ความก้าวหน้าในการดำเนินงาน
งานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ถือว่าเป็นงานวิจัยระยะยาว และเป็นการวิจัยที่ค่อนข้างยาก ไม่สามารถแสดงผลได้โดยทันที อาจจะไม่เห็นผลชัดเจนเหมือนกับทางด้านวิทยาศาสตร์ เพราะไม่สามารถศึกษาในห้องทดลองที่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
งานวิจัยทางสังคมช่วยให้เกิดการเข้าใจลักษณะอันซับซ้อน ศึกษาสภาพสังคมเศรษฐกิจที่เป็นจริง ให้ข้อมูลและความรู้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาส่วนต่าง ๆ แม้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์บางส่วนก็จำเป็นต้องใช้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์และทางสังคมเข้ามาประกอบการวิจัย ว่าสิ่งที่คิดนั้นมีความเป็นไปได้ในการนำมาใช้จริงในสังคม มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือสามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่

ผลการดำเนินงาน ปี 2559
ค่าใช้จ่ายทางการวิจัยและพัฒนา จำแนกตามสาขาการวิจัย (Field of research) พบว่า
สาขาที่ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายทางการวิจัยมากที่สุด คือ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวน 37,293 ล้านบาท (ร้อยละ 33) รองลงมาคือสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติจำนวน 31,655 ล้านบาท (ร้อยละ 28) สาขาเกษตรศาสตร์จำนวน 24,767 ล้านบาท (ร้อยละ 22) สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์และสุขภาพ จำนวน 9,176 ล้านบาท (ร้อยละ 8) สาขาสังคมศาสตร์จำนวน 8,548 ล้านบาท (ร้อยละ 7) และสาขามนุษยศาสตร์จำนวน 1,879 ล้านบาท (ร้อยละ 2) และไม่ระบุสาขา 238 ล้านบาท
จากทั้งหมด 45,093 โครงการวิจัย มีโครงการวิจัยที่ได้รับสนับสนุนในด้านสังคมศาสตร์รวม 14,248 โครงการวิจัย ร้อยละ 31 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 6 แสนบาท/โครงการ
ผลการดำเนินงาน ปี 2560
ค่าใช้จ่ายทางการวิจัยและพัฒนา จำแนกตามสาขาการวิจัย (Field of research) พบว่า
สาขาอยู่ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีมากที่สุด จำนวน 74,430 ล้านบาท (ร้อยละ 48)รองลงมาคือ สาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ 39,931 ล้านบาท (ร้อยละ 26) สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์และสุขภาพ 14,549 ล้านบาท (ร้อยละ 9) สาขาสังคมศาสตร์ 12,432 ล้านบาท (ร้อยละ 8)สาขาเกษตรศาสตร์ 11,594 ล้านบาท (ร้อยละ 8) และสาขามนุษยศาสตร์ 2,207 ล้านบาท (ร้อยละ 1)
จากทั้งหมด 50,342โครงการวิจัย มีโครงการที่ได้รับสนับสนุนในด้านสังคมศาสตร์รวม 13,612โครงการ ร้อยละ 27 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 9 แสนบาท/โครงการ
การดำเนินงานของ สกสว. ปี 2563
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว. หรือ สกว.เดิม) ในปี 2563 ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายฯปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวม 12,554 ล้านบาท
โดยจะเน้นไปที่โครงการ Flagship หรือโครงการขนาดใหญ่ที่สอดคล้องตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ และโครงการปกติครอบคลุมการพัฒนา 4 แพลตฟอร์ม 16 โปรแกรม ได้แก่
- การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้
- การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม
- การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
- การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ
ทั้งนี้ ในส่วนของการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ จะเน้นไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สำคัญในการพัฒนาและยกระดับประเทศให้เป็นประเทศรายได้สูง ที่มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง เป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคต การส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่นให้สามารถมีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการแข่งขันพึ่งพาตนเองได้ จะก่อให้เกิดการยกระดับมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้นและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำและความไม่เสมอภาค มี 3โปรแกรม คือ
- นวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรม
- การทำให้ประชากรกลุ่มยากจนหลุดพ้นจากความจนอย่างยั่งยืนและสามารถเข้าถึงทรัพยากร การศึกษาสวัสดิการต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้อย่างเท่าเทียม
- ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในเมืองและเชื่อมโยงความเจริญสู่ชนบท
ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ
โครงการวิจัยในด้านสังคมศาสตร์มักจะเป็นโครงการขนาดเล็ก ใช้งบประมาณ 6-9 แสนบาท/โครงการแต่สัดส่วนงบประมาณที่สนับสนุนการวิจัยในสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์โดยภาพรวมยังอยู่ในสัดส่วนที่น้อยมาก คือ ร้อยละ 9 เท่านั้น จึงน่ากังวลว่าจะขาดความสมดุล
หน่วยงานที่ทำโครงการวิจัยทางสังคมและมักได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐโดยผ่านสภาวิจัยแห่งชาติและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ได้แก่ มูลนิธิ สถาบันที่มีชื่อเสียง โดยครองค่าใช้จ่ายทางการวิจัยในสาขาสังคมศาสตร์มากที่สุดถึงร้อยละ 65
รัฐบาลควรพิจารณาทบทวนทิศทางนโยบายในการสนับสนุนงานวิจัยของประเทศให้มีความสมดุล โดยเปิดโอกาสให้องค์กรพัฒนาสังคมและองค์กรไม่แสวงกำไรใหม่ๆได้เข้ามาทำงานวิจัยกับรัฐให้มากและหลากหลายขึ้นกว่าเดิม เพิ่มสัดส่วนการวิจัยทางสังคมและมานุษยวิทยาเป็นร้อยละ 10-15 รวมทั้งสนับสนุนให้มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมและรูปแบบกระบวนการบริหารจัดการทางสังคมที่แปลกใหม่และสอดคล้องกับบริบทของชุมชนท้องถิ่นและสังคมไทย แบบ สกว. ท้องถิ่นเดิม.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 2 สิงหาคม 2563