รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 32) “หายจนด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ที่สระแก้ว”

บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติแบบบูรณาการ สร้างการมีส่วนร่วม คืนความสมบูรณ์สู่ชุมชน

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังใหม่ อำเภอวังสมบูรณ์ จังหวัดสระแก้ว คือหนึ่งในกองทุนต้นแบบในด้านการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์พลังงาน จัดการขยะ ฟื้นฟูภัยพิบัติ มีการบริหารจัดการกองทุนที่โดดเด่นและน่าสนใจ เป็นกองทุนที่ยึดหลักการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการโดยชุมชนมีส่วนร่วม จนสามารถคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พื้นที่ และสามารถแก้ยากจน สร้างความมั่นคงในชีวิตอย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชนได้สำเร็จ

นางศศิธร ธำรงรัตนศิลป์ ผู้นำชุมชนสตรี ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังใหม่ กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยร้อยละ 80 ปลูกพืชไร่ล้มลุก เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ลำไย เป็นต้น พื้นที่ส่วนใหญ่ในการทำเกษตรเกิดจากการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า นอกจากนี้ชาวบ้านยังคงใช้สารเคมีในการเพาะปลูกเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้พื้นดินเสื่อมโทรม ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ขาดแหล่งน้ำในการทำเกษตรจนเป็นปัญหาภัยแล้ง ด้วยเหตุนี้จึงเกิดความคิดในการตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังใหม่ขึ้นเพื่อมุ่งหวังที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวให้หมดไป

จัดการปัญหาน้ำ สร้างพลังงานชุมชน ปัญหาภัยแล้งเป็นเรื่องสำคัญที่ชาวบ้านตำบลวังใหม่หันมาให้ความสนใจและร่วมกันแก้ไข เนื่องจากในอดีตเกิดภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรกรรมเป็นอย่างรุนแรง ชุมชนจึงมีแนวทางการจัดการฟื้นฟูภัยแล้งด้วยการส่งเสริมรณรงค์ให้ปลูกป่าไม้ตามหัวไร่ปลายนาและที่สาธารณะของชุมชน ลดปัญหาฝนไม่ตกตามฤดูกาล ฟื้นฟูป่าริมคลองพระสะทึง ชะลอการพังทลายของริมฝั่งคลอง ชาวบ้านในชุมชนปลูกหญ้าแฝกลดการพังทลายของดินในหน้าน้ำหลาก สนับสนุนกล้าไม้ปลูกบริเวณริมคลองฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ผลที่เกิดขึ้น แก้ปัญหาหน้าดินและตลิ่งพังเมื่อเกิดน้ำหลากได้สำเร็จ

กลุ่มแกนนำยังได้สนับสนุนให้ชุมชนตำบลวังใหม่ อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชนเขาวังน้ำฝนพื้นที่จำนวน 520 ไร่ โดยให้พันธุ์ไม้และปุ๋ยเพื่อปลูกต้นไม้ทดแทนประมาณ 12,000 ต้น และร่วมมือกับวัดและชุมชนดูแลรดน้ำ เฝ้าระวังจนป่าไม้ขึ้นได้เองตามธรรมชาติ

“เราแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตรด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซล่าเซลล์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม อบรมเชิงปฏิบัติการและสนับสนุนเงินทุนให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุน ได้ทำแผงระบบพลังงานจากโซล่าเซลล์เพื่อใช้ในการเพาะปลูกทำเกษตร มีระบบสูบน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์นำมาใช้ในการเกษตร ตลอดจนอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าและเชื้อเพลิงได้อีกด้วย”

ปลูกป่าเศรษฐกิจ สร้างรายได้ ฟื้นวงจรชีวิตที่สมดุล  ปัญหาสำคัญของชุมชนอีกเรื่องคือการเกษตรกรรรมที่ยังใช้สารเคมีและปลูกพืชเชิงเดี่ยวกัน ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นหนี้สิน ที่ดินถูกยึด ต้องเช่าที่ดินของตัวเองทำกิน  เมื่อตั้งกองทุนฯในปี 2552 จึงพยายามให้ความรู้แก่คนในชุมชนได้เรียนรู้ถึงผลเสียจากการใช้สารเคมีเพาะปลูกและสอนให้รู้จักการทำเกษตรแบบอินทรีย์แทนการใช้สารเคมี

