ร่วมสร้างการเมืองวิถีใหม่ (2) “ปกป้องลูกหลานจากภัยการเมือง”

ถึง พี่น้องเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคม

ในขณะที่พ่อแม่และหัวหน้าครอบครัวกำลังเป็นทุกข์อยู่กับเรื่องเศรษฐกิจการทำมาหากินและรายได้ที่จะมาเจือจานในยุคโควิด-19 ลูกหลานของพวกเราส่วนหนึ่งกลับกำลังเกรี้ยวกราดคุ้มคลั่งไปกับประเด็นทางการเมืองที่นักการเมืองเขาปั้นแต่งขึ้นมาเพื่อโค่นล้มและชิงอำนาจระหว่างกัน จนพลัดหลงเข้าไปเป็นเครื่องมือโดยไม่รู้ตัว

“วัยรุ่น” เป็นช่วงชีวิตที่ร่างกายและจิตใจกำลังมีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว อยากรู้อยากเห็นและอยากลอง ถ้าดูแลกันไม่ดีก็อาจเกิดปัญหาการติดยา ติดเซกซ์ ท้องก่อนวัย เด็กแว้นท์ ความรุนแรง เสียอนาคตกันไปมากต่อมาก

ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล เด็กๆสามารถเข้าถึงและเสพสื่อโซเชียลได้อย่างอิสระเสรีตามวิถีของสังคมประชาธิปไตย

ยังไม่มีหน่วยงานและกฎหมายใดที่จะสามารถควบคุมดูแลแทนพ่อแม่ผู้ปกครองได้

การเสพสื่อเฟคนิวส์ (ข่าวปลอม) และเฮทสปีช (ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังแตกแยก) ที่มีเป้าหมายทางการเมือง อย่างซ้ำๆ วันละหลายชั่วโมงโดยขาดความรู้เท่าทัน นำมาซึ่งปัญหาการเสพติด หลงเชื่อและมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย สุ่มเสี่ยง ไม่ฟังคำเตือนของใคร

อาการเสพติดสื่อการเมืองอันตรายก็คล้ายกับการเสพติดย้าบ้า มีตั้งแต่ขั้น “เข้าถึง”, ขั้น “ลองเสพ”, ขั้น “เสพติด” และขั้น “คุ้มคลั่ง” อาละวาด ทำร้ายผู้คน

เวลานี้เด็กๆของเราสามารถเข้าถึงสื่ออันตรายได้ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยโทรศัพท์มือถือส่วนตัว มีกลุ่มคนที่เสพสื่อการเมืองอันตรายเป็นหลักล้าน  กลุ่มที่ “เสพติด” คงมีเป็นหลักแสน ส่วนกลุ่มที่ถึงขั้น “คุ้มคลั่ง” และออกมา “อาละวาด” ทางการเมืองให้เห็นในช่วงที่ผ่านมา ก็มีเป็นหลักหมื่น.

เยาวชนที่ออกมาชุมนุมด้วยความคุ้มคลั่งและด่าทอสถาบันหลักของชาติอย่างหยาบคาย มีโอกาสอย่างยิ่งที่จะโดนอาญาแผ่นดิน หรือแม้แต่ข้อหาร่วมก่อการกบฏล้มล้างการปกครองไปกับเขาด้วย จึงต้องช่วยกันดูแลกันเป็นรายคนรายครอบครัว ก่อนที่จะสายเกินไป

โดยทั่วไปแล้วอาการคุ้มคลั่งเป็น “การเจ็บป่วย” ในขั้นรุนแรงที่มีภาวะเสี่ยงอย่างยิ่ง อาจทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่น ทำร้ายสังคม หรือพาตัวเองไปสู่อันตรายร้ายแรง ยิ่งถ้าปล่อยให้ไปร่วมชุมนุม เป็น “การคุ้มคลั่งรวมหมู่” ก็ยิ่งเสี่ยงมากและช่วยเหลือแก้ไขได้ยากขึ้น

วิธีปกป้องลูกหลานที่เสพติดสื่อการเมืองอันตรายให้พ้นจากความรุนแรง ที่ดีที่สุดคือการป้องกัน

หมั่นสังเกต ถ้ามีอาการซึมเศร้า เก็บตัวเงียบและอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง มักเป็นสัญญาณที่นำมาก่อน

ควรสำรวจตรวจตรา ถ้าพบมีภาวะเสี่ยงในหมู่เด็กของเรา ต้องถือเป็นหน้าที่ของครอบครัวและชุมชนที่ต้องช่วยตักเตือน ให้สติ ทัดทาน ห้ามปราม มิให้ออกไปร่วมชุมนุมหรืออาละวาดตามท้องถนน

ความตื่นตัวทางการเมืองของเยาวชนเป็นสิ่งที่ดีงาม ขอให้ช่วยกันประคับประคองพวกเขาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต เมื่ออายุมากขึ้น มีประสบการณ์จากการทำมาหากินในโลกของความเป็นจริง และมีพัฒนาการเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เขาจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป

นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป, 15 พฤศจิกายน 2563.