ตั้งอยู่ บ้านโคกล่าม หมู่ที่ 3 และบ้านแสงอร่าม หมู่ที่ 11 ตำบลกุดหมากไฟ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี

เป็นพื้นที่ดำเนินการ “โครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน อ่างเก็บน้ำห้วยคล้ายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ดำเนินการโดยมูลนิธิปิดทองหลังพระฯร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานีและชาวบ้านในพื้นที่
เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน มีเป้าหมายส่งเสริมให้ชุมชนมีการพัฒนากลุ่มองค์กรพึ่งตนเองต่างๆ ขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่จำเป็น สอดคล้องกับชาวบ้านที่ต้องการร่วมกันในการแก้ปัญหา พัฒนาหมู่บ้านแบบเน้นการพึ่งพาตนเอง การสร้างงาน สร้างรายได้ในชุมชน ลดรายจ่าย
การพัฒนากลุ่ม กองทุนต่างๆในพื้นที่ ส่วนใหญ่เกิดมาจากปัญหาตามสถานการณ์ หรือเป็นประเด็นที่ชุมชนมีความต้องการจะแก้ไข จากการวิเคราะห์ศักยภาพกลุ่มด้านการบริหารจัดการ พบว่าจุดแข็ง คือ ชุมชนมีการประชุมนำเสนอติดตามการทำงาน และส่วนใหญ่มีการจัดทำบัญชีอย่างต่อเนื่อง เป็นทุนเดิมที่สนับสนุนการดำเนินงานแบบกลุ่ม
แต่จุดอ่อน คือ คณะกรรมการต้องรับผิดชอบภาระงานหลายอย่าง สมาชิกไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของกลุ่ม ไม่ค่อยมีเวลาเข้าร่วมกิจกรรมส่วนรวม ยังไม่มีการบริหารจัดการแบบเชื่อมโยงกันทั้ง 10 กลุ่ม
ส่วนโอกาส คือการสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานกลุ่มจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ และยังมีภาวะคุกคาม ทางด้านเศรษฐกิจที่ทำให้คนต้องทำงานเพื่อรายได้สูงขึ้น แกนนำชาวบ้านจึงได้สร้างเป้าหมายการพัฒนาด้านคนและองค์กรชุมชนขึ้นมาแก้ปัญหา
เป้าหมายการบริหารกลุ่มองค์กรในชุมชนอย่างยั่งยืนการช่วยเหลือพึ่งพากันระหว่างกลุ่มต่างๆ ในชุมชน โดยสร้างกองทุนรวมของชุมชน ให้เป็นศูนย์กลางการช่วยเหลือพึ่งพากันของทุกกลุ่ม ในที่สุดจัดทำโครงการ“กองทุนสามัคคีตุ้มโฮม” เพื่อช่วยเหลือพึ่งพากันและกันของกลุ่มกองทุนชุมชน มีการช่วยเหลือกลุ่มกองทุนชุมชนฯด้านเงินทุนโดยการกู้ยืมปลอดดอกเบี้ย รวมถึงพัฒนาศักยภาพ ติดตามประเมินผล และสร้างเครือข่าย
เป้าหมายดังกล่าวมีความสอดคล้องกับผลงานวิจัยท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชน เรื่องแนวทางการสร้างความเข้มแข็งคนและกลุ่ม-กองทุนในชุมชน เพราะในอดีต ผู้คนมีวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกัน มีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม สังคมมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คนมีจิตใจดีงามช่วยเหลือกัน แต่ปัจจุบันกลายเป็นสังคมที่สนใจแต่ตนเองมากขึ้นโดยให้ความสำคัญกับชุมชนหรือส่วนรวมน้อยลง ดูจากการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมชุมชน เช่น จำนวนคนเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆของชุมชนลดลงโดยเฉพาะเยาวชน
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวส่งผลต่อการขับเคลื่อนงานในชุมชนรวมถึงความเข็มแข็งของชุมชนด้วย จึงนำเป้าหมายและผลงานวิจัยดังกล่าวมาบูรณาการ
เมื่อนำผลการศึกษามาพัฒนาการดำเนินงาน การบริหารจัดการกลุ่มดีขึ้น มีการสร้างความเข้าใจบทบาทหน้าที่คณะกรรมการ ประชุมติดตามการดำเนินงาน และทำระบบบัญชีที่โปร่งใสตรวจสอบได้ พัฒนาศักยภาพผู้นำและคณะกรรมการ เกิดการมีส่วนร่วม การรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่หลากหลาย
นำไปสู่ความเข้มแข็งกลุ่ม-องค์กรชุมชน หนุนเสริมกันระหว่างกลุ่ม กลุ่มเข้มแข็งช่วยเหลือกลุ่มอ่อนแอ
นอกจากนี้ยังได้ขยายผลกิจกรรมให้กับกลุ่มเป้าหมายอื่นๆในชุมชน เช่น คนจน คนยากลำบาก รวมถึงจัดสวัสดิการในชุมชน การสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และการมีระบบพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือ สนับสนุนการดำเนินงาน เพราะชาวบ้านยังคงต้องการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก และเกิดการจัดตั้ง “กลุ่มกองทุนตุ้มโฮมสามัคคี” เพื่อผู้ยากลำบากและเด็ก เยาวชนในชุมชน
