อาศัยอำนาจและหน้าที่ตามข้อ ๑๗ แห่งธรรมนูญประชาสังคมไทย พ.ศ. ๒๕๖๓ คณะกรรมการสภาประชาสังคมไทยจึงตราออกข้อบังคับว่าด้วยวิธีดำเนินงานของสภาประชาสังคมไทย ขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
หมวด ๑ ทั่วไป
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับว่าด้วยวิธีดำเนินงานของสภาประชาสังคมไทย พ.ศ. ๒๕๖๓”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศต่อเครือข่ายสมาชิกสภาประชาสังคมไทย เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ให้ประธานสภาประชาสังคมไทย รักษาการตามข้อบังคับ และมีอานาจออกระเบียบเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับนี้
ข้อ ๔ ในข้อบังคับนี้ คำว่า
“ธรรมนูญ” หมายถึง ธรรมนูญสภาประชาสังคมไทย พ.ศ. ๒๕๖๓
“องค์กรภาคประชาสังคม” หมายถึง กลุ่ม องค์กร เครือข่าย ของประชาชนหรือคณะบุคคลซึ่งมีจิตสำนึกคุณธรรมเพื่อส่วนรวมที่รวมตัวกัน ด้วยความสมัครใจ เพื่อดำเนินกิจกรรมอันเป็นสาธารณประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมเป็นสำคัญ
“สภา” หมายถึง สภาประชาสังคมไทย
“สำนักงานสภา” หมายถึง สำนักงานเลขาธิการสภาประชาสังคมไทย ที่เป็นหน่วยเลขานุการคณะกรรมการ
“คณะกรรมการ” หมายถึง คณะกรรมการสภาประชาสังคมไทย
“ประธาน” หมายถึง ประธานคณะกรรมการสภาประชาสังคมไทย
“รองประธาน” หมายถึง รองประธานคณะกรรมการสภาประชาสังคมไทย
“เลขาธิการ” หมายถึง เลขานุการคณะกรรมการ ที่เป็นผู้บริหารสูงสุดของสำนักงานสภา
“กรรมการ” หมายถึง กรรมการสภาประชาสังคมไทย
“เหรัญญิก” หมายถึง กรรมการที่รับผิดชอบการเงินการบัญชีของสภาประชาสังคมไทย
“สมาชิกก่อตั้ง” หมายถึง องค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมที่มีผู้แทนร่วมลงนามในท้ายประกาศเจตนารมณ์การจัดตั้งสภาประชาสังคมไทย เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ ห้องประชุมใหญ่โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี
“สมาชิก” หมายถึง องค์กรเครือข่ายที่เป็นสมาชิกสภาประชาสังคมไทย
“ผู้แทน” หมายถึง ผู้แทนองค์กรเครือข่ายที่เป็นสมาชิกสภาประชาสังคมไทย
“ผู้บริหาร” หมายถึง คณะกรรมการซึ่งหน้าที่บริหารขององค์กรสมาชิกสภาประชาสังคมไทย
“ผู้ปฏิบัติงาน” หมายถึง เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานขององค์กรสมาชิกสภาประชาสังคมไทย
“ข้อบังคับ” หมายถึง ข้อบังคับสภาประชาสังคมไทยว่าด้วยวิธีดำเนินงานของสภาประชาสังคมไทย
“ระเบียบ” หมายถึง ระเบียบสภาประชาสังคมไทย ว่าด้วยเรื่องต่าง ๆ เพื่อการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของสภา
หมวด ๒ สำนักงานสภาประชาสังคมไทย
ข้อ ๕ สำนักงานสภา สภาประชาสังคมไทย มีสำนักงานเลขาธิการสภาประชาสังคมไทย เป็นหน่วยเลขานุการคณะกรรมการสภาประชาสังคมไทย มีชื่อย่อว่า สสปท. ชื่อภาษาอังกฤษว่า Secretariat of the Civil Society Council of Thailand มีชื่อย่อว่า CSCT
ข้อ ๖ ตราสัญลักษณ์ของสภาประชาสังคมไทย เป็นรูปสัญลักษณ์คนสีน้ำเงิน เชื่อมต่อกันเป็นวงกลม ล้อมรอบชื่อสภา ที่เป็นภาษาไทยและอังกฤษ หมายถึง องค์กรประชาสังคมที่ทำงานเน้นเครือข่าย เรียงเป็นรูปวงกลม ซ้อนอยู่ด้านใน และมีภาพสัญลักษณ์แผนที่ประเทศไทยอยู่กลางภาพ (ดังภาพด้านขวา) หมายถึง ความเท่าเทียมเสมอภาคของภาคีเครือข่าย เพื่อปกป้อง คุ้มครอง ดูแลสังคมไทยร่วมกัน

Download PDF file LOGO สภาประชาสังคม