กลุ่มแกนนำร่วมกันกำหนดแนวทางดูแลและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการและมีส่วนร่วม ส่งเสริมให้ความรู้อบรมการทำปุ๋ยชีวภาพ สารไล่แมลงและการปลูกพืชผักแบบเกษตรอินทรีย์แก่เกษตรกร 200 ครอบครัว จาก 14 หมู่บ้าน ช่วยให้ต้นทุนทำเกษตรลดลงและคนในชุมชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ทั้งยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรทำนาข้าวอินทรีย์ ปลูกพืชผักอินทรีย์ไว้กินเองและขาย แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มีสมาชิกและชาวบ้านกว่า 180 ครอบครัวเข้าร่วมโครงการบนเนื้อที่ชุมชน 300 ไร่  ช่วยให้สมาชิกเกษตรกรมีหนี้สินลดลง สุขภาพและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น มีรายได้จากการขายข้าวอินทรีย์ กองทุนฯจัดทำเป็นตลาดชุมชนตำบลวังใหม่ขึ้นเพื่อเป็นแหล่งซื้อขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วย

สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาและลดพื้นที่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวของชุมชนอย่างยั่งยืนคือรณรงค์ให้ชุมชนหันมาปลูกป่าเศรษฐกิจชุมชนทดแทนพืชไร่อย่างมันสำปะหลังที่มีราคาตกต่ำอย่างมากและเป็นเหตุให้ที่ดินเสื่อมโทรม โดยเน้นส่งเสริมปลูกไผ่กิมซุง พืชเศรษฐกิจที่นอกจากช่วยฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาสมบูรณ์ ยังให้ความร่มเย็นมากกว่าป่าทั่วไป 35 เท่า สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนอย่างมั่นคง

“แต่เดิมตำบลวังใหม่มีพื้นที่ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง กว่า 2 หมื่นไร่  เราได้ไปดูงานวิจัยและทดลองปลูกไผ่กิมซุง บนเนื้อที่ 25 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ป่าไม้ชุมชน มีเกษตรกรและผู้สนใจเข้าเรียนรู้มากกว่า 1,000 คนต่อปี เกษตรกรหันมาทำเกษตรแบบผสมผสานแบบ “ป่ากินและขาย” อย่างเช่นไผ่กิมซุง

“ไผ่กิมซุงเป็นพืชเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง นับตั้งแต่ขายหน่อเพื่อทำอาหาร ทำเฟอร์นิเจอร์จากต้นไผ่ แปรรูปเป็นชา หรือสร้างมูลค่าเพิ่มอื่นๆ เช่น หน่อไม้ดองอัดกระป๋อง ตากแห้ง ซึ่งปัจจุบันนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน กัมพูชาต้องการเป็นอย่างมาก”      

นอกจากการปลูกป่าชุมชนแก้ปัญหาภัยแล้ง ฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ให้กลับคืนมาแล้ว นางศศิธร กองทุนฯยังให้ความสำคัญกับการจัดการขยะในชุมชน ด้วยการคัดแยกขยะแบบเปียก แบบแห้ง และแบบย่อยสลายได้ เช่น การนำพืชผักผลไม้ต่าง ๆ กลับมาทำปุ๋ยพืชสดหรือปุ๋ยชีวภาพ การคัดแยกขยะแห้ง หรือ ขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก กระดาษ โลหะ แก้ว ฯลฯ แล้วนำไปขาย หรือนำเอามาแปรรูป เช่น ตะกร้าสานจากถุงกาแฟ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ต่างๆสามารนำไปขายสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในชุมชนได้ ส่วนขยะที่มีอันตรายจะใส่ถุงสีดำแยกต่างหาก และนำไปกำจัดตามวิธีที่ถูกต้อง  เพื่อไม่ให้เป็นมลพิษต่อชุมชน  ทั้งนี้ ในอนาคตกองทุนฯมีแผนจะจัดตั้ง “ธนาคารขยะ” ขึ้น เพื่อทำเป็นศูนย์เรียนรู้ ฝึกฝนให้เด็กและเยาวชนรู้ถึงคุณค่าของขยะ 

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในอนาคต ประธานกองทุนฯกล่าวว่ายังคงมุ่งเน้นให้ประชาชนได้เข้าถึงสวัสดิการชุมชน ร่วมสร้างสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน เป็นสังคมที่เข้มแข็งจากฐานราก พัฒนาพื้นที่การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คลองธรรมชาติที่ชุมชนมีส่วนร่วมดูแลรักษาและสนับสนุนครัวเรือนต้นแบบที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังใหม่ ถือเป็น “ชุมชนต้นแบบ” สำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น โดยคนในชุมชนมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง นำมาสู่การกินดีอยู่ดี มีสุขและสามารถนำมาเป็นแบบอย่างให้แก่องค์กรสวัสดิการชุมชนอื่น.

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 15 ตุลาคม 2563