาะบ่อบาดาล 300 บ่อซึ่งเบื้องต้นจะใช้งบประมาณบ่อละ 2 ล้านบาทในขณะที่มีข้อสังเกตว่าโครงการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินแบบภูมิปัญญาที่ใช้งบประมาณเพียงแค่หลักพันหลักหมื่นเท่านั้นกลับไม่ได้รับความสนใจ.
บ่อบาดาลเพื่อการเกษตร
(องค์ความรู้และข้อมูลจากเว็บไซต์และรายงานประจำปี 2562 ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล)
ปริมาณน้ำในประเทศไทย มาจากน้ำฝนเฉลี่ย 1,467 มม./ปี คิดเป็นปริมาณน้ำ 7.54 แสนล้าน ลบ.ม./ปี
ในจำนวนนี้ กลายเป็นน้ำผิวดิน 2.10 แสนล้าน ลบ.ม./ปี ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีความจุรวม 7.0 หมื่นล้าน ลบ.ม./ปี
ปริมาณน้ำบาดาลกักเก็บ มีจำนวน 1.13 ล้านล้าน ลบ.ม. แยกเป็น
(1)ปริมาณน้ำเพิ่มเติม 7.2 หมื่นล้าน ลบ.ม./ปี
(2)ปริมาณที่สามารถนำมาใช้ 4.5 หมื่นล้าน ลบ.ม./ปี
(3) ปริมาณที่มีการใช้จริงในปัจจุบัน 1.4 หมื่นล้าน ลบ.ม./ปี
(4) คงเหลือน้ำบาดาลที่สามารถนำมาใช้ได้อีก 3.0 หมื่นล้าน ลบ.ม./ปี
พื้นที่น้ำบาดาลทั่วประเทศ ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลดูแล แบ่งเป็น 27 แอ่ง มีบ่อบาดาลที่ได้รับการอนุญาต ประมาณ 60,000 บ่อ มี 3 ระดับ คือ ขนาดลึกไม่เกิน 50 เมตร ขนาดลึก 50-150 เมตร และขนาดลึกกว่า 150 เมตรขึ้นไป
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล มีระบบเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบาดาลของประเทศ 2 วิธีการ ได้แก่ วิธีการประเมินทางสถิติ Kriging Method ใช้ในพื้นที่ 6 แอ่งน้ำบาดาล ส่วนอีก 21 แอ่งที่เหลือใช้วิธีประเมินความเหมาะสมทางอุทกวิทยา ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วมีความต้องการจำนวนสถานีเฝ้าระวัง ประมาณ 6,386 บ่อ / 2,701 สถานี
ในเขตภาคเหนือตอนล่าง-ภาคกลางตอนบน มีบ่อบาดาลที่เกษตรกรขุดเองโดยไม่ได้ขออนุญาต ส่วนใหญ่จะมีความลึกประมาณ 15 เมตร ซึ่งประมาณการณ์ว่าจะมี 16 บ่อ/พื้นที่ 1 ตร.กม.
ข้อสังเกต : ประเทศไทยยังมีทรัพยากรน้ำบาดาลที่สำรองอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ควรที่จะมีนโยบายการนำเทคโนโลยีแผงโซลาร์เซลล์และอินเทอร์เน็ทออฟธิงส์ (IOT) มาบูรณาการกับการขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่นอกเขตชลประทาน.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 19 กรกฏาคม 2563