ข้อ ๗ สำนักงานเลขานุการสภา ให้สมาคมองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข้มแข็ง ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของสภาประชาสังคมไทย โดยมีนายกสมาคมฯ ทำหน้าที่เลขาธิการสภา รับผิดชอบบริหารสำนักงานสภา
ข้อ ๘ สถานที่ตั้ง สถานที่ตั้งของสภาและสำนักงานสภา ตั้งอยู่ที่ เลขที่ ๙๘/๔๖ ซอย ๙ หมู่บ้านคาซ่าวิลล์ ราชพฤกษ์-รัตนาธิเบศร์ ๒ หมู่ ๑ ถ.ราชพฤกษ์ ต.ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ๑๑๑๒๐
ข้อ ๙ การบริหารจัดการสำนักงานสภา ให้จัดองค์กรและการบริหารจัดการในรูปแบบของการบริหารโครงการ โดยมีคณะกรรมการสภาทำหน้าที่เป็นกลไกอำนวยการ กำกับทิศและติดตามประเมินผล
ข้อ ๑๐ หน้าที่ของสำนักงานสภา ให้สำนักงานสภา จัดให้มีแผนงาน โครงการ งบประมาณ และอัตรากำลังบุคลากร เพื่อสนับสนุนการดำเนินภารกิจตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งของสภาประชาสังคมไทย รวมทั้งจัดทำรายงานประจำปี และงานอื่น ๆ ที่คณะกรรมการมอบหมาย
ข้อ ๑๑ นายทะเบียนสมาชิก ให้สำนักงานสภามีฐานะเป็นนายทะเบียนสมาชิกสภาประชาสังคมไทย มีหน้าที่รวบรวมข้อมูลองค์กรภาคประชาสังคมทุกประเภท จัดทำและพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อส่งเสริมสนับสนุนความเข้มแข็งขององค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทย
หมวด ๓ สมาชิกและผู้แทนสมาชิก
ข้อ ๑๒ สมาชิก สมาชิกสภาประชาสังคมไทย มี ๒ ประเภท คือ
(๑) สมาชิกก่อตั้ง ได้แก่ องค์กรเครือข่ายที่ได้ร่วมลงนามในท้ายประกาศเจตนารมณ์การจัดตั้ง สภาประชาสังคมไทย เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ ห้องประชุมใหญ่โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรีและยังคงดำเนินกิจการองค์กรและเครือข่ายนั้นอยู่อย่างต่อเนื่อง
(๒) สมาชิกสามัญ ได้แก่ กลุ่ม องค์กร เครือข่ายของประชาชนหรือคณะบุคคล ที่สมัครเป็นสมาชิก และผ่านการรับรองของคณะกรรมการตามข้อบังคับสภาประชาสังคมไทย
ข้อ ๑๓ คุณสมบัติสมาชิก สมาชิกต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
- เป็นองค์กรภาคประชาสังคม หรือองค์กรในเชิงเครือข่าย หรือองค์กรสาธารณประโยชน์ หรือ
- เป็นนิติบุคคล หรือได้รับการรับรองโดยหน่วยงานราชการ และ
- มีความรู้ ความเข้าใจ และยอมรับในวัตถุประสงค์และแนวทางดำเนินงานของสภา
ข้อ ๑๔ การเข้าเป็นสมาชิก องค์กรที่มีคุณสมบัติตามข้อ ๑๓ สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกสามัญได้โดยการแสดงความจำนงด้วยการกรอกใบสมัครสมาชิกที่กำหนด และยื่นใบสมัครผ่านกรรมการ หรือสมัครโดยตรงที่สำนักงานสภา
ให้สำนักงานสภาทำหน้าที่กลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้นขององค์กรผู้สมัคร และรวบรวมข้อมูลผู้สมัครเพื่อเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาให้การรับรองในการประชุมนัดถัดไป แล้วรีบแจ้งผลการพิจารณาให้องค์กรผู้สมัครรับทราบและจัดการชำระค่าธรรมเนียมสมาชิก ภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา
องค์กรผู้สมัครมีสถานะเป็นสมาชิกสภาประชาสังคมไทยโดยสมบูรณ์ เมื่อสำนักงานสภาได้รับค่าธรรมเนียมสมาชิกจากองค์กรผู้สมัครเรียบร้อยแล้ว และให้สำนักงานสภาบันทึกข้อมูลสมาชิกดังกล่าวลงในทะเบียนสมาชิก และออกใบรับรองสมาชิกส่งให้สมาชิกโดยไม่ชักช้า
ข้อ ๑๕ ค่าธรรมเนียมสมาชิก สมาชิกต้องชำระค่าธรรมเนียมสมาชิก ในอัตรา ๒,๐๐๐ บาท ทุกๆ ๒ ปี โดยชำระภายใน ๓๐ วัน หลังจากได้รับแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ
