คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนวุฒิสภา มีมุมมองต่อบทบาทของประชาชนในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดย ประกอบด้วย 3 ส่วน ที่ต้องให้ความสำคัญอย่างสมดุล ได้แก่
1) ประชาธิปไตยทางตรงระดับชุมชนฐานล่าง หรือที่เรียกว่าประชาธิปไตยชุมชน
2) ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม อันหมายถึง การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ
3) ประชาธิปไตยระบบตัวแทน คือ การเลือกตัวแทนเข้าไปใช้อำนาจรัฐ
กรรมาธิการได้ทำการศึกษาประเด็นนี้ โดยมุ่งพิจารณาเฉพาะในส่วนของประชาธิปไตยชุมชนอันเป็นรูปแบบของประชาธิปไตยทางตรง ที่มีความเคลื่อนไหวอย่างเป็นพลวัตรในขอบเขตทั่วประเทศ อย่างต่อเนื่องยาวนาน และมีพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา
วัตถุประสงค์ เพื่อสำรวจรวบรวมข้อมูลจำนวนองค์กรชุมชน 24 ประเภท ประเมินภาพรวมของสถานการณ์กระบวนการประชาธิปไตยชุมชนในระดับฐานล่างของสังคมไทยทั่วประเทศ ศึกษาข้อมูลระดับคุณภาพขององค์กรชุมชน 12 ประเภท ที่ได้รับการประเมินอย่างเป็นระบบ เพื่อเปรียบเทียบระดับพัฒนาการและความเข้มแข็งของ “องค์กรชุมชน” ในฐานะหน่วยย่อยของระบบประชาธิปไตยทางตรงที่ฐานล่างของสังคมไทย
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงผสมผสาน (Mixed Method) โดยทบทวนเอกสารวิชาการและหนังสือรายงานประจำปีของหน่วยงานแม่ข่าย รวมทั้งหน่วยงานและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง รวมรวบข้อมูลจำนวนองค์กรชุมชนจากระบบฐานข้อมูลขององค์กรแม่ข่าย 14 แห่ง จำนวน 24 ประเภทรวมทั้งศึกษารายงานผลการประเมินคุณภาพองค์กรชุมชน เฉพาะส่วนที่มีการดำเนินการจริงอย่างเป็นระบบและเป็นวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานแม่ข่ายหลักระดับชาติ 10 แห่ง ในช่วงปี 2556/2557 และ 2561/2562 จำนวน 12 ประเภท

สถานการณ์องค์กรชุมชนในเชิงปริมาณ
ในปี 2560/2561 มีองค์กรชุมชน รวม 266,155 องค์กร ซึ่งเพิ่มมากขึ้นจากเดิม 250,536 องค์กร ในปี 2556/2557
ประเภทขององค์กรชุมชนที่มีจำนวนมากที่สุด ได้แก่ (ข้อมูลปี 2560/2561)
- วิสาหกิจชุมชน 78,725 องค์กร (กรม พช.)
- กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ 78,485 องค์กร (สทบ.)
- กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต 25,936 องค์กร (กรม พช.)
- กลุ่มผู้ผลิตสินค้า OTOP 19,560 องค์กร (กรม พช.)
- ป่าชุมชน 10,382 องค์กร (กรมป่าไม้)
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 30 กันยายน 2563