[e-book] ประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของสภาประชาสังคมไทย

“ได้เวลา…ประชาสังคมไทย”

ในสมัยโบราณ ประชาชนคนไทยมิได้เป็นอิสระชนเช่นทุกวันนี้ เพราะโดยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นชนชั้นไพร่และทาส ทุกคนต่างมีมูลนายเป็นต้นสังกัด มิเช่นนั้นจะกลายเป็นคนนอกกฎหมาย 

ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยะมหาราช (รัชกาลที่ ๕) ทรงออกพระราชบัญญัติลดทาส พ.ศ. ๒๔๑๑ และตามมาด้วยพระราชบัญญัติเลิกทาส พ.ศ. ๒๔๔๘ รวมทั้งออกพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) อันเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการยกเลิกขนบไพร่ ประชาชนคนไทยจึงได้หลุดพ้นจากสภาพเดิม มาเป็นราษฎรที่มีความเป็นไท มีอิสรภาพ อย่างน้อยก็ในทางกายภาพและสถานะทางกฎหมาย ส่วนในด้านวิถีการดำรงชีวิต พฤติกรรมและจิตสำนึกนั้น ยังต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และปรับตัวต่อมาอีกเป็นเวลาที่ยาวนาน หลายช่วงอายุคน

หากจะนับตั้งแต่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ว่าเป็นจุดเริ่มของภาคพลเมืองในประเทศไทย ภาคประชาสังคมในยุคก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้แก่กลุ่มปัญญาชนและนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ เป็นผู้ที่มีความรู้และสนใจเหตุการณ์บ้านเมืองมากกว่าคนทั่วไป การเคลื่อนไหวของภาคประชา-สังคมในยุคนั้นจึงเป็นการเคลื่อนไหวในทางการเมืองในระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนเท่านั้น  และเมื่อมีการยึดอำนาจกันขึ้นก็ถูกปราบปรามอย่างหนัก

ภาคประชาสังคมของไทยมีการฟื้นตัวอีกหลายครั้ง เป็นช่วง ๆ ตามสถานการณ์บ้านเมือง อาทิ การฟื้นตัวโดยพลังของนักศึกษาในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ การฟื้นตัวโดยพลังชนชั้นกลางในยุค ม็อบมือถือ” ปี ๒๕๓๕  การฟื้นพลังโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปี ๒๕๔๙  และการฟื้นพลังจากการชุมนุมของ กปปส. ในปี ๒๕๕๗  เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ทศวรรษ ๒๕๒๐ เป็นต้นมา ยังมีภาคประชาสังคมอีกสายหนึ่งที่หันหลังให้กับการเมืองระบบตัวแทน มุ่งหน้าสู่ชนบทหมู่บ้าน  ดังคำที่ว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” สร้างชุมชนเข้มแข็งขึ้นมาจากฐานล่าง  จนกระทั่งบทบาทของภาคประชาสังคมสายนี้ได้รับการยอมรับในระยะต่อมา ว่าเป็นรูปธรรมสำคัญส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาระบบประชาธิปไตยทางตรงและระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

จวบจนวันนี้ ขบวนชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมยังคงมีความเติบโตและแข็งแรงมากขึ้นตามลำดับ อีกทั้งยังสามารถแสดงบทบาทร่วมเป็นพันธมิตรทำงานพัฒนา เคียงคู่ไปกับภาครัฐและภาคธุรกิจในบางระดับ 

สภาประชาสังคมไทย เป็นรูปแบบของการพัฒนาองค์กรภาคประชาชน ที่มีการก่อตัวหรือการจัดตั้งตนเองขึ้นมาจัดการปัญหาต่าง ๆ ด้วยการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง มีจุดเริ่มมาจากการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่ทำให้กลุ่มชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่าง ๆ เกิดสำนึกสาธารณะครั้งใหญ่โดยพร้อมกัน มีสำนึกที่รักบ้านเกิดเมืองนอน บ้านเมืองเป็นเรื่องของเรา “สังคมดีไม่มีขาย อยากได้ต้องร่วมกันสร้าง” พากันลุกขึ้นมาทำเรื่องเพื่อส่วนรวม 

ประจวบกับเวลานั้น มีการประกาศใช้แผนพัฒนาประเทศ ฉบับที่ ๘ ที่หันมาให้ความสำคัญด้านสังคม และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ (ฉบับประชาชน) ในปีเดียวกัน เน้นระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม จึงเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมในประเทศไทยเริ่มมีการเคลื่อนตัวอย่างเป็นรูปขบวน.

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

     สมาชิกวุฒิสภา