ข้อ ๑๖ หน้าที่และสิทธิของสมาชิก
- หน้าที่ของสมาชิก มีดังนี้
- ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจที่กำหนดถึงพันธะสัญญาของสมาชิกที่มีต่อสภาประชาสังคมไทย ในทุก ๆ ๒ ปี
- สนับสนุนกิจกรรมของสภาประชาสังคมไทยและการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ
- ส่งเสริมจิตสำนึกสาธารณะและค่านิยมการเป็นอาสาสมัครภายในองค์กร
- กำกับดูแลกันระหว่างองค์กรและเครือข่ายในการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาสังคมและการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ
- ยึดถือค่านิยมหลักของสภาประชาสังคมไทย ในการทำงานและประพฤติปฏิบัติ
- สิทธิของสมาชิก มีดังนี้
- ส่งผู้แทนองค์กรเข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสภา
- เสนอผู้แทนองค์กรสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการ
- รับข้อมูล ข่าวสาร ความรู้เกี่ยวกับหลักการ วิธีการดำเนินงาน รวมทั้งบทเรียนในการแก้ปัญหา และความสำเร็จของภาคประชาสังคมในการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และประเทศชาติ
- รับการพัฒนาและการสนับสนุนเชิงกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาองค์กร
ข้อ ๑๗ การขาดจากสมาชิกภาพ สมาชิกย่อมขาดจากสมาชิกภาพ เพราะเหตุใด ๆ ดังต่อไปนี้
- เลิกกิจการ
- ลาออกจากสภา โดยแสดงความจำนงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการสภา และคณะกรรมการได้สอบสวนพิจารณาเห็นว่าเป็นการขอลาออกจากสภาที่ชอบด้วยข้อบังคับ และอนุญาตแล้ว
- ไม่ลงนามในบันทึกความเข้าใจตามข้อ ๑๖ (ก) (๑)
- ถูกให้ออกจากสภา เพราะขาดคุณสมบัติของสมาชิก
- ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ หรือมติของสภาประชาสังคมไทย และคณะกรรมการมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของคณะกรรมการทั้งหมด ให้พ้นจากสมาชิกภาพ
ข้อ ๑๘ ผู้แทนสมาชิก ให้ประธานคณะกรรมการของสมาชิกเป็นผู้แทนสมาชิก หรือคณะกรรมการของสมาชิกอาจมอบหมายให้กรรมการของสมาชิก หรือทำหนังสือตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เป็นสมาชิกขององค์กรนั้น เป็นครั้งคราวไป ให้เป็นผู้แทนสมาชิก ที่มีอำนาจกระทำการแทนสมาชิก ในการประชุมใหญ่สภาประชาสังคมไทย หรือกิจกรรมอื่น ๆ ของสภา
หมวด ๔ คณะกรรมการสภาประชาสังคมไทย
ข้อ ๑๙ คณะกรรมการ ให้คณะกรรมการจำนวนสิบเจ็ดถึงยี่สิบเจ็ดคนมาจากผู้แทนสมาชิกซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่
สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งกรรมการ ให้เป็นไปตามระเบียบสภาว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งกรรมการสภาประชาสังคมไทย
ให้กรรมการที่ได้รับเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง เลือกตั้งกันเองขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหนึ่งคน รองประธานกรรมการอย่างน้อยหนึ่งคน และเลขาธิการหนึ่งคน หรือตำแหน่งอื่น ๆ ตามความจำเป็น นอกนั้นเป็นกรรมการ และประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ณ สำนักงานสภา และช่องทางสื่อสาธารณะอื่น ๆ
กรณีมีความจำเป็น คณะกรรมการอาจแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการ และผู้ช่วยเหรัญญิก เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้
