โมเดลบ้านดอนศาลเจ้า ชุมชนจัดการตนเองด้วยหลักพอเพียง พึ่งตนเอง และพึ่งพากันเอง

บ้านดอนศาลเจ้า หมู่ที่ 13 ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับการยกย่องว่าเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบเมื่อปี 2555
เกิดจากการทำงานที่ประสานกันของผู้นำชุมชน มีนายธีรโชติ รุ่งรัตน์วัฒนเสรี ผู้ใหญ่บ้านและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้กระตุ้นให้คนในชุมชนน้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน
โดยหมู่บ้านเน้นการพัฒนาที่ คน นอกจากนี้มีการจัดทำบัญชีครัวเรือนและการสำรวจหมู่บ้าน รวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์ หาแนวทางในการแก้ไขโดยผ่านการประชุมสภากาแฟตามระบอบประชาธิปไตยชุมชนเพื่อหามติที่ประชุม กำหนดแผนพัฒนาชุมชนบ้านดอนศาลเจ้าเพื่อแก้ไขปัญหา
มีการก้าวย่างดำเนินการ 3 ขั้นตอน ได้แก่
1. ก่อเกิดจิตสำนึกในการพึ่งพาตนเอง ให้สมาชิกรู้จักการประเมินเศรษฐกิจในครัวเรือนของตนเอง ผ่านการทำบัญชีครัวเรือนและการทำเวทีประชาคม ทำแผนพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วมและตรงกับปัญหา ความต้องการ
2. ขับเคลื่อนการรวมกลุ่มพึ่งพาซึ่งกันและกัน มีการแบ่งงานชุมชนออกเป็นกระทรวงต่างๆ โดยสมมติเป็นคณะรัฐมนโท หรือ“รัฐบาลชุมชน” ให้เป็นผู้ควบคุมรับผิดชอบแผนชุมชนและตอบสนองการแก้ไขปัญหาชุมชนให้ตรงจุด นำข้อมูลจากกลุ่มของตนเองที่รับผิดชอบมานำเสนอในสภาชุมชนให้ร่วมกันพิจารณาและแจ้งให้สมาชิกกลุ่มรับทราบ รัฐบาลชุมชน มี ๖ กระทรวง
- กระทรวงมหาดไทย บำบัดทุกข์ บำรุงสุข นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อชุมชน ทั้งดูแลโครงสร้างพื้นฐานและการจัดสวัสดิการต่าง ๆ คือ กลุ่มออมทรัพย์ และกองทุนฌาปนกิจชุมชน
- กระทรวงกลาโหม ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ห่างไกลจากยาเสพติด และเสริมความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ผลงานเด่นคือ ดนตรีหรรษานำพาเยาวชนหลุดพ้นยาเสพติด
- กระทรวงเศรษฐกิจ เรื่องเศรษฐกิจชุมชน การเกษตรของชุมชน แก้ปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ (เพิ่มมูลค่าผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์) ผลงาน ได้แก่ ศึกษาเทคนิคการปลูกอ้อยให้ได้คุณภาพสูง จัดสรรที่ดินการเกษตร ส่งเสริมกิจกรรมโรงปุ๋ยชีวภาพ
- กระทรวงสาธารณสุข เป้าหมายให้ชุมชนมีสุขภาพแข็งแรง กิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกาย ทำการเกษตรแบบปลอดสารพิษ ป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลาย
- กระทรวงศึกษา ดูแลการศึกษาชุมชน สร้างโอกาสการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของสมาชิก สร้างเสริมองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ปลูกผัก เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่ และการรณรงค์ส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามเศรษฐกิจพอเพียง
- กระทรวงสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการแหล่งน้ำ ดูแลสิ่งแวดล้อมและใช้พลังงานทดแทน ผลิตพลังงานจากสิ่งที่เหลือใช้ มีกลุ่มทำถ่านและแก๊สชีวภาพจากการเกษตรและการเลี้ยงหมู เลี้ยงโค หมักจากขยะครัวเรือน กลุ่มธนาคารต้นไม้เปลี่ยนต้นไม้เป็นเงินออม
3. พัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชน กิจกรรมทุกกิจกรรมที่ดำเนินมาเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสู่วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ กลุ่มผลิตน้ำพริกบ้านดอนศาลเจ้า เริ่มแรกผลิตเพื่อจำหน่ายในชุมชนเป็นหลัก ต่อมาขยายตลาดออกไปภายนอกชุมชนมากขึ้น กลุ่มผักอินทรีย์เดิมปลูกผักขายในรูปวิสาหกิจชุมชน ปลูกผักกินเองที่เหลือรวมจำหน่ายในและนอกชุมชน กลุ่มเลี้ยงสัตว์ (เลี้ยงไก่ กบ ปลา หมู โคเนื้อ)
