โดยที่เห็นเป็นการสมควรให้จัดตั้งสภาประชาสังคมไทยขึ้น ให้เป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่สถาบันกลางและเป็นกลไกเชื่อมโยงการทำงานแบบสานพลังขององค์กรภาคประชาสังคมที่หลากหลาย เป็นหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศและสังคมไทยอย่างยั่งยืน
ในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ข่ายงานชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคม ๗๖ จังหวัดและ ๖ พื้นที่โซนของกรุงเทพมหานคร ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของวุฒิสภาและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้พัฒนากรอบแนวคิดการจัดตั้งและจัดทำยกร่างธรรมนูญสภาประชาสังคมไทยขึ้น
ต่อมา ในคราวเวทีการประชุมสมัชชาองค์กรภาคประชาสังคม เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ ห้องประชุมใหญ่ โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี คณะผู้แทนเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม จำนวน ๖๗ องค์กร อันประกอบด้วยกลุ่มองค์กรชุมชนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชนอิสระ องค์กรสาธารณะประโยชน์ องค์กรวิชาชีพและกลุ่มอาชีพ และกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เข้าร่วมการประชุมได้มีฉันทมติเห็นชอบธรรมนูญสภาประชาสังคมไทย ให้เป็นกรอบแนวทางในการจัดตั้งและดำเนินงาน พร้อมทั้งมีการร่วมลงนามในท้ายคำประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าว
ธรรมนูญสภาประชาสังคมไทย พ.ศ. ๒๕๖๓ ประกอบด้วย ๕ หมวด ๒๑ ข้อ ดังต่อไปนี้
หมวด ๑ บททั่วไป
ข้อ ๑ ให้มีองค์กรอิสระเป็นศูนย์ประสานงานขององค์กรภาคประชาสังคม เรียกชื่อว่าสภาประชาสังคมไทย ชื่อย่อว่า สปสท. ชื่อภาษาอังกฤษว่า Civil Society Council of Thailand ชื่อย่อว่า CSCT
ข้อ ๒ องค์กรสมาชิกตามประกาศรายชื่อท้ายธรรมนูญ ซึ่งเป็นสมาชิกของสภาประชาสังคมไทยรวมทั้งบุคลากรในสังกัดองค์กรสมาชิก ยอมรับผูกพันและปฏิบัติตามธรรมนูญฉบับนี้
ข้อ ๓ ในธรรมนูญนี้
“องค์กรภาคประชาสังคม” หมายถึง กลุ่ม องค์กร เครือข่าย ของประชาชนหรือคณะบุคคลซึ่งมีจิตสำนึกคุณธรรมเพื่อส่วนรวมที่รวมตัวกัน ด้วยความสมัครใจ เพื่อดำเนินกิจกรรมอันเป็นสาธารณประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมเป็นสำคัญ
“สภา” หมายความว่า สภาประชาสังคมไทย
“คณะกรรมการ” หมายถึง คณะกรรมการสภาประชาสังคมไทย
“ประธาน” หมายถึง ประธานคณะกรรมการสภาประชาสังคมไทย
“รองประธาน” หมายถึง รองประธานคณะกรรมการสภาประชาสังคมไทย
“เลขาธิการ” หมายถึง เลขานุการคณะกรรมการสภาประชาสังคมไทย
“กรรมการ” หมายถึง กรรมการสภาประชาสังคมไทย
“เหรัญญิก” หมายถึง กรรมการที่รับผิดชอบการเงินการบัญชีของสภาประชาสังคมไทย
“สมาชิกก่อตั้ง” หมายถึง องค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมที่มีผู้แทนร่วมลงนามในท้ายประกาศเจตนารมณ์การจัดตั้งสภาประชาสังคมไทย เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ ห้องประชุมใหญ่โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี
“สมาชิก” หมายถึง องค์กรเครือข่ายที่เป็นสมาชิกสภาประชาสังคมไทย
“ผู้แทน” หมายถึง ผู้แทนองค์กรเครือข่ายที่เป็นสมาชิกสภาประชาสังคมไทย
“ข้อบังคับ” หมายถึง ข้อบังคับสภาประชาสังคมไทยว่าด้วยเรื่องต่าง ๆ เพื่อการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์
