รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 24) “ จีน-อินเดีย มุ่งขจัดความยากจนในแบบของตน”

สืบเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้มีนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าหมาย กระทั่งธนาคารโลกรายงานว่า ปี ๒๐๑๙ คนจนได้ลดจำนวนลงเหลือเพียง ๑๖.๖ ล้านคนเท่านั้น

นอกจากประเทศจีนแล้ว ประเทศอินเดียก็มีจำนวนประชากรยากจนมากสุดในโลก รัฐบาลอินเดียจัดการแก้ไขเรื่องความยากจนโดยรับประกันรายได้ให้กับประชาชนทุกคนในระดับที่จะช่วยให้ซื้อหาปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีพได้โดยเริ่มต้นจ่ายค่าครองชีพให้เฉพาะผู้หญิงก่อน

แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบจีนและอินเดียต่างมีความน่าสนใจและมีจุดเน้นที่แตกต่างกัน คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ของวุฒิสภา จึงทำการศึกษาในเชิงวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่าง 2 กรณีศึกษา เพื่อที่จะนำองค์ความรู้และรูปแบบที่เหมาะสมมาจัดทำเป็นข้อเสนอแนะสำหรับการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย

การศึกษาครั้งนี้

ใช้วิธีการทบทวนวรรณกรรมและการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมความคิดในหมู่คณะกรรมาธิการ อนุกรรมาธิการและคณะทำงานศึกษา ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิหลายสาขา โดยได้จัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาล หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งคาดว่าองค์ความรู้และแนวคิดจากประสบการณ์ของต่างประเทศที่ได้รับจะสามารถนำมายกระดับหรือพัฒนาต่อเป็นข้อเสนอต่อการปฏิรูปเพื่อแก้ความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ สามารถใช้เป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสริมศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคมที่กำลังทำงานแก้ปัญหาความยากจน รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปปรับใช้ในการกำหนดเป็นนโยบาย โครงการ หรือข้อบัญญัติท้องถิ่น สำหรับแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่

ผลการศึกษาพบว่า

ประเทศสาธารณะประชาชนจีน มีประชากร ๑,๔๐๐ ล้านคน ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ในระบบพรรคการเมืองเดียวอย่างต่อเนื่องมา ๗ ทศวรรษ ปี ๒๕๒๑ มีคนจน (รายได้ต่ำกว่า ๗.๖๗ หยวนหรือ ๓๘.๓๕ บาทต่อวัน)จำนวน ๗๗๐ ล้านคน มาในปี ๒๕๖๓ ลดลงเหลือเพียง ๖.๖ ล้านคน

นโยบายสูงสุดในการแก้ปัญหาความยากจนมาจากประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้นำสูงสุด เป็นผู้ที่เสนอทฤษฎีการสร้าง “สังคมนิยมที่มีเฉพาะในจีน” มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์แบบทันสมัย ระบบผลิตแบบใหม่ในชนบท แนวคิดแนวทางที่สำคัญคือการแก้ความยากจนแบบพุ่งเป้า ตรงจุด มีเป้าหมายบรรลุ “๒ ไม่กังวล” (ไม่มีกิน ไม่มีเสื้อผ้าสวมใส่) และ “๓ หลักประกัน” (ที่อยู่อาศัย รักษาพยาบาล การศึกษา)

เกษตรกรสามารถวางแผนเพาะปลูกได้เอง บริหารจัดการและมีส่วนร่วมในรายได้ที่เกิดขึ้นแทนที่จะรวบรวมผลผลิตทั้งหมดเข้ารัฐอย่างแต่ก่อน สนับสนุนผู้ประกอบการด้วยสินเชื้อแบบ Micro credit จัดตั้งฐานอุตสาหกรรมในพื้นที่ใต้เส้นวัดความยากจนกว่าหนึ่งแสนแห่ง ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ ๙๒ กระตุ้นการจ้างงานและฝึกฝนคนจนหางานทำ โยกย้ายประชากร ๕ ล้านคนให้มีที่อยู่ใหม่โดยจ่ายเงินชดเชย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือด้านสาธารณสุขและเบี้ยยังชีพ

