รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 22) “ผลกระทบชุมชน เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 2562”

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (Special Economic Zone : SEZ) ได้เริ่มขึ้นเมื่อช่วงปี 2558ด้วยความพยายามที่จะเปิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจใหม่ ในจังหวัดริมขอบชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน

ภายใต้ความเชื่อที่ว่า SEZ จะช่วยกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน จัดระเบียบความมั่นคงชายแดน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ระยะที่ 1 จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา

ระยะที่ 2 อีก 5 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม กาญจนบุรี

รวมทั้งสิ้น 10 จังหวัด เนื้อที่ทั้งหมด 6,220.05 ตารางกิโลเมตร หรือราว 3.8 ล้านไร่

ปัจจุบัน มีการตั้งนิคมขึ้นมารองรับนักลงทุนแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมสระแก้วเปิดดำเนินการเป็นที่เรียบร้อย มีนักลงทุนทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมและประเภทกิจการที่สนับสนุนพัฒนาท้องถิ่น, นิคมอุตสาหกรรมสะเดา สงขลา เริ่มก่อสร้างในปี 2563 และนิคมอุตสาหกรรมแม่สอด ตาก อยู่ระหว่างการเตรียมเปิดให้นักลงทุนเข้ามาเช่าพื้นที่ต่อเพื่อจัดตั้งนิคมตามเป้าหมาย จะเริ่มก่อสร้างในปี 2564

ประเด็นสำคัญที่มีการร้องทุกข์ร้องเรียน

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ปี 2560 มีราษฎรที่ได้รับผลกระทบต้องอพยพโยกย้ายออกจากที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ถูกดำเนินคดีหรือเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีไม่ต่ำกว่า 300 ครอบครัว ชาวบ้านได้ยื่นเรื่องร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 13 คำร้อง ประเด็นร้องเรียนที่สำคัญ ได้แก่

1.   การนำที่ดินของเกษตรกร ที่ดินของรัฐ หรือที่ดินที่สำคัญกับระบบนิเวศหรือวัฒนธรรมไปใช้โดยให้เอกชนจัดซื้อเอง

2.    แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัดหรือพื้นที่ที่มีการกำหนดกิจการการลงทุนที่เหมาะสมไว้แล้ว ทำให้คนท้องถิ่นไม่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาในพื้นที่

3.    ขาดการกำหนดแนวทางและมาตรการในการเยียวยาผลกระทบด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่มีการนำหลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมาดำเนินการ

4.    มีการข่มขู่คุกคามชาวบ้านในพื้นที่

5.    สถานการณ์ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย พบปัญหาการนำที่ดินซึ่งเป็นที่สาธารณะประโยชน์ไปใช้เป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อพื้นที่ป่าชุมชนที่ชาวบ้านได้ร่วมกันดูแลรักษาและเป็นแหล่งใช้ประโยชน์ของราษฎรในพื้นที่ 3 หมู่บ้าน เนื้อที่ประมาณ 3,100 ไร่ รวมทั้งอาจเกิดผลกระทบของระบบนิเวศลุ่มน้ำอิง,

ในส่วนของพื้นที่ ต.โป่งผา อ.แม่สาย มีการใช้ที่ดินราชพัสดุที่อยู่ในการดูแลขององค์การยาสูบ ไปเป็นพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ส่งผลกระทบต่อราษฎรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกยาสูบ จำนวน 100 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่เช่าที่ดินจากองค์การยาสูบเพื่อปลูกยาสูบในพื้นที่ 870 ไร่ มาตั้งแต่ปี 2515

6.    จ.ตาก พื้นที่ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด ราษฎร 65 ราย ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ร้องเรียนว่าถูกให้ออกจากที่ดิน เนื่องจากมีคำสั่ง คสช. ให้ที่ดินดังกล่าวตกเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์เพื่อนำไปใช้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ,

พื้นที่ ต.แม่ระมาด อ.แม่สอด ชาวบ้านซึ่งครอบครองที่ดินในเขตปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ร้องเรียนว่า หน่วยงานรัฐเตรียมยึดที่ดินทำกินของเกษตรกรและป่าชุมชนไปใช้ในการจัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรม

7.    เขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ในพื้นที่ ต.สำนักขาม มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ส่งผลกระทบต่อราษฎรจำนวน 300 ครอบครัว ซึ่งเดิมเป็นผู้เช่าที่ดินจากสำนักงานป้องกันการฟอกเงิน (ปปง.) มากนานว่า 10 ปี 

8.     เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว มีการเวนคืนที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม การชดเชย การเยียวยา จะให้เฉพาะที่ดินที่มีโฉนดเท่านั้น ส่วนเอกสารสิทธิประเภทอื่นถูกปฏิเสธ

กล่าวได้ว่าทุกๆพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ล้วนมีชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม โดยส่วนใหญ่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบด้านที่ทำกินและที่อยู่อาศัย เช่น กรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จ.ตาก เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม และเขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ทั้งยังมีกรณีการใช้พื้นที่ป่าชุมชน และพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่ชาวบ้านในชุมชนได้ร่วมกันดูแลรักษาไว้มาใช้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย เขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย

ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ 

รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบพึงตระหนักต่อข้อเท็จจริงที่ว่า การเปลี่ยนแปลงที่ดินแห่งใดให้เป็นแหล่งเศรษฐกิจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ โดยทำให้ชาวบ้านในท้องถิ่นต้องสูญเสียเศรษฐกิจของชุมชน แหล่งอาหาร และวัตถุดิบในการดำรงชีวิต ในขณะที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่ในมือผู้ลงทุน ชุมชนท้องถิ่นไม่ได้รับประโยชน์และถูกเพิกเฉยละเลย จะเป็นจุดกำเนิดของความขัดแย้ง เกิดผลกระทบต่อชุมชน ไม่ยินยอมพร้อมใจ ไม่ร่วมมือ จะเป็นการพัฒนาที่ขาดสมดุล ไม่ยั่งยืน ในที่สุดจะเป็นการทำลายเจตนารมณ์และเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติในระยะยาว

เจ้าหน้าที่พัฒนาของหน่วยงานรัฐและเอกชนทุกภาคส่วน ควรให้ความสำคัญต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมท้องถิ่นในทุกขั้นตอนการทำงาน ทั้งในฐานะที่เป็นหัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็น SDG เป้าหมายที่ 17 “Partnership for the Goals” นอกจากนั้นในอีกด้านหนึ่ง การมีส่วนร่วมที่มีคุณภาพ ยังเป็นทั้งมาตรการในเชิงการป้องกันปัญหาบำบัดเยียวยาและฟื้นฟูสภาพสังคม ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงทีสุด.

นพ.พลเดช  ปิ่นประทีป / 13 กันยายน 2563