“ระเบียบ” หมายถึง ระเบียบของสภาประชาสังคมไทยว่าด้วยเรื่องต่าง ๆ เพื่อการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์
ข้อ ๔ สภาประชาสังคมไทยมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นสถาบันตัวแทนขององค์กรภาคประชาสังคม
(๒) เป็นพื้นที่กลางของสมาชิกในการพัฒนา ผลักดัน และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
(๓) ส่งเสริมบทบาทขององค์กรภาคประชาสังคมในการปฏิรูปประเทศไทยและเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศและชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
(๔) ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคมทุกรูปแบบ ทุกพื้นที่ และทุกระดับ
(๕) เสริมสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม การเมืองภาคพลเมือง และกระบวนการนโยบายสาธารณะที่เกิดจากความริเริ่มของสังคม
ข้อ ๕ สภาประชาสังคมไทยมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรภาคประชาสังคมที่เป็นสมาชิก ให้เป็นไปตามค่านิยมหลักขององค์กรภาคประชาสังคม และข้อบังคับหรือระเบียบอื่น ซึ่งตราขึ้นตามธรรมนูญนี้หรือตามที่คณะกรรมการกำหนด
(๒) ให้ความรู้ การศึกษาอบรมและพัฒนาทักษะในด้านวิชาการและการบริหารจัดการแก่สมาชิก
(๓) เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมและกิจการของสภาประชาสังคมไทยออกสู่สาธารณะอย่างสม่ำเสมอ
(๔) พัฒนา ผลักดัน และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
ข้อ ๖ สภาประชาสังคมไทยอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้
(๑) ค่าบำรุงจากสมาชิก
(๒) ทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์
(๓) เงินอุดหนุน ช่วยเหลือ และรายได้อื่นจากการระดมทุนเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์
(๔) ดอกผลจากเงินตาม (๑) (๒) และ (๓)
หมวด ๒ สมาชิก
ข้อ ๗ สมาชิกแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
(๑) สมาชิกก่อตั้ง ได้แก่ องค์กรเครือข่ายที่ได้ร่วมลงนามในท้ายประกาศเจตนารมณ์การจัดตั้งสภาประชาสังคมไทย เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ ห้องประชุมใหญ่โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรีและยังคงดำเนินกิจการองค์กรและเครือข่ายนั้นอยู่อย่างต่อเนื่อง
(๒) สมาชิกสามัญ ได้แก่ กลุ่ม องค์กร เครือข่าย ของประชาชนหรือคณะบุคคล ที่สมัครเป็นสมาชิก และผ่านการรับรองตามข้อบังคับสภาประชาสังคมไทย
ข้อ ๘ สมาชิกมีหน้าที่
(๑) สนับสนุนกิจกรรมของสภาประชาสังคมไทยและการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ
(๒) ส่งเสริมจิตสำนึกสาธารณะและค่านิยมการเป็นอาสาสมัครภายในองค์กร และระหว่างองค์กร เพื่อการพัฒนาสังคมและสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ
(๓) ยึดถือค่านิยมหลักของสภาประชาสังคมไทย ในการทำงานและประพฤติปฏิบัติ
ข้อ ๙ สมาชิกต้องร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจที่กำหนดถึงพันธะสัญญาของสมาชิกที่มีต่อสภาประชาสังคมไทยทุก ๆ ๒ ปี ภายในระยะเวลา ๓๐ วัน ก่อนการเลือกตั้งกรรมการสภาประชาสังคมไทยชุดใหม่ และให้มีผลผูกพันตลอดระยะเวลา ตามวาระของคณะกรรมการ
ข้อ ๑๐ สมาชิกต้องปฏิบัติตามธรรมนูญ ข้อบังคับ หรือระเบียบอื่นของสภาประชาสังคมไทย
ข้อ ๑๑ สมาชิกพ้นจากสมาชิกภาพเมื่อ