ให้มีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยทุก ๒ เดือน และกรรมการจะมอบหมายให้บุคคลอื่นเข้าประชุมแทนมิได้ ประธานอาจเรียกประชุมเมื่อมีเหตุผลสมควร หรือโดยคำร้องขอของกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดก็ได้
การประชุมของคณะกรรมการ ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงถือเป็นองค์ประชุม และให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมเป็นมติของการประชุม
การประชุมคณะกรรมการ อาจดำเนินการได้ทั้งในรูปแบบปกติและการประชุมแบบออนไลน์ หรือแบบผสมผสาน
ข้อ ๒๐ คุณสมบัติต้องห้ามของกรรมการ เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง ของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีภารกิจหน้าที่ประจำ หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือกรรมการบริหาร พนักงาน และลูกจ้างของพรรคการเมือง
ข้อ ๒๑ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
- บริหารกิจการของสภาตามวัตถุประสงค์
- จัดทำประกาศและออกระเบียบและข้อบังคับของสภา เพื่อการปฏิบัติภารกิจของสภา
- จัดให้มีสำนักงานที่ทำหน้าที่เลขานุการสภา
- จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญของสภาเป็นอย่างน้อยปีละครั้ง จำนวนผู้แทนสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมและรูปแบบการประชุมให้เป็นไปตามระเบียบฯ ว่าด้วยการประชุมใหญ่สภาฯ
- พิจารณารับรองการเป็นสมาชิก
- แต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรม
- แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อให้คำแนะนำปรึกษาหรือช่วยทำกิจการหรือพิจารณาเรื่องที่ได้รับมอบหมายตามวัตถุประสงค์ของสภา
- พิจารณาและวินิจฉัยปัญหาและข้อขัดแย้งหรือปัญหาใดที่มิได้ตราไว้ในธรรมนูญนี้หรือปัญหาการบังคับใช้ธรรมนูญนี้ คำวินิจฉัยดังกล่าวให้เป็นที่สุด
- จัดทำรายงานประจำปีของสภาประชาสังคมไทยเผยแพร่ต่อสมาชิกและสาธารณะ
ข้อ ๒๒ อำนาจหน้าที่ของกรรมการ
(ก) ประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
- เป็นประธานในที่ประชุมใหญ่และที่ประชุมคณะกรรมการ และควบคุมการประชุมดังกล่าวให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
- เป็นผู้กระทำการแทนสภาประชาสังคมไทยในการติดต่อกับบุคคลหรือหน่วยงานภายนอก แต่อาจมอบหมายเป็นหนังสือให้กรรมการอื่นกระทำการแทนตนเฉพาะในกิจการใดก็ได้
- ควบคุมดูแลการดำเนินงานทั่วไปของสภาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
- ลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ ในนามสภา ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ และระเบียบต่าง ๆ
- ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ภายใต้ ข้อบังคับ และระเบียบต่าง ๆ
(ข) รองประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
- ปฏิบัติงานในหน้าที่ของประธานทั้งปวงแทนประธาน เมื่อประธานไม่อยู่ หรือ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือ เมื่อตำแหน่งประธานว่างลง
- ปฏิบัติการตามที่ประธานมอบหมายให้
- ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ภายใต้ข้อบังคับ ระเบียบต่าง ๆ ของสภา
(ค) เลขาธิการ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
- เป็นเลขานุการของคณะกรรมการ
- เป็นเลขาธิการสำนักงานสภา ในฐานะผู้บริหารสูงสุดที่รับผิดชอบงานด้าน แผนงาน งบประมาณและการเงิน การบริหารบุคคล เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานของสภา
