รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 25) “อินเดีย ต่อสู้ความยากจนในแบบทุนนิยม”

ประเทศสาธารณรัฐอินเดีย มีประชากร 1.3 พันล้านคน พื้นที่ 3.287 ตร.กม. คนอินเดียส่วนใหญ่ร้อยละ 81.3 นับถือศาสนาฮินดู ร้อยละ12 นับถือศาสนามุสลิม นอกนั้นนับถือศาสนาคริสต์ ซิกซ์ พุทธ เชน

ประชากรส่วนใหญ่จะมีอายุน้อยกว่า 15 ปี และกว่าร้อยละ 70 อาศัยอยู่ในหมู่บ้านกว่า 550,000 แห่ง  ส่วนที่เหลือกระจุกอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ อินเดียเป็นสังคมที่มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ มี 4 วรรณะ ได้แก่ วรรณะพราห์ม วรรณะกษัตริย์ วรรณะแพศย์ วรรณะศูทร แต่ยังมีอีกพวกที่อยู่นอกวรรณะ บางคนจัดเป็นวรรณะที่ 5 คือ จัณฑาล ถูกรังเกียจเหยียดหยาม ไม่คบค้าสมาคมด้วย ต้องห้ามไม่ให้แตะต้อง เป็นชนชั้นที่ถูกเลือกปฏิบัติ ได้รับโอกาสทางสังคมและอาชีพน้อยที่สุด

ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ผ่านอำนาจบริหาร มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐและหัวหน้าคณะบริหารประเทศ มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติประกอบด้วย 2 สภา ฝ่ายตุลาการเป็นอำนาจอิสระ

สภาพภูมิอากาศ ตอนเหนืออยู่ในเขตหนาว อุณหภูมิประมาณ 10 องศา มีแม่น้ำสินธุและคงคาไหลผ่าน จึงอุดมสมบูรณ์กว่าตอนใต้ อาชีพหลักคืออาชีพทางการเกษตร มีมากถึงร้อยละ52 สภาพอากาศและภูมิประเทศเหมาะสมกับการเกษตร เลี้ยงสัตว์และการประมง รายได้ประชาชาติต่อหัว 1553.85 ดอลลาร์สหรัฐ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ 1.19 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลปี 2558-2559)

เศรษฐกิจของอินเดีย มีตลาดภายในขนาดใหญ่ที่ช่วยพยุงให้เศรษฐกิจยังคงเดินหน้าต่อไปได้ ประชาชนร้อยละ6 มีการศึกษาดี พูดภาษาอังกฤษได้เป็นจำนวนมาก เป็นผู้ส่งออกซ๊อฟต์แวร์ชั้นนำ รวมถึงแรงงานด้านซ๊อฟแวร์ด้วย ความเจริญก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นการสร้างทรัพย์สินทางปัญญา มีการลงทุนต่ำและมีมูลค่าเพิ่มในการส่งออกมาก มีการสนับสนุนจากภาครัฐทุกระดับ มีสถาบันการศึกษาคุณภาพสูงที่เน้นผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

อินเดียมีคนจน 71.5 ล้านคน มีรายได้ต่ำกว่า 1.9 ดอลล่าร์สหรัฐหรือราว 65 บาทต่อวัน การจัดทำสำมะโนประชากรเมื่อปี ค.ศ. 2011 มีคนอินเดียราว 65 ล้านคนหรือราว 13.6 ล้านครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในสลัม รายงานของสหประชาชาติระบุว่าอินเดียมีคนยากจนร้อยละ 32.9 หรือราว 1 ใน 3

เพื่อแก้ปัญหาประชากรที่อยู่ในกลุ่มชนชั้นกลาง ซึ่งมีรายได้ตั้งแต่ประมาณ 2-10 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน จำนวนมากถึง 600 ล้านคน รัฐบาลของนายนเรนทร โมตี (Narendra Modi) ชูนโยบาย Make in Idea ในปี 2014 เพื่อสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติให้เข้าไปตั้งฐานการผลิตในอินเดีย  ยกระดับภาคการผลิตโดยมีเป้าหมายให้อินเดียเป็นศูนย์กลางการผลิตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและเพิ่มสัดส่วน GDP ของภาคอุตสาหกรรมเป็น 25% ภายในปี 2022 จาก 17% ของ GDP ในปัจจุบัน

