รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 27) “จากจีน-อินเดีย หันมาแก้จนในคนไทย”

“จิงจุ่น” นโยบายแก้จนแบบตรงจุดของจีน

รศ.ดร. Yu Haiqiu ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา สถาบันวิจัยสังคมศาสตร์แห่งมณฑลยูนนาน

เล่าว่าผู้บริหารและข้าราชการแต่ละคนจับคู่กับครัวเรือนยากจนอย่างน้อยคนละ 2 ครัวเรือนจนกว่าจะแก้ความยากจนสำเร็จ มีการเยี่ยมครอบครัว 4 ครั้งต่อปี ใช้เงินไม่เกิน 2,000 – 3,000 บาท ต้องติดป้ายชื่อ ตำแหน่ง บันทึกภารกิจ หลักฐานการทำงาน การใช้จ่ายและให้ตรวจสอบได้

ตัวสถาบันเองก็จับคู่หมู่บ้านยากจนในเมืองลี่เจียง มณฑลยูนนาน ประชากร 650 คน ปลูกข้าวโพด ยาสูบ เลี้ยงสัตว์  สถาบันมีกระบวนการทำแผนลดความยากจนที่เหมาะสมกับความเป็นอยู่ของเขา มอบทุนตั้งต้นสำหรับประกอบอาชีพ โดยขอเงินอุดหนุนจากรัฐให้ซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด รัฐซื้อเฟอร์นิเจอร์ให้ 6 ชิ้นราคาไม่เกิน 30,000 บาท สร้างห้องน้ำถูกสุขลักษณะให้บางครอบครัว และรัฐอุดหนุนสร้างบ้านใหม่ 4 แสนบาท

รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอโมเดลเถาเป่า หมู่บ้านชนบทห่างไกล รวมตัวกันทำการค้าออนไลน์ เริ่มปี 2013 เพียง 20 หมู่บ้าน ปี 2017 ขยายเป็น 2,118 หมู่บ้าน 

เครืออาลีบาบาเป็นผู้ริเริ่มโครงการด้วยการปล่อยเงินกู้และระบบเว็บไซค์ให้โพสต์ขายสินค้าได้โดยง่ายรวมถึงจัดคอร์สการขายออนไลน์และช่วยเครือข่ายการขนส่งสินค้าให้เข้าถึงพื้นที่  ภาครัฐสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการค้าออนไลน์ การจัดสรรพื้นที่เขตอุตสาหกรรมพิเศษ เสนอให้เอกชนเช่าเป็นโรงงานขนาดย่อม จัดให้มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและมีเครือข่ายมือถือที่ครอบคลุม ร้านค้าในชุมชนที่ห่างไกลเหล่านี้อาจจะประสบปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนการโฆษณาออนไลน์ ขาดทักษะการแข่งขัน เป็นต้น เครืออาลีบาบาจะมาช่วยแก้ปัญหาและวางระบบให้

หมู่บ้านเหวิ่นเจี่ยหวา เดิมปลูกข้าวสาลีและถั่ว เป็นหมู่บ้านยากจน ได้เปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตมาปลูกแอปเปิลโดยรัฐอุดหนุน 2,000 หยวนต่อเอเคอร์ มีบริษัทธุรกิจมาช่วยเรื่องการตลาด จนพ้นจากความยากจนได้ทั้งหมู่บ้าน

“สวัสดิการสังคม” แบบอินเดีย

นโยบายขายข้าวให้คนจน 800 ล้านคน (2 ใน 3 ของประเทศ)  ดูจะเป็นนโยบายที่หวังผลประชานิยม คือ การขายข้าวราคาถูก 1กิโลกรัม ในราคา 3รูปี (1.50 บาท) ส่วนข้าวสาลีขายเพียง 2 รูปีและข้าวฟ่าง 1 รูปีเท่านั้น เหมือนให้เปล่ากับคนจนในประเทศ ทุกเดือน นโยบายนี้เป็นส่วนหนึ่งของร่างกฎหมายความมั่นคงทางอาหาร ที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนายมานโมฮัน ซิงห์ ยืนยันว่าจะเดินหน้าโครงการแจกข้าวสารนี้ทันที โดยไม่ต้องรอให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านสภา วัตถุประสงค์ก็เพื่อลดปัญหาความอดอยากยากจนของประชากร เพื่อเป็นสวัสดิการขั้นต้นให้ประชาชนมีชีวิตอยู่โดยไม่ยากลำบากจนเกินไป รัฐต้องใช้งบประมาณ 650,000 ล้านบาทต่อปี

โครงการออกบัตรจ่ายเงินสดแทนการแจกอาหารช่วยคนจนใน 8 รัฐ  เป็นโครงการสวัสดิการสังคมที่แจกจ่ายหรือจัดหาอาหารราคาถูกให้แก่ประชาชน ทำกันมานานราว 50 ปี แต่โครงการดังกล่าวต้องใช้เงินจำนวนมาก