กองทุนตุ้มโฮมสามัคคี มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนทุนในการประกอบอาชีพแก่คนที่ยากลำบาก มีความขยัน และมีความรับผิดชอบ และสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่ยากลำบาก มีความขยัน และรับผิดชอบ และส่งเสริมการสร้างรายได้ระหว่างเรียนของนักเรียน
กระบวนการดำเนินงานของกองทุนตุ้มโฮม
- การสร้างการรับรู้ในชุมชน จัดทำตัวชี้วัด และค้นหากลุ่มเป้าหมาย โดยประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายในชุมชน หรือการบอกต่อ-เล่าสู่กันฟัง
- คณะกรรมการค้นหากลุ่มเป้าหมายตามตัวชี้วัด อย่างน้อย 1 คน โดยใช้แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือ พร้อมทั้งถ่ายรูปบ้านมาประกอบ เพื่อนำมาคัดเลือกร่วมกัน
- คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายและจัดทำแผนกิจกรรมส่งเสริมอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการทำการเกษตรแบบพอเพียง เช่น การปลูกผัก เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลา เลี้ยงจิ้งหรีด เป็นต้น
- กลุ่มเป้าหมายดำเนินกิจกรรมตามแผน โดยมีคณะกรรมการติดตามกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ประชุมสรุปผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน จนกระทั่งกลุ่มเป้าหมายคืนเงินแก่กองทุนฯ
แนวทางสนับสนุนทุนของกองทุนตุ้มโฮม
1. เป็นลักษณะการมอบทุนในการประกอบอาชีพและสร้างรายได้เสริมให้แก่คนยากจนหรือครอบครัวที่ยากลำบาก และทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนที่มีความขยัน มีคุณธรรมจริยธรรม
2. สร้างตัวชี้วัดผู้ยากลำบากในชุมชน โดยคณะกรรมการกองทุนฯและการมีส่วนร่วมจากชุมชน โรงเรียน รพ.สต. เทศบาลฯ มีการสรุปตัวชี้วัดสำหรับการคัดกรองกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
- ความยากจน (ที่อยู่อาศัย ,รายได้ ,ที่ทำกิน ,ขาดโอกาสต่างๆ )
- มีความขยัน (ทำอย่างต่อเนื่อง ,ตั้งใจทำจริง)
- ความซื่อสัตย์ คุณธรรม จริยธรรม
- เน้นกิจกรรมเสริม พออยู่พอกิน ประหยัด (เกษตรพอเพียง ไม่ใช้สารเคมี)
- ไม่กู้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น (ส่งลูกเรียน,ใช้หนี้ ฯ) เน้นมีอาชีพในชุมชน
3. การมอบทุนแก่คนยากจน หรือครอบครัวที่ยากลำบาก
- จำนวน 5 คน (ครอบครัว)
- ทุนละไม่เกิน 10,000 บาท รวม 50,000 บาท
- คืนทุนภายใน 1-3 ปี อย่างน้อยปีละ 3,000 หรือเมื่อมีผลผลิต (ปีแรก 3,000 ,ปีที่สอง 3,000 , ปีที่สาม 4,000)
- ดอกเบี้ยร้อยละ 2 บาทต่อเงินทั้งหมด (คิดครั้งเดียว,หักทันที)
- ในกรณีที่เป็นคนพิการ หรือมีสุขภาพไม่แข็งแรง ไม่คิดดอกเบี้ย โดยการคืนเงินคิดเช่นเดียวกัน
- กรณีเสียชีวิตระหว่างคืนเงินทุน ครอบครัวของผู้ยากลำบากไม่ต้องชำระเงินทุนคืนกองทุนฯ
- หากเกิดปัญหาการคืนเงินทุนให้คณะกรรมการพิจารณาร่วมกันตามความเหมาะสม
4. การมอบทุนแก่เด็กและเยาวชน
- จำนวน 10 คน (ครอบครัว)
- ทุนละไม่เกิน 5,000 บาท รวม 5,0000 บาท
- เป็นทุนลักษณะให้เปล่า
โดยมีเงื่อนไขให้พ่อแม่-ผู้ปกครอง ให้การสนับสนุนและร่วมทำกิจกรรมกับเด็ก
หมายเหตุจากผู้รายงาน
โปรดสังเกตุว่า นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของความเข้มแข็งที่ริเริ่มมาจากนอกชุมชน โดยองค์กรพัฒนาเอกชนหรือภาคประชาสังคมร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด เข้าไปจัดตั้งองค์กรชุมชนและผู้นำในชุมชนให้เป็นเครือข่าย จนกระทั่งเกิดเป็นกลไกเครื่องมือกลาง “กองทุนสามัคคีตุ้มโฮม”
ในลักษณะเช่นนี้ ปัจจัยความยั่งยืนจะขึ้นอยู่กับการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และฐานทุนทางปัญญา ระหว่างตัวนำการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก (external change agent) กับผู้นำการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน (local change agent) ว่าจะเป็นไปได้อย่างเหมาะสมและทันเหตุการณ์หรือไม่.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 21 ตุลาคม 2563