ความโดดเด่นของชุมชนบ้านดอนศาลเจ้า มี ๔ ประการ คือ ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิต ประกอบกิจกรรมดำรงชีพ (กลุ่มทำน้ำพริก ๑ ชั่วโมงหรรษาพารวย ครอบครัวมั่นคงชั่วโมงหรรษา 1 ครอบครัว ครอบครัวเกษตรอินทรีย์ชีวภาพ ผลิตข้าวอินทรีย์ ปลาอินทรีย์ หมูอินทรีย์) การจำลองการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนการทำงานภายในหมู่บ้าน โครงการดนตรีหรรษานำพาเยาวชนหลุดพ้นยาเสพติด และกลุ่มออมทรัพย์เพื่อพึ่งพาตนเอง ซึ่งมีทุนกว่า 1 ล้านบาท
ปัจจัยสู่ความสำเร็จที่ดอนศาลเจ้า มาจาก ๔ ปัจจัย ได้แก่ คน คือกลไกสำคัญในการพัฒนาทุกด้าน สภากาแฟ ใช้เป็นเวทีกลางการประชุมในรูปแบบสบายๆของชาวบ้าน ฝึกพัฒนาศักยภาพคนให้กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ ส่งเสริมความคิดของทุกคน ให้พยายามทำด้วยตัวเองก่อน ความเสียสละของแกนนำ ทำหน้าที่ต่างๆด้วยใจที่มุ่งมั่นและเสียสละ กระบวนการทำงาน ใช้รูปแบบจำลองระบบรัฐบาล ๖ กระทรวง ให้ทุกคนมีหน้าที่ชัดเจน
ผลสำเร็จจากน้ำพักน้ำแรง ความชื่นใจที่ได้ดูแลผู้คน ดูแลซึ่งกันและกัน จากความพออยู่พอกิน ถูกยกระดับขึ้นเป็น “ความมั่งคั่ง” ที่ไม่ได้แปลความว่า “ร่ำรวย” แต่เป็นรุ่มรวยในความสุขและความราบรื่นในการดำเนินชีวิต ปรากฏผลให้เห็นรูปธรรมอย่างชัดเจนใน 3 ด้าน ดังนี้
1. ด้านเศรษฐกิจ มีแหล่งทุนชุมชน สร้างพื้นที่ทำกินจากเงินกองทุนสหกรณ์ ให้ครอบครัวที่ยากจนได้มีผืนดินทำกิน ด้วย “โครงการยืมอนาคต-สร้างอนาคต” จัดสรรที่ดินทำกิน 2 งาน ให้กับครอบครัวเกษตรกร 9 ราย บนพื้นที่ 6 ไร่ เป็นผู้มีความมุ่งมั่นทำเกษตรอินทรีย์ มีความซื่อสัตย์ อดทน ไม่ข้องเกี่ยวอบายมุขทุกชนิด ผลผลิตนำเข้ารวมกลุ่มคัดแต่งผักส่งเข้ามูลนิธิเพื่อนพึ่งภา ส่งออกให้กับกลุ่มบริษัทส่งออก 2 แห่ง และปัจจุบัน ส่งผักอินทรีย์ให้กับโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช และโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราของค์ 17 อ.สองพี่น้อง
ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจฯ 70 ครัวเรือน บางรายสามารถพลิกฟื้นฐานะจากการรับจ้างรายวัน วันละ 200-300 บาท มาปลูกผักอินทรีย์ มีรายได้เฉลี่ยสัปดาห์ละ 5,000 บาท มีความสุขเพิ่มขึ้น ได้อยู่กับสมาชิกในครอบครัว มีสุขภาพดี มีอาหารที่ปราศจากสารเคมีตกค้างและลดรายจ่ายในการซื้ออาหาร
2. ด้านสังคม เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร สมาชิกในชุมชนมีความสนใจในการพัฒนาอาชีพ มีกิจกรรมเพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน จังหวัดสุพรรณบุรีสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ชุมชนรับรองตนเอง หรือ PGS (Participatory Guarantee System) กรมส่งเสริมการเกษตรรับรองมาตรฐานผลผลิตเกษตรอินทรีย์ Organic ถึง 50 ชนิด ขยายความรู้ต่อยอดสู่โรงเรียนบ้านหัวกลับ นักเรียนทำแปลงผัก เพาะเลี้ยงไส้เดือนดิน ฟาร์มเห็ด นำไปทำอาหารกลางวันและยังเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานอีก 1 แห่ง
3. ด้านสิ่งแวดล้อม มีระบบชลประทานที่ดี ทำให้มีศักยภาพในด้านการผลิตสินค้า ด้านการเกษตรค่อนข้างสูง มีผลงานสามารถเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์จังหวัดสุพรรณบุรีจนได้รับการสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ สนับสนุนพาราโดมแก่สมาชิกกลุ่ม 35 หลัง เพื่อพัฒนาการผลิตให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงผลกระทบกับฤดูกาลเพาะปลูก.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 24 ตุลาคม 2563