นวัตกรรมการแก้ปัญหาความยากจน หมายถึงวิสัยทัศน์ ความคิด นโยบาย ความรู้ วิธีการและกิจกรรมใหม่ๆ หรือกิจกรรมที่ประยุกต์จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ชุมชนท้องถิ่นและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่มีการนำมาใช้ในการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศต่างๆ
แม้ว่าจีนกับอินเดียจะเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมากที่สุดในโลก ใกล้เคียงกัน แต่การวิเคราะห์เปรียบเทียบนวัตกรรมการแก้ปัญหาความยากจนของจีนและอินเดีย คงไม่สามารถทำได้แบบง่ายๆ เพราะต่างมีบริบทที่ไม่เหมือนกันอยู่มาก ทั้งในด้านระบบการเมืองการปกครอง ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต
พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนโดยประธานาธิบดีสี เจิ้น ผิง ประกาศนโยบายชัดเจน “ขจัดความยากจนให้หมดไปในปี 2563” รวมทั้งการมีนโยบาย “ใครขยันมากได้มาก” ผลผลิตหรือรายได้เป็นกรรมสิทธิ์ของปัจเจกบุคคล ไม่ได้เป็นของรัฐแบบแต่ก่อน จีนจึงสามารถแก้จนตรงจุดได้ปีละนับสิบๆล้านคน คนยากจนกว่า 770 ล้านคนหมดไปจากประเทศ ประชาชนจีนมีเงินไปเที่ยวรอบโลกได้
เพื่อขจัดปัญหาความยากจนให้หมดสิ้นไป รัฐบาลจีนใช้นโยบายแก้ปัญหาแบบ “มุ่งเป้า”ไปที่ครอบครัวคนจน จัดให้มีอาสาสมัครที่เป็นพี่เลี้ยงคอยประกบ ทำการเก็บข้อมูลรายคน ครัวเรือนและชุมชน จากนั้นนำมาวิเคราะห์ปัญหาสาเหตุ หาแนวทางแก้ไข รวบรวมเป็นแฟ้มและจัดทำเป็นโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นรายครอบครัว กว่า 89 ล้านโครงการ ทำให้แก้จนได้ตรงจุด
จีนมีการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิต หันมาปลูกไม้ผลที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ มีการอพยพจากชนบทแห้งแล้งสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษ มีงานทำมีรายได้ มีการอบรมฝึกปฏิบัติใช้คอมพิวเตอร์ออนไลน์เพื่อการค้าขายและการตลาด จัดระบบการขนส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค จัดให้มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงช่วยชุมชนยากจนอย่างทั่วถึง ฯลฯ
ส่วนนวัตกรรมการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศอินเดีย ใช้แนวคิดทฤษฎีในการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมทั่วไป เน้นการลงทุนอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงจากต่างชาติ การขนส่ง ถนน ไฟฟ้า พาณิชยกรรม การบริการและการท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด Trickle Down Effect ที่เชื่อว่าจะเกิดการกระจายรายได้ มีอาชีพให้กับคนชั้นล่างหรือคนยากจน คือเป็นแรงงานสำคัญให้กับผู้ประกอบการหรือนายทุน แต่ผลของการพัฒนาประเทศแบบนี้มักพบว่าทำให้เกิด“รวยกระจุก จนกระจาย” ไม่เป็นไปตามแนวคิดทฤษฎี
แนวคิดประชานิยม (Populism) อันเป็นส่วนหนึ่ง หมายถึงการบริหารงานที่มุ่งมีจุดมุ่งหมายให้ได้รับความนิยมจากประชาชนเพื่อสนับสนุนการดำรงอยู่ของผู้นำทางการเมือง เป็นเครื่องมือให้เกิดความชอบธรรมทางการเมือง แต่ผลของประชานิยมมักมีลักษณะตอบสนองความอยาก (Felt Need) ชั่วครั้งชั่วคราว เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ไม่ได้ตอบสนองการแก้ไขปัญหาต่างๆที่แท้จริง (Real Need) ของประชาชน
แนวคิดการนำมาปรับประยุกต์ใช้ในประเทศไทย
บทเรียนรู้จากประสบการณ์ของจีนและอินเดียล้วนมีคุณค่า สามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนในประทศไทย แต่คงมิใช่การลอกเลียนแบบมาใช้ทั้งดุ้น เพราะต่างภูมิสังคม ต่างภูมิประเทศและต่างบริบททางการเมืองการปกครอง ย่อมมีปัจจัยตัวแปรอื่นอีกมากมายที่มีส่วนกำหนดความสำเร็จหรือความล้มเหลว
อินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่กล่าวกันว่าเป็นต้นแบบของประเทศประชาธิปไตยที่มีความมั่นคง แต่ก็มีปัญหาความยากจน ความขัดแย้งและความรุนแรงมากที่สุดประเทศหนึ่ง ระบบผู้นำที่ได้มาจากการเลือกตั้งมีความท้าทายและความเสี่ยงต่อการดำเนินนโยบายที่ต่อเนื่องในการแก้ปัญหาความยากจนและอื่นๆ
นโยบายและโครงการที่มุ่งแก้ปัญหาความยากจนของอินเดีย มีลักษณะของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับมหภาค ดำเนินการแบบ “บนลงล่าง” (top down) แต่การที่มีนโยบายระดับมหภาคที่สอดคล้องกับลักษณะจุดแข็งของประชากรอินเดีย การใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน สนใจเทคโนโลยีและเก่งในการสื่อสารติดต่อ บวกกับจุดแข็งของสังคมที่มีประชากรมากและอยู่ในวัยแรงงาน อินเดียจึงสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอย่างได้ผลและยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตประชากรได้เป็นจำนวนมากๆ ส่วนโครงการในเชิงประชานิยมและนวัตกรรมต่างๆของอินเดียนั้น น่าจะมีบทบาทเป็นเพียงการประคับประคองสังคมและเป็นสีสันเท่านั้น ไม่อาจหวังผลการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้
จีนเป็นประเทศที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ระบบสรรหาผู้นำประเทศในแบบของจีนได้รับการพิสูจน์ในช่วงเวลา 70 ปี นับตั้งแต่การก่อตั้งประเทศจีนใหม่ว่าสามารถสร้างเสถียรภาพและความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายได้เป็นอย่างดี จนทำให้เปลี่ยนแปลงจากประเทศที่ยากจน อ่อนแอ ล้าหลังในทุกด้าน มาสู่การเป็นมหาอำนาจและผู้นำของโลกในปัจจุบัน จีนมิได้แก้ปัญหาความยากจนแบบโครงการหรือนโยบายพิเศษเดี่ยวๆ แต่เป็นผลจากการขับเคลื่อนประเทศในหลายด้านไปพร้อมกัน อย่างมียุทธศาสตร์และเป็นระบบแบบแผน
จีนให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศด้วยนโยบายระดับมหภาค ที่ช่วยให้คนจีนมีการศึกษาดี มีงานทำ มีรายได้ มีศักดิ์ศรี ซึ่งสามารถทำได้เป็นจำนวนคราวละมากๆ ในขณะเดียวกันก็ให้ความสนใจนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนในระดับจุลภาค แบบ “ล่างขึ้นบน” (Bottom up) กระจายการจัดการให้ชุมชนและหน่วยงานพื้นที่เป็นผู้แสดงบทบาท ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่พรรค เจ้าหน้าที่รัฐ ภาคธุรกิจและสถาบันวิชาการในท้องถิ่น ซึ่งด้วยวิธีการเช่นนี้จึงสามารถเข้าถึงตัวกลุ่มคนยากจนที่เป็นเป้าหมายการพัฒนาได้มีประสิทธิภาพมากกว่า เรียกว่า “แก้ปัญหาคนจนแบบมุ่งเป้า” หรือ “การตัดเสื้อเฉพาะตัว”
สำหรับประเทศไทย เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีโอกาสและความเสี่ยงแบบเดียวกับอินเดีย แต่การที่มีเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และมีแผนปฏิรูปประเทศ 12 ด้าน จึงนับเป็น “ความพยายามแห่งชาติ” ประการสำคัญ อันน่าจะสร้างเสถียรภาพและความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาความยากจนและการพัฒนาประเทศในระยะยาว
แม้ว่าประเทศไทยมิได้มีระบบสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีระเบียบวินัยเคร่งครัดแบบจีน แต่สังคมไทยก็มีขบวนการจิตอาสาที่เกิดจากความสำนึกภายในตนและมีความเอื้ออาทร อันเป็นฐานทุนทางวัฒนธรรมที่หาได้ยากยิ่งในโลก ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าหมายเฉพาะแบบจีน จึงอยู่ในวิสัยที่จะนำมาปรับประยุกต์ใช้ในรูปแบบและวิถีแบบไทยๆ ได้อีกเช่นกัน.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 24 กันยายน 2563