(๑) ไม่ลงนามในบันทึกความเข้าใจตามข้อ ๙
(๒) เลิกกิจการ
(๓) ไม่ปฏิบัติตามมติของสภาประชาสังคมไทย และคณะกรรมการมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของคณะกรรมการทั้งหมดให้พ้นจากสมาชิกภาพ
หมวด ๓ การบริหารสภาประชาสังคมไทย
ข้อ ๑๒ ให้สภาประชาสังคมไทยมีกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการสภาประชาสังคมไทย” จำนวน ๑๗ – ๒๗ คน ประกอบด้วยกรรมการที่มาจากผู้แทนสมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสภาตามข้อบังคับ
จำนวนกรรมการควรคำนึงถึงสัดส่วนหญิงชายและเพศสภาพ ประเภทขององค์กรภาคประชาสังคม และมิติในเชิงพื้นที่ภูมิภาคอย่างเหมาะสม
ให้คณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งกันเองเพื่อดำรงตำแหน่งประธานหนึ่งคน รองประธาน เลขาธิการ เหรัญญิก และกรรมการตำแหน่งอื่นตามความจำเป็น
ให้ประธานเป็นผู้กระทำการแทนสภาประชาสังคมไทยในการติดต่อกับบุคคลภายนอก แต่ประธานอาจมอบหมายเป็นหนังสือให้กรรมการอื่นกระทำการแทนตนเฉพาะในกิจการใดก็ได้
ให้รองประธานกระทำการแทนเมื่อประธานไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้แล้วแต่กรณี หากประธานหรือรองประธานไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการผู้มีอาวุโสสูงสุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว
ให้มีสำนักงานคณะกรรมการสภาประชาสังคมไทยโดยมีเลขาธิการทำหน้าที่บริหารสูงสุด
วิธีการได้มาซึ่งกรรมการในวรรคสอง ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาประชาสังคมไทย
ข้อ ๑๓ กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๔ ปี นับแต่วันที่ได้รับการเลือกตั้งตามข้อ ๑๒ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินกว่าสองวาระติดต่อกันไม่ได้
ข้อ ๑๔ กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ออกตามวาระ
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) ขาดคุณสมบัติตามข้อ ๙
(๕) องค์กรที่สังกัดหยุดดำเนินกิจการ หรือกรรมการจากองค์กรนั้นย้ายสังกัดและต้นสังกัดพ้นสภาพสมาชิกตามข้อ ๑๑ เฉพาะกรณีกรรมการมาจากข้อ ๑๑ (๑) (๒) (๓)
(๖) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและคณะกรรมการมีมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของจำนวนกรรมการทั้งหมด
(๗) ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย
(๘) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
(๙) เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือเป็นผู้วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ
ข้อ ๑๕ กรณีที่มีกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้ดำเนินการให้มีผู้มาดำรงตำแหน่งแทนตามประเภทของกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งใน ข้อ ๑๔ เว้นแต่วาระที่เหลืออยู่ไม่ถึง ๖๐ วัน และให้กรรมการที่ได้รับเลือกใหม่อยู่ในตำแหน่งตามวาระของกรรมการซึ่งตนแทน
ข้อ ๑๖ ให้มีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยทุก ๒ เดือนและกรรมการจะมอบหมายให้บุคคลอื่นเข้าประชุมแทนมิได้
ประธานอาจเรียกประชุมเมื่อมีเหตุผลสมควร หรือโดยคำร้องขอของกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดก็ได้
การประชุมของคณะกรรมการ ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงถือเป็นองค์ประชุม และให้ประธานทำหน้าที่ประธานการประชุม