- จัดทำรายงานการประชุมใหญ่ และรายงานการประชุมคณะกรรมการ ทุกครั้ง
- บริหารการเงิน ดูแลรักษาเอกสารและรายงานการประชุมของสภาให้เรียบร้อยอยู่เสมอ
- แจ้งนัดประชุม ไปยังบรรดาสมาชิก หรือกรรมการ แล้วแต่กรณี
- สื่อสาร เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์งานของสภาไปยังหน่วยงานต่าง ๆ และสาธารณะ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงความสำคัญและความก้าวหน้าของงานภาคประชาสังคม ต่อการพัฒนาสังคมไทย
- ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ภายใต้ข้อบังคับ ระเบียบของสภา
ข้อ ๒๓ เลขาธิการสำนักงานสภาชั่วคราว ให้นายกสมาคมองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข้มแข็ง (สxส) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสำนักงานสภา แทนเลขานุการของคณะกรรมการชั่วคราว ที่เกิดขึ้นตามข้อ ๒๑ แห่งธรรมนูญสภา ไปจนกว่าจะมีคณะกรรมการสภา ที่มาจากการเลือกตั้งตามข้อบังคับนี้
หมวด ๕ การประชุมใหญ่สภาประชาสังคมไทย
ข้อ ๒๔ การประชุมใหญ่สามัญ การประชุมใหญ่ ถือเป็นการประชุมสภาประชาสังคมไทย เพื่อให้ผู้แทนสมาชิกทั้งมวลร่วมพิจารณารายงานประจำปีของสำนักงานสภาประชาสังคมไทย กำหนดประเด็น เป้าหมายและแนวทางดำเนินงานทางสังคมเพื่อการเคลื่อนไหวร่วมกัน ดำเนินการเลือกตั้งคณะกรรมการ แก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญ และการมอบหมายการทั้งปวงให้แก่คณะกรรมการ โดยให้คณะกรรมการเรียกประชุมใหญ่ปีละ ๑ ครั้ง ภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสภา (๓๑ ธันวาคม)
ข้อ ๒๕ การประชุมใหญ่วิสามัญ คณะกรรมการจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญก็ได้ เมื่อมีเหตุอันสมควร หรือมีสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ร่วมกันลงลายมือชื่อ ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อพิจารณาเรื่องสำคัญเร่งด่วน และให้คณะกรรมการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่รับคำร้องขอ
ข้อ ๒๖ การประชุมใหญ่โดยผู้แทนสมาชิก ให้การประชุมใหญ่ประกอบด้วยผู้แทนสมาชิก สมาชิกละหนึ่งคน เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุม ให้ประธานคณะกรรมการสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม และเลขาธิการสภา ทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุม
ข้อ ๒๗ องค์ประชุมและมติการประชุมใหญ่ การประชุมใหญ่ของสภา ต้องมีผู้แทนสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดตามทะเบียนสมาชิก หรือจำนวนไม่น้อยกว่า ๘๐ คน จึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการลงมติเรื่องต่าง ๆ ของที่ประชุมใหญ่ ให้ใช้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของผู้เข้าร่วมประชุม หากยกเว้นการแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญ ให้ใช้มติด้วยคะแนนเสียงสามในสี่ของผู้เข้าร่วมประชุม
ข้อ ๒๘ การแจ้งกำหนดการประชุมใหญ่ เมื่อมีการประชุมใหญ่ทุกคราว ให้สำนักงานสภามีหนังสือแจ้งวันเวลา สถานที่ และเรื่องที่จะประชุมให้บรรดาสมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน ทั้งนี้ให้ประธานกรรมการ หรือเลขาธิการ เป็นผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือนั้น
ประกาศ ณ วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๓
(ดร.ชำนาญ วัฒนศิริ)
ประธานคณะกรรมการสภาประชาสังคมไทย