เป้าระยะ 7 ปี ที่รัฐบาลต้องการให้อินเดียมีความเจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่งให้ได้ภายในปี 2565 (ค.ศ.2022)

  • สร้างที่อยู่อาศัย 20 ล้านหลังในชุมชนเมืองและ 40 ล้านหลังในชนบท
  • ทำให้คนอินเดียมีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง ให้อีก 20,000 หมู่บ้านที่เหลือ มีไฟฟ้าใช้ให้ได้ภายในปี 2563
  • ให้ประชาชน 178,000 คนที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก เพราะอาศัยในพื้นที่ที่ไม่มีการตัดถนนผ่าน มีถนนไว้ใช้สัญจรไปมาได้ โดยการก่อสร้างถนนเพิ่ม 2 แสนกิโลเมตร
  • เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและผลผลิตผ่านอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร
  • มุ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลกรองรับประชากรวัยทำงาน (2 ใน 3 ของประชากรอินเดีย อายุต่ำกว่า 35 ปี)
  • ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ติดกับประเทศเมียนม่าร์)เพื่อให้ทัดเทียมกับภาคอื่นๆของประเทศ
  • มีนโยบายการให้บริการคอมพิวเตอร์แบบพกพาสาธารณะ ที่ต้องการให้แต่ละครอบครัวเข้าถึง IT ได้

นายนเรนทรา โมดี ได้ประกาศจะสร้างอินเดียใหม่ภายในปีค.ศ.2022 โดยมอบให้ National Institution for Transforming India – NITI Aayog  เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำยุทธศาสตร์ มีแนวคิดและเป้าหมายส่งเสริมให้อินเดียมีขนาดเศรษฐกิจ 5 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี ค.ศ.2030 โดยการพัฒนาแบบองค์รวม ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนา และเน้นการมีส่วนร่วมในการวางยุทธศาสตร์

รัฐบาลกลางของนายกรัฐมนตรี นายนเรนทร โมตี กำหนดให้เพิ่มศักยภาพการผลิตของประเทศและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ด้วยงบประมาณ 21.57 ล้านล้านรูปี (10.68 ล้านล้านบาท) ครอบคลุมการพัฒนาประเทศทุกกลุ่มสาขา ได้แก่ การเกษตรและเศรษฐกิจชนบท เพิ่มงบประมาณแก่กระทรวงแปรรูปอาหารมากถึงสองเท่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ระบบรถไฟฟ้า ถนนทางหลวงและขยายท่าอากาศยาน การพัฒนาคุณภาพแรงงาน

คาดการณ์ว่าภายใน 5 ปี อินเดียจะมีแรงงานหนุ่มสาว อายุเฉลี่ย 30 ปี ประมาณ 400 ล้านคนเข้าสู่ตลาดแรงงานผ่านการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง        

องค์การสหประชาชาติเปิดเผยว่า อินเดียสามารถช่วยเหลือประชาชน 271 ล้านคนให้หลุดพ้นจากความยากจนในช่วง 10 ปี (2005 ถึง 2015) ค่าดัชนีวัดความยากจนหลายมิติ (MPI) หรือความยากจนในมิติอื่นๆที่ไม่ใช่เพียงด้านเงินทอง โดยวัดจากปัจจัยข้อบกพร่อง 10 ปัจจัย อาทิ สินทรัพย์ เชื้อเพลิงก๊าซหุงต้ม การสุขาภิบาลและโภชนาการ ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 8.8 ของประชากรยังอาศัยอยู่ในความยากจนหลายมิติที่รุนแรง ร้อยละ 19.3 สุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญกับความยากจนหลายมิติ ทั้งยังมีชาวอินเดียอีก 373 ล้านคนที่ประสบปัญหาถูกกีดกันอย่างรุนแรง.

นพ.พลเดช  ปิ่นประทีป / 21 กันยายน 2563