การประชุมคณะกรรมการ อาจดำเนินการได้ทั้งในรูปแบบปกติและการประชุมแบบออนไลน์ หรือแบบผสมผสาน
ข้อ ๑๗ คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารกิจการของสภาตามวัตถุประสงค์
(๒) ออกข้อบังคับสภาประชาสังคมไทยตามที่กำหนดในธรรมนูญนี้
(๓) จัดให้มีสำนักงานที่ทำหน้าที่เลขานุการสภา
(๔) จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญของสภาเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง และอาจมีการจัดประชุมใหญ่วิสามัญได้ตามความจำเป็น ตามข้อบังคับสภาประชาสังคมไทย
(๕) พิจารณาการเป็นสมาชิก
(๖) แต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรม คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานอื่น ๆ เพื่อให้คำแนะนำปรึกษาหรือช่วยทำกิจการหรือพิจารณาเรื่องที่ได้รับมอบหมายตามวัตถุประสงค์ของสภาประชาสังคมไทย เว้นแต่กิจการที่มีลักษณะหรือสภาพที่สภาไม่อาจมอบหมายให้กระทำแทนได้
(๗) พิจารณาและวินิจฉัยปัญหาและข้อขัดแย้งหรือปัญหาใดที่มิได้ตราไว้ในธรรมนูญนี้หรือปัญหาการบังคับใช้ธรรมนูญนี้ คำวินิจฉัยดังกล่าวให้เป็นที่สุด
(๘) จัดทำรายงานประจำปีของสภาประชาสังคมไทยเผยแพร่ต่อสาธารณะ
หมวด ๔ ค่านิยมหลักสภาประชาสังคมไทย
ข้อ ๑๘ ค่านิยมหลักของสภาประชาสังคมไทย ประกอบด้วย
(๑) มีจิตอาสาสาธารณะ และไม่ทนต่อการทุจริต
(๒) รักษาความเป็นอิสระจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน
(๓) สนับสนุนกิจกรรมประชาธิปไตยทางตรงและการมีส่วนร่วม ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเมืองระบบตัวแทน
(๔) ยึดถือในหลักคุณธรรม ความดี ความงาม ความถูกต้อง
(๕) โปร่งใส มีธรรมาภิบาล
(๖) พึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง ยึดหลักภราดรภาพ
(๗) เรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ พัฒนาและปรับปรุงตัวอยู่ตลอดเวลา
(๘) สร้างสังคมแบบเครือข่าย
(๙) เคารพกฎหมายและกติกาสังคม
ข้อ ๑๙ ผู้บริหารขององค์กรเครือข่ายสมาชิกสภาประชาสังคมไทย มีหน้าที่ในการนำค่านิยมหลักของสภาประชาสังคมไทยไปเป็นกรอบแนวทางการเสริมสร้างวัฒนธรรมในการทำงานและกำกับดูแลการประพฤติปฏิบัติของบุคลากร
หมวด ๕ การแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญ
ข้อ ๒๐ การแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญนี้ให้เป็นอำนาจของสภาประชาสังคมไทย โดยการเสนอของกรรมการและสมาชิก ด้วยมติให้แก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญนี้ต้องใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของจำนวนสมาชิกที่ประชุม ทั้งนี้ให้เป็นไปตามข้อบังคับ
หมวด ๖ บทเฉพาะกาล
ข้อ ๒๑ ในระยะเริ่มต้น ให้ที่ประชุมของสมาชิกก่อตั้งสภาประชาสังคมไทย ทำหน้าที่สภาประชาสังคมไทยเพื่อเลือกคณะกรรมการชั่วคราว จำนวน ๑๑ คน เพื่อดำเนินการจัดทำข้อบังคับสภา และเลือกตั้งคณะกรรมการสภา ตามที่กำหนด ภายในระยะเวลา ไม่เกิน ๖ เดือน นับแต่ประกาศใช้ธรรมนูญนี้
ข้อ ๒๒ ให้สมาชิกก่อตั้งมีสถานะเป็นสมาชิกสามัญ หลังจากมีคณะกรรมการตามข้อ ๒๑
ข้อ ๒๓ ให้ประธานที่ประชุมสมาชิกก่อตั้งสภาประชาสังคมไทย ลงนามประกาศใช้ธรรมนูญนี้
ข้อ ๒๔ ธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับถัดจากวันที่ประกาศเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
(ดร.ชำนาญ วัฒนศิริ)
ประธานสภาประชาสังคมไทย