ความก้าวหน้าในการดำเนินงาน (2562)

การจัดตั้งสำนักงานบูรณาการการแก้ปัญหาความยากจน
การบูรณาการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจน ถือเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อดึงพลังของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น มาร่วมขับเคลื่อน และสนับสนุนการรวมตัวของประชาชนในการร่วมคิดร่วมทำเพื่อส่วนรวม การกระจายอำนาจและความรับผิดชอบ ไปสู่กลไกบริหารราชการแผ่นดินในระดับท้องถิ่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการตนเอง และการเตรียมความพร้อมของประชากรไทยทั้งมิติสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม ให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพ พึ่งตนเอง และทำประโยชน์แก่ครอบครัว ชุมชน และสังคมให้มากที่สุด โดยรัฐให้หลักประกัน การเข้าถึงบริการและสวัสดิการที่มีคุณภาพอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง
ผลจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (19 ธันวาคม 2561) มีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบูรณาการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจน พ.ศ. …. ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่จะมีการจัดตั้งหน่วยงานกลาง เพื่อดูแลลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจน
ทั้งนี้ความคืบหน้า ณ เดือนมกราคม 2563 กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า (ร่าง)ระเบียบฯ ได้ผ่านการพิจารณาแล้ว รอส่งกลับไปให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและสภาพัฒนาฯพิจารณายืนยันต่อไป
ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ
การจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมา เพื่อบูรณาการแก้ความยากจน นับเป็นนิมิตรหมายที่ดี ควรจะได้เร่งรัดการดำเนินงานอย่างจริงจังแต่การให้มีสถานะเป็นเพียงหน่วยงานภายในสภาพัฒน์ทำให้น่ากังวลใจว่าจะติดขัดในระบบระเบียบแบบหน่วยราชการทั่วไป จนทำให้ไม่สามารถทำงานกับภาคประชาชน เครือข่ายทางสังคม และชุมชนท้องถิ่น ได้อย่างยืดหยุ่น คล่องตัว มีประสิทธิภาพ
ในองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายการลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจน (กนล.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ควรมีกรรมการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกในสัดส่วน 80 / 20 เพื่อเพิ่มโอกาสให้มีการคิดนอกกรอบไปจากงานตามภารกิจของส่วนราชการ
สำนักงานนี้ควรมีภารกิจจัดทำและขับเคลื่อน“(ร่าง)พ.ร.บ.แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ พ.ศ. ….” ซึ่งเป็นกระบวนการเคลื่อนพลังปัญญาของสังคมทั้งมวล มาร่วมกันแก้ไขปัญหาใหญ่ของประเทศ
การจัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF)
การจัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF) ได้ถูกระบุอยู่ในแผนปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ : การปฏิรูปด้านความเท่าเทียมและการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม และการเสริมสร้างพลังอำนาจชุมชน โดยในแผนฯได้ระบุไว้ว่า หลังจากพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้แล้ว กำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ และพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมและกลุ่มกิจการเพื่อสังคมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ล่าสุด เดือนมีนาคม 2563 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพม. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการจัดตั้งกองทุน SIF แจ้งว่ารอการสรรหาผู้อำนวยการสานักงานวิสาหกิจเพื่อสังคม เมื่อแล้วเสร็จจะได้เตรียมการจัดตั้งกองทุนต่อไป
อย่างก็ตาม กองทุน SIFในกฎหมายฉบับนี้ เป็นเรื่องการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมเท่านั้น มิได้เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความยากจนโดยตรงเหมือนยุคปี 2540 แต่อย่างใด
ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ
กองทุน Social Investment Fund – SIF ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2561 เป็นกองทุนที่มุ่งให้การสนับสนุนกลุ่มคนแข็งแรงที่มีความคิดริเริ่มที่จะทำองค์กรวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี
แต่ในสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคผลกระทบจาก COVID-19สิ่งที่รัฐบาลควรจัดให้มีเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการควบคู่กันไป คือ การฟื้นกระบวนการโครงข่ายนิรภัยทางสังคม (Social Safety Net) แบบกองทุน SIF ในยุคหลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540
ซึ่งจะช่วยทำให้งานแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล มีความสมบูรณ์และสมดุลยิ่งขึ้น.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 9 สิงหาคม 2563