ในด้านกลไกการทำงาน จีนมีสภาแห่งชาติเป็นกลไกสูงสุดดูแลการแก้ความยากจน ให้หน่วยงานจับคู่กับพื้นที่ ส่งเจ้าหน้าที่ ๗.๗๕ แสน – ๒.๐ ล้านคนลงสู่พื้นที่ยากจน เก็บข้อมูลรายบุคคล ครอบครัว ชุมชน จัดทำแฟ้มโครงการ ๘๙ ล้านโครงการเพื่อแก้ปัญหาแบบตรงเป้า หน่วยงานต่างๆเป็นหน่วยสนับสนุนด้านกำลังคน วัสดุอุปกรณ์และสมทบงบประมาณแบบแก้ตรงจุด รัฐบาลเองก็จัดโครงการพื้นฐาน ซื้อเฟอร์นิเจอร์ สร้างบ้านใหม่ ปรับปรุงหอพัก ห้องส้วม ด้านเอกชนร่วมกับรัฐบาลสนับสนุนการรวมกลุ่มผลิต แปรรูป ส่งผู้เชี่ยวชาญไปช่วยเหลือคนจน ทั้งครอบครัวและชุมชน

ผลสัมฤทธิ์ สามารถทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรวมดีขึ้น จำนวนคนจนลดลงอย่างน่ามหัศจรรย์ ทั้งยังมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของชาติ กำหนดว่าภายในปี ๒๕๖๓ (ค.ศ. ๒๐๒๐) ซึ่งครบรอบ ๑๐๐ ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน จะไม่มีคนจนเหลืออยู่ในประเทศจีนอีกต่อไป

ส่วนประเทศอินเดีย เป็นประเทศในระบอบประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากร ๑,๓๖๕ ล้านคน มีจำนวนคนยากจน (รายได้ต่ำกว่า ๖๕ บาทต่อวัน) ประมาณ ๗๑.๕ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๕.๒ โดยอินเดียไม่ได้วัดความยากจนจากรายได้เท่านั้น ยังวัดจากปัจจัยที่บกพร่องอื่นๆ อีก ๑๐ อย่าง เช่น ทรัพย์สิน เชื้อเพลิงหุงต้ม สุขาภิบาล โภชนาการ ฯลฯ

นายกรัฐมนตรี นายนเรนทร โมดี เป็นผู้นำสูงสุดที่มาจากการเลือกตั้ง ชูนโยบาย “Make in India” สนับสนุนต่างชาติให้มาลงทุนผลิตสินค้าในประเทศอินเดีย ยกระดับภาคการผลิต ในด้านแนวคิดแนวทางหลักในการแก้ความยากจน อินเดียมุ่งสร้างที่อยู่อาศัยคนจนทั้งในชนบทและในเมือง ๔๐ ล้านหลัง จัดให้มีไฟฟ้าใช้ ๒๔ ชั่วโมง สร้างถนนเพิ่ม ๒ แสนกิโลเมตรให้แก่คนที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและมูลค่าสินค้าการเกษตร ให้บริการคอมพิวเตอร์แบบพกพาสาธารณะ มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ๑๐๐ ล้านคน

อินเดียมีหน่วยงานหลักในการจัดทำยุทธศาสตร์แก้ความยากจน ชื่อ NITI Aayog มุ่งพัฒนาแบบองค์รวมในการระดับคุณภาพชีวิต ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนา กำหนดงบประมาณเพิ่มศักยภาพการผลิต การลงทุนจากต่างชาติ เพิ่มงบประมาณแปรรูปอาหาร สร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ระบบไฟฟ้า ถนนทางหลวง ขยายท่าอากาศยาน พัฒนาคุณภาพแรงงานโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง

ผลสัมฤทธิ์พิจารณาจากค่าดัชนีความยากจนหลายมิติ เช่น สินทรัพย์ เชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม สุขาภิบาล โภชนาการ ฯลฯ ซึ่งพบว่าในภาพรวมมีความยากจนลดลง แต่ที่ยังน่าเป็นห่วงคือ ประชากรร้อยละ ๘.๘ ยังยากจนในหลายมิติ ร้อยละ ๑๙.๓ ยังอยู่ในภาวะเสี่ยง และ ๓๗๓ ล้านคนยังถูกกีดกันอย่างรุนแรง และในสถานการณ์ COVID-19 ดูเหมือนว่าอินเดียจะได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก จนตกอยู่ในสภาวะถ่อยร่นเกือบไม่เป็นขบวน.