ทั้งยังมีปัญหาความสูญเปล่าและการคอรัปชั่นด้วย รัฐบาลจึงทดลองโครงการจ่ายเงินสดเพื่อช่วยเหลือคนจนโดยตรงแทนการให้อาหารใน 8 รัฐ อย่างไรก็ตามนายนเรนทร์ ศักดิเสนา แห่งศาลสูงของอินเดีย ชี้ว่า ปัญหาของการนำโครงการจ่ายเงินสดให้กับคนจนนำมาใช้ คือ การระบุหาตัวผู้ยากจนที่แท้จริงว่าคือใครและอยู่ที่ใด เพราะคนยากจนที่แท้จริงในอินเดียมักไม่มีหลักฐานระบุตัวตนและเจ้าหน้าที่ของรัฐมักเข้าไม่ถึงด้วย

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับประเทศไทย

การแก้ปัญหาความยากจนเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศและแผนการพัฒนาโดยรวม อีกทั้งยังมีมิติทางการเมืองและความมั่นคง รัฐบาลจึงควรใช้แนวทางการแก้ปัญหาความยากจน “แบบพุ่งเป้า” ดังตัวอย่างกรณีศึกษาของประเทศจีน นำมาปรับประยุกต์ใช้กับประเทศไทยโดยถือเป็นแนวทางหลัก และจัดให้มีแผนแม่บทการบูรณาการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ที่มีความสำคัญเทียบเท่ากับแผนแม่บทในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้เกิดภาพของความสมดุล 

เพื่อให้มีหน่วยงานที่สามารถดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างต่อเนื่อง มียุทธศาสตร์และเป็นระบบแบบแผน รัฐบาลควรจัดตั้ง “สำนักงานบูรณาการการแก้ปัญหาความยากจน” ตามนโยบายที่ได้เคยแถลงไว้กับรัฐสภา โดยให้มีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีการองรับ ทั้งนี้ควรออกแบบหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพ คล่องตัว โปร่งใส และมีหลักประกันในระบบงบประมาณสนับสนุน

เพื่อสนับสนุนแผนงาน โครงการเชิงนวัตกรรมที่หลากหลาย รัฐบาลควรให้ความสำคัญ เร่งรัดและพิถีพิถัน ในการจัดให้มี “กองทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า” เป็นลักษณะของกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (Social Investment Fund – SIF) โดยจัดงบประมาณอุดหนุนอย่างเหมาะสมเพียงพอ ให้มีภารกิจครอบคลุมไปถึงการแก้ปัญหาความยากจนและผู้รับผลกระทบอื่นๆ ในลักษณะของตาข่ายนิรภัยทางสังคม (Social Safety Net) แบบเดียวกับกองทุน SIF ในยุควิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ด้วย

ควรสร้างความร่วมมือแบบภาคีพันธมิตร ระหว่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อช่วยเป็นพี่เลี้ยงชุมชนและครอบครัวยากจนแบบประกบคู่ กำหนดนโยบาย แผนงาน โครงการและงบประมาณในการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน การฝึกปฏิบัติ สร้างคนไทยให้เก่งในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศและภาษาอังกฤษ รองรับอุตสาหกรรมในยุค IT  พัฒนาเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการ ขยายตลาดการค้าออนไลน์และส่งเสริมการส่งออก 

โดยวิเคราะห์ร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้านจัดหาเจ้าหน้าที่ไปทำการวิเคราะห์ศักยภาพและความต้องการด้านวิชาชีพ ทักษะที่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม ฯลฯ จัดทำเป็นแฟ้มโครงการและประวัติการพัฒนาเฉพาะครัวเรือน 

ภาคประชาสังคม ควรถือเอาการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนเป็นเป้าหมายใหญ่ร่วมกันของกลุ่มองค์กรและเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานทางสังคมกันอย่างหลากหลาย รวมทั้งร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ CSR และกลุ่มจิตอาสาหรือผู้มีใจบุญใจกุศลทั้งหลายทั้งปวง

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศจีนและอินเดียนับเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ทั้งในเชิงการศึกษาเปรียบเทียบ การปรับประยุกต์ และการสร้างแรงบันดาลใจ  แต่เมื่อมองในระดับใหญ่ คือการดำเนินการทั่วทั้งประเทศอาจดูเป็นเรื่องยาก เพราะต้องอาศัยกลไกอำนาจรัฐและความร่วมมือในวงกว้างและต้องการผู้คนหลากหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง

ในทางกลับกัน ถ้ามองแคบลงมาในระดับชุมชนท้องถิ่น ความร่วมไม้ร่วมมือกันย่อมอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้มากกว่า และสามารถลงมือทำ สร้างตัวอย่างความสำเร็จจากจุดเล็กๆได้ในทันที โดยไม่ต้องรอนโยบายที่สั่งมาจากเบื้องบน

ดังนั้น การผนึกกำลังระหว่างชุมชน ท้องถิ่น ประชาสังคมและ CSR ในระดับพื้นที่ น่าจะเป็นปัจจัยความสำเร็จที่สามารถสร้างสรรค์ขึ้นมาจากเบื้องล่าง ฐานรากของสังคม.

นพ.พลเดช  ปิ่นประทีป / 27 